ชีพจร
การตรวจชีพจรสามารถช่วยบอกอะไรได้หลายอย่าง ทุก ๆ คนควรหัดจับ (คลำ) ชีพจรให้เป็น ชีพจรเกิดขึ้นจากการที่หัวใจบีบตัว ฉีดเลือดออกไปทั่วร่างกาย ชีพจรคือ “คลื่น” ของเลือดที่ถูกบีบออกมาจากหัวใจ(สึนามิ!) เวลาแพทย์ตรวจร่างกายมักจะตรวจชีพจรที่ข้อมือ ซึ่งจะอยู่ตำแหน่งที่ฐานหัวแม่มือที่ข้อมือ โดยถ้าหงายมือ ชีพจรจะคลำได้ที่ด้านนอก แต่ในการกู้ชีพ ที่ที่จะคลำชีพจรที่ดีที่สุดคือ ที่คอ หรือ carotid pulse ชีพจรที่ข้อมือเรียกว่า radial pulse
ผมอยากให้ประชาชนทุก ๆ คนจับชีพจรเป็น อยากให้ทุก ๆ คนเรียนรู้เรื่องการกู้ชีพ เพราะบ้านเรามีคนเสียชีวิตมากมายจากการที่เราขาดผู้ที่จะช่วยทำการกู้ชีพ แม้แต่ในสถานที่แข่งกีฬาระดับชาติ บางแห่งยังไม่มีบุคลากร เครื่องมือกู้ชีพ แม้กระทั่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสนามบินที่คนไทยภูมิใจที่สุด และที่ชาวต่างประเทศชื่นชม (ในหลาย ๆ ด้าน) ยังไม่มีเครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้า (AED) เลย แต่จากการประชุมที่วุฒิสภา ผมได้เสนอไปแล้วให้มี และทราบว่าการท่าอากาศยานจะจัดซื้อเครื่องนี้ประมาณ 10 เครื่อง ซึ่งก็ยังน้อยไป แต่ก็ดีกว่าไม่มีเลย
ด้วยเหตุนี้เองผมจึงอยากให้คนไทยทุก ๆ คนเรียนรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การกู้ชีพ (ปั๊มหัวใจและเป่าอากาศเข้าปากผู้ป่วย) โดยเริ่มจากทุก ๆ คนที่มีใบขับขี่ก่อน จากคนที่ขับรถสาธารณะ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พลเรือนทุกนาย แล้วค่อย ๆ เพิ่มไปจนประชาชนทุก ๆ คนสามารถทำได้
การคลำชีพจรในยามปกติอาจคลำที่ข้อมือ (radial pulse) ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น หลักการง่าย ๆ คือ ใช้มือซ้ายตัวเองหงายแล้ววางไปด้านหน้า และใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง ทั้งสาม (บางคนใช้ 2 นิ้ว นิ้วชี้ และนิ้วกลาง) วางตามแนวด้านข้างของข้อมือซ้าย (โคนนิ้วโป้งเรียงกัน โดยคว่ำนิ้วมือขวา) จะห่างจากริมข้อมือที่หงายจากด้านข้าง ๆ มา 1 เซนติเมตร กดนิ้วลงไปทั้ง 3 นิ้ว จะรู้สึกได้ถึงหลอดเลือดที่อยู่ตรงนั้นเต้นกระดอนขึ้นมาตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งความจริงก็คือ “คลื่นเลือด” ที่ถูกดันออกมาจากหัวใจ เมื่อท่านคลำชีพจรได้แล้ว ควรหัดนับว่าชีพจรเต้นกี่ครั้งต่อนาที ควรวัดเป็นนาทีจะได้จำนวนครั้งที่หัวใจเต้นอย่างใกล้ความจริง ถ้าวัด 10 วินาที และคูณด้วย 6 อาจไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง โดยเฉพาะเวลาที่แพทย์ต้องการที่จะตรวจดูว่าหัวใจเต้นเป็นจังหวะที่ปกติหรือไม่
ชีพจรปกติส่วนใหญ่จะเต้นระหว่าง 60-80 ครั้ง/นาที แต่ผู้ที่หัวใจแข็งแรง ที่เป็นนักกีฬาวิ่งทน อาจมีชีพจรที่เต้นเพียง 40 ครั้ง/นาที ผู้ที่หัวใจแข็งแรงมักมีชีพจรอยู่ในทางที่ต่ำคือ 40-60 ครั้ง/นาที ผู้ที่ไม่ค่อยแข็งแรงอาจมีหัวใจเต้นที่ 70-80 ครั้ง/นาที ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยอาจมีหัวใจเต้นที่ 70 ครั้ง/นาที แต่ถ้าออกกำลังกายเพื่อสุขภาพด้วยการเดินเร็ว ๆ วิ่ง ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน เต้นแอโรบิก วันละ 30 นาที 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ หลังจากทำไป 3 เดือน ชีพจรอาจเต้นเพียง 50-60 ครั้ง/นาทีเท่านั้น
นอกจากนับจำนวนครั้งที่หัวใจ (ชีพจร) เต้นต่อนาทีแล้ว ควรพยายามคลำว่าชีพจรเต้นเป็นจังหวะที่สม่ำเสมอหรือไม่ ปกติหัวใจจะเต้นอย่างสม่ำเสมอ (regular) แต่ถ้าหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ (irregular) ควรพยายามคลำให้ได้ว่ามันเต้นไม่เป็นจังหวะเลย (completely irregular หรือ irregularly irregular) หรือมันเต้นสม่ำเสมอ เช่น เต้น 1, 2, 3, 4 แล้วชีพจรเว้นวรรคไปนิดหนึ่งหรือมาเร็วไปนิดหนึ่ง ถ้ายังมีจังหวะที่สม่ำเสมอ แต่มีผิดจังหวะบ้างก็อาจนึกถึง premature atrial contraction (PAC) หรือการบีบตัวของห้องหัวใจส่วนบนก่อนเวลาอันควร ถ้าเป็นกรณีนี้อาจพบได้ในคนหนุ่มสาวที่แข็งแรง และอาจพบได้ในคนที่ดื่มชา กาแฟ น้ำหวานที่มีคาเฟอีนมาก หรือคนที่เป็นโรคหัวใจ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ถ้ารู้สึกว่าชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอควรไปพบแพทย์ ถ้าชีพจรเต้นไม่เป็นจังหวะเลย คือ completely irregular ควรนึกถึง atrial fibrillation (AF) ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ จึงควรต้องรีบไปพบแพทย์ ผู้ที่มี AF อาจไม่มีอาการอะไรเลย แต่ถ้าหัวใจเต้นเร็วมากจนหัวใจไม่สามารถทำหน้าที่เป็นปั๊มได้ อาจหน้ามืดจะเป็นลม ฯลฯ หรือเมื่อคลำชีพจรจะรู้สึกว่าเต้นเร็วมาก