30 บาทรักษาทุกโรคเปรียบเสมือนของดี แต่ในความเป็นจริงมันเหมือนยาพิษเคลือบน้ำตาล
จากข้อเขียนทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นได้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบายประชานิยมที่ทำให้ประชาชนนิยมยินดีและหลงเชื่ออย่างจริงใจว่า สามารถให้การดูแลสุขภาพประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เปรียบเหมือนยาพิษที่เคลือบน้ำตาลไว้ เห็นแล้วน่ากิน แต่พอได้กินเข้าไปแล้วอาจจะถึงตายโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนไม่ตระหนักว่าความจริงระบบนี้ได้ทำลายคุณภาพมาตรฐานการรักษาพยาบาลหรือทำลายระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขลงอย่างสิ้นเชิง โดยรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญในการรักษาคุณภาพมาตรฐานระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนให้ดีและทันสมัย
ฉะนั้น ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ระบบ 30 บาทได้ทำให้มาตรฐานการแพทย์ไทยที่เคยเทียบได้ในระดับนานาอารยประเทศนั้น ไม่สามารถรักษาระดับมาตรฐานที่ดีเหมือนเดิมได้ ทำให้ผู้ป่วยอาจมีอันตรายจากการที่ไม่หายป่วยจากโรคร้าย กลายเป็นโรคเรื้อรัง หรือตายโดยยังไม่สมควรตาย หรืออาการดื้อยา ไม่ตอบสนองต่อการรักษา มีคุณภาพชีวิตไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น แต่สำหรับโรงพยาบาลที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขและไม่ได้รับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยจากระบบ 30 บาทแล้ว ก็อาจจะยังรักษาคุณภาพมาตรฐานการแพทย์ได้ดีกว่าโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากมีงบประมาณที่ไม่จำกัด มีบุคลากรที่เหมาะสมกับปริมาณงานและไม่ต้องจำกัดการใช้ยาตามที่กรมบัญชีกลางหรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด
สำหรับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนในการให้การศึกษาแพทยศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาโรคที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งโรงพยาบาลเหล่านี้มักจะต้องรับรักษาผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข แต่มักจะไม่ได้รับเงินค่าใช้จ่ายในการรักษาเท่ากับจำนวนเงินที่ได้ใช้จ่ายจริงในการรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ที่มีอาการป่วยหนัก หรือตกอยู่ในภาวะวิกฤติและการรักษายุ่งยากซับซ้อน ซึ่งส่งผลให้โรงพยาบาลที่สังกัดมหาวิทยาลัยประสบภาวะขาดทุนเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลศิริราช ก็ได้ออกมาโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไปรับบริการสาธารณสุขที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เพื่อจะได้เป็นทั้งผู้รับการรักษาและเป็นผู้ให้ “เงิน” เพื่อนำไปช่วยรักษาผู้ป่วยที่ยากจนอีกต่อหนึ่ง ซึ่งการโฆษณาของโรงพยาบาลศิริราชเป็นการตอกย้ำว่าโรงพยาบาลที่มีส่วนในการรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาทนั้น จะได้รับเงินไม่พอใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย
Thailand Healthcare Summit
ประชาชนที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ส่วนมากก็อาจจะไม่ทราบว่า 30 บาทรักษาทุกโรคนั้นอาจจะก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่ดีที่สุดดังกล่าว แต่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์ตรงในการรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท หรือมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณสุขในส่วนอื่นที่มิใช่ 30 บาท หรือทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์และสาธารณสุข ต่างก็ทราบถึงปัญหาความขาดแคลนทรัพยากรในการให้บริการสาธารณสุขในแง่มุมต่าง ๆ กัน และต่างก็มีความห่วงใยที่ระบบ 30 บาทได้ก่อให้เกิดปัญหาแก่ระบบสาธารณสุขไทย จึงได้มีกลุ่มองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมการประชุม “Thailand Healthcare Summit” เพื่อจะช่วยกันนำเสนอปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และร่วมกันเสนอทางออกในการแก้ปัญหาในระบบการประกันสุขภาพและระบบบริการสาธารณสุขของไทย
โดยได้มีการประชุมเสวนาปีละครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2556 มีผู้เข้าร่วมเสวนาจากทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้ผลิตยา นักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป นักการเมือง ผู้บริหารโรงพยาบาล ผู้บริหารกองทุนประกันสุขภาพ 3 ระบบ ได้แก่ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง (ผู้รับผิดชอบจ่ายเงินในระบบสวัสดิการข้าราชการ)
โดยการเสวนาครั้งที่หนึ่งในปี พ.ศ. 2554 ได้แลกเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐาน (จากการประกันสุขภาพใน 3 ระบบ) และความเป็นเลิศทางการแพทย์ ครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2555 กำหนดเป้าหมายร่วมกันและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องเป้าหมายด้านสุขภาพของประเทศที่ดีที่สุดภายใต้ความจำกัดของทรัพยากร การเสวนาครั้งที่สามในปี พ.ศ. 2556 เรื่องระบบสุขภาพของประเทศไทยจากชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐานสู่ความเป็นเลิศด้านการแพทย์
โดยได้ยกเอาสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาในระบบการดูแลสุขภาพ (Healthcare or Health services) ในระบบหลักประกันสุขภาพ (หรือ30 บาท) และระบบบริการสาธารณสุขของไทยในปัจจุบันมาสรุปไว้ดังนี้คือ
1. งบประมาณไม่เพียงพอ และไม่มีระบบร่วมจ่ายที่ชัดเจน
2. ระบบบริหารที่ขาดการวางแผนร่วมกันและขาดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
3. การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
4. การขาดอาคารสถานที่รองรับผู้ป่วยในภาครัฐ ในขณะที่ภาคเอกชนมีอัตราการครองเตียงน้อย
5. จำนวนผู้ป่วยมีมากขึ้นและมีความต้องการบริการที่มีมาตรฐานสูงขึ้น
ในขณะที่ผู้เข้าร่วมเสวนามีมุมมองในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็พอสรุปได้ดังนี้คือ
1. งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีการ “จำกัดขอบเขตของการให้ยาและการรักษาผู้ป่วย” ทำให้มาตรฐานการแพทย์ตกต่ำ ประชาชนไม่ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด กระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะอ้างอิงจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข รายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการสาธารณสุขของวุฒิสภา หรือจากความเห็นและข้อเสนอแนะจากการสัมมนา “Thailand Healthcare Summit” หรือจากพฤติการณ์ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้ใช้ข้อจำกัดทางการเงินมาสั่งจำกัดการใช้ยาในการรักษาผู้ป่วย รวมทั้งโรงพยาบาลต่าง ๆ ต้องหาทางเพิ่มรายได้ของโรงพยาบาลโดยการสร้างห้องพิเศษ สร้างคลินิกพิเศษ หรือสร้างโรงพยาบาลพิเศษขึ้นมาเพื่อหาเงินมาจุนเจือการขาดทุนในระบบหลักประกันสุขภาพ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
2. งบประมาณในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากประชาชนไทยมีแนวโน้มของผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น ประกอบกับการพัฒนาการทางการแพทย์ที่สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ทำให้สามารถต่อชีวิตผู้ป่วยให้ยืนยาวขึ้น แต่ในขณะเดียวกันผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง เพราะอาการป่วยไม่หายขาด ต้องรับประทานยาควบคุมหรือรักษาอาการป่วยเหล่านั้น ที่รวมเรียกว่า “โรคเรื้อรัง” ได้แก่ มะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เช่น โรคกระดูกบาง ข้อต่ออักเสบ ภูมิต้านทานต่ำ ทำให้เป็นโรคติดเชื้อบ่อยขึ้น ฯลฯ
นอกจากนั้นผู้สูงอายุยังต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพหลังการเจ็บป่วย ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้มีการพัฒนา ค้นคว้า ประดิษฐ์คิดค้น วิจัย ในเรื่องยาและเครื่องมือแพทย์ใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคต่าง ๆ ได้ดีขึ้น แต่เมื่อผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านี้ได้ก็มักจะมีต้นทุนในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาสูงขึ้น รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
3. ประชาชนขาดการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องมีภาระจ่ายงบประมาณในการรักษามากขึ้น แม้ในปัจจุบันมีหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการให้ความรู้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในประชากรทุกวัยรวมทั้งสนับสนุนการรณรงค์ให้ลดการบริโภคสุรา ยาสูบ หรือสารสิ่งอื่นที่ทำลายสุขภาพ (คือสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ได้รับเงินงบประมาณแผ่นดินปีละหลายพันล้านบาท ในการรับผิดชอบดำเนินการเพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพและลดพฤติกรรมเสี่ยงในการทำลายสุขภาพ) แต่ดูเหมือนว่า สสส. จะไม่ประสบความสำเร็จในภารกิจดังกล่าว แต่นอกจากอัตราการเจ็บป่วยของประชาชนจะไม่ลดน้อยลงแล้ว อัตราการบริโภคสุรา บุหรี่ และสารเสพติดอื่น ๆ ก็ยังเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญของประชาชนไทยอยู่มาก
และเนื่องจากในระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ประชาชนจำนวนหนึ่ง (อาจจะเป็นจำนวนมาก) ที่ไม่ให้ความสำคัญหรือละเลยที่จะดูแลสร้างเสริม หรือรักษาสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับตนเองและครอบครัว เนื่องจากมีทัศนคติที่ว่า เมื่อเจ็บป่วยแล้วตนเองไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เนื่องจากสามารถไปรับการรักษาตามสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่จำกัดขอบเขตการรักษา (เชื่อตามการโฆษณาว่า “รักษาทุกโรค”) ทำให้อัตราการเจ็บป่วยของประชาชนไทยไม่ลดลง มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น
นอกจากประชาชนจะเจ็บป่วยมากขึ้นแล้ว ประชาชนบางส่วนก็มีแนวโน้มที่จะมาใช้บริการทางการแพทย์มากขึ้น หรือไม่เหมาะสม เช่น เจ็บป่วยเล็กน้อยอาจจะซื้อยาสามัญประจำบ้านมาไว้สำหรับรักษาตัวในเบื้องต้นก็ไม่ทำ แต่ไปโรงพยาบาลเพื่อให้โรงพยาบาลสั่งจ่ายยาเหล่านี้ให้โดยไม่ต้องจ่ายเงินของตนเอง