การใช้ยาต้านซึมเศร้าและพฤติกรรมฆ่าตัวตาย

การใช้ยาต้านซึมเศร้าและพฤติกรรมฆ่าตัวตาย

BMJ 2014;348:g3596.

บทความเรื่อง Changes in Antidepressant Use by Young People and Suicidal Behavior after FDA Warnings and Media Coverage: Quasi-Experimental Study รายงานผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประกาศเตือนโดยสำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA) เมื่อปี ค.ศ. 2003 ถึงความเสี่ยงพฤติกรรมการฆ่าตัวตายที่อาจสูงขึ้นจากการใช้ยาต้านซึมเศร้าในหมู่วัยรุ่น และการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้ยาต้านซึมเศร้า พฤติกรรมการฆ่าตัวตาย และการฆ่าตัวตายสำเร็จในคนหนุ่มสาว

นักวิจัยศึกษาแบบ quasi-experimental study ประเมินการเปลี่ยนแปลงของผลลัพธ์หลังออกประกาศเตือนโดยควบคุมปัจจัยด้านแนวโน้มเดิม ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษานำมาจากข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษา (ค.ศ. 2000-2010) จากฐานข้อมูลใน US Mental Health Research Network กลุ่มประชากรที่ศึกษาประกอบด้วยวัยรุ่น (ประมาณ 1.1 ล้านคน) ผู้ใหญ่ตอนต้น (ประมาณ 1.4 ล้านคน) และผู้ใหญ่ (ประมาณ 5 ล้านคน) มาตรวัดผลลัพธ์ ได้แก่ อัตราการจ่ายยาต้านซึมเศร้า พิษจากยารักษาโรคจิตและระบบประสาท (การพยายามฆ่าตัวตาย) และการฆ่าตัวตายสำเร็จ

แนวโน้มการใช้ยาต้านซึมเศร้าและพิษจากยาเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดหลังการออกประกาศเตือน โดยในปีที่สองหลังออกประกาศพบว่า relative changes ในการใช้ยาต้านซึมเศร้าเท่ากับ -31.0% (95% confidence interval -33.0% ถึง -29.0%) ในวัยรุ่น, -24.3% (-25.4% ถึง -23.2%) ในผู้ใหญ่ตอนต้น และ -14.5% (-16.0% ถึง -12.9%) ในผู้ใหญ่ ขณะที่พบ relative increases ด้านพิษจากยารักษาโรคจิตและระบบประสาทในวัยรุ่น (21.7%, 95% confidence interval 4.9%-38.5%) และผู้ใหญ่ตอนต้น (33.7%, 26.9%-40.4%) แต่ไม่รวมถึงผู้ใหญ่ (5.2%, -6.5% ถึง 16.9%) โดยมี absolute increases ของพิษจากยาเท่ากับ 2 และ 4 รายต่อ 100,000 คนในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น (ประมาณ 77 รายจากประชากรในกลุ่มหนุ่มสาวราว 2.5 ล้านคน) ขณะที่การฆ่าตัวตายสำเร็จไม่เปลี่ยนแปลงในทุกกลุ่มอายุ

ประกาศเตือนความปลอดภัยเกี่ยวกับยาต้านซึมเศร้าและรายงานทางสื่อมีผลลดการใช้ยาต้านซึมเศร้า ซึ่งสวนทางกับการพยายามฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นในคนหนุ่มสาว จึงจำเป็นที่จะต้องต้องติดตามและลดผลกระทบโดยไม่จงใจจากประกาศเตือนของเอฟดีเอและรายงานทางสื่อ