The Legend of Rabies เปิดตำนานโรคพิษสุนัขบ้า (ตอนที่ 2) จากความเพียรพยายามสู่ความสำเร็จของหลุยส์ ปาสเตอร์

(งานพี่อ้อ ขอตรวจ ART WORK ด้วยค่ะ)

วงการแพทย์ ฉบับ 417 /ผึ้ง

.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ

The Legend of Rabies เปิดตำนานโรคพิษสุนัขบ้า (ตอนที่ 2)
จากความเพียรพยายามสู่ความสำเร็จของหลุยส์ ปาสเตอร์

นับจากที่หลุยส์ ปาสเตอร์ มีแนวคิดที่จะฉีดวัคซีนให้คนที่โดนสุนัขบ้ากัดแทนที่จะฉีดให้สุนัขทุก ๆ ตัวในปารีส กระแสแห่งความขัดแย้งและเสียงคัดค้านก็ยังคงมีอยู่

จนกระทั่งวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 มารดาพาเด็กชายโจเซฟ ไมสเตอร์ ชาวอัลซาส อายุ 9 ปี ซึ่งถูกสุนัขบ้ากัดเมื่อ 2 วันก่อน มาที่ห้องทดลองของปาสเตอร์ ขณะที่เด็กชายกำลังเดินไปโรงเรียนถูกปะทะด้วยสุนัขบ้าจนล้มลงกับพื้นถนน ช่างปูนคนหนึ่งพบเห็นเข้าจึงตีสุนัขด้วยท่อนเหล็ก และได้ช่วยเหลือเด็กซึ่งร่างกายเปรอะไปด้วยเลือดและน้ำลาย สุนัขวิ่งกลับไปหาเจ้าของชื่อธีโอโดร์ เจ้าของร้านขายของชำในเมือง และยังไปกัดแขนเจ้าของเข้าอีกด้วย เจ้าของโกรธมากจึงจัดการเก็บเสียด้วยปืนยาวจนกระเพาะทะลุ ทำให้เห็นว่าในกระเพาะมีแต่หญ้าแห้งและเศษไม้ แม่พาโจเซฟไปหาหมอเลแบร์ในเย็นวันเดียวกัน ซึ่งช่วยจัดการบาดแผลโดยใช้กรดคาร์บอลิกจี้แผลไว้ หมอได้แนะนำให้เธอพาลูกไปปารีส โดยธีโอโดร์ก็ตามไปด้วย

ปาสเตอร์รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมากเมื่อเห็นแผลบนร่างกายของเด็กชายตัวเล็ก ๆ ถึง 14 แผลจนเดินไม่ไหว ปาสเตอร์ลังเลใจว่าจะจัดการฉีดวัคซีนให้กับโจเซฟหรือไม่ ในที่สุดปาสเตอร์ก็ได้ขอความเห็นชอบจากวุลปิอัง ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการก่อน วุลปิอังให้การสนับสนุนเพราะเคยเห็นการทดลองในสุนัขมาก่อนแล้ว ดร.กรังแชร์ ซึ่งทำงานอยู่ในห้องปฏิบัติการด้วยกันก็สนับสนุนความคิดอันนี้ ในที่สุดปาสเตอร์ก็ตกลงใจ โดยจัดห้องพักให้สองแม่ลูกได้พักอยู่ในคอลเลจ ซึ่งโจเซฟรู้สึกพอใจมากที่ได้อยู่ท่ามกลางนานาสัตว์ อันได้แก่ ไก่ หนูตะเภา หนูขาว

การฉีดวัคซีนได้ฉีดทุกวันเช่นเดียวกับที่ฉีดให้สุนัข โดยไม่ได้มีวันเว้น เด็กกินได้นอนหลับสบายดี แต่สำหรับปาสเตอร์ เมื่อถึงการฉีดเข็มสุดท้าย ซึ่งเป็นสมองกระต่ายที่ตายใหม่ ๆ ไม่ได้ทำให้แห้งหรืออ่อนฤทธิ์เลยนั้น ก่อความกังวลมากถึงกับนอนไม่หลับ ปาสเตอร์คิดในใจว่าตนเองถอยไม่ได้อีกแล้ว เข็มสุดท้ายนั้นฉีดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม ก็ถึงเข็มสุดท้ายคือเข็มที่ 13 (ไม่ทราบว่ามีวันใดที่ได้รับการฉีด 2 เข็ม)

ปาสเตอร์มีทั้งความหวัง ความกลัว ความทุกขเวทนา ความกังวลว่าจะช่วยโจเซฟให้พ้นมือมัจจุราชได้หรือไม่ ตกกลางคืนในความคิดคำนึงของปาสเตอร์ เขาแลเห็นภาพโจเซฟกำลังเป็นโรคกลัวน้ำ กระวนกระวายเช่นเดียวกับที่ตนเคยพบเห็นที่โรงพยาบาลทรูซโซ เมื่อปี พ.ศ. 2413

หลังจากฉีดวัคซีนเสร็จแล้ว ปาสเตอร์ได้มอบให้โจเซฟอยู่ในความดูแลของ ดร.กรังแชร์ต่อไปอีก จนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม จึงได้กลับบ้าน ระหว่างนั้นปาสเตอร์ได้หลบไปพักอย่างเงียบ ๆ อยู่กับบุตรสาวที่ชนบทในเบอร์กันดี 30 วันผ่านไป โจเซฟก็ยังมีชีวิตอยู่ วันเดือนผ่านไปอีก โจเซฟก็ยังคงแจ่มใส ร่าเริง เป็นปกติสุข

วันที่ 14 ตุลาคม ขณะที่เด็กเลี้ยงแกะ 6 คนกำลังเฝ้าฝูงแกะของตนอยู่ มีสุนัขพรวดพราดเข้ามา ยูปิลล์ อายุ 14 ปี ซึ่งเป็นเด็กที่โตที่สุดในกลุ่มนั้นได้ให้เพื่อน ๆ วิ่งหนี แต่ตนเองอยู่คอยสกัดสุนัขไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้เพื่อน ๆ ได้เอาตัวรอดจึงโดนกัดที่แขนซ้าย ยูปิลล์ปล้ำกับเจ้าสุนัขเป็นพัลวัน จับสุนัขนอนลงแล้วเอาเข่ากดไว้ มือทั้งสองข้างง้างขากรรไกรสุนัขออก แล้วเอาเชือกมามัดขากรรไกรสุนัขเอาไว้ แล้วใช้ไม้ตีจนตายและเอาเชือกผูกลากไปตามลำธาร จับหัวสุนัขกดไว้ใต้น้ำเพื่อให้ตายสนิทแล้วจึงกลับบ้าน สัตวแพทย์ได้ไปตรวจสุนัขในวันรุ่งขึ้นและลงความเห็นว่าเป็นสุนัขบ้า นายกเทศมนตรีของเมืองวิลเยร์ฟาร์เลย์ได้เขียนจดหมายให้หนุ่มน้อยรายนี้ไปหาปาสเตอร์ ยูปิลล์ได้รับการรักษาจากปาสเตอร์ในทำนองเดียวกันกับโจเซฟ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2429 ยูปิลล์ยังได้เขียนจดหมายส่งข่าวให้ปาสเตอร์ทราบว่า ตนเองยังปกติสุขดีอยู่

หลังจากข่าวนี้แพร่ออกไป ประชาชนจากนานาสารทิศที่ถูกสุนัขกัดก็แห่กันไปหาพ่อพระปาสเตอร์ จนไม่มีสถานที่ที่จะรับเอาไว้รักษา ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีการก่อตั้งสถานปาสเตอร์ขึ้นในกรุงปารีส ปาสเตอร์ได้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสำเร็จในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

หลุยส์ ปาสเตอร์ ได้อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติอย่างแท้จริง ต้องอาศัยความเพียรพยายามและความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการช่วยให้เพื่อนมนุษย์รอดชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า โรคร้ายที่แม้แต่ในปัจจุบันยังคงไม่มีวิธีรักษาได้ ผู้ติดเชื้อทุกรายต้องทนทุกข์ทรมานก่อนที่จะเสียชีวิต ดังนั้น คำว่า NO COMPROMISE” จึงเป็นหลักการในการเลือกวัคซีนสำหรับป้องกันโรคนี้ เพราะวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าคือหนทางเดียวที่จะช่วยให้ผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัดรอดชีวิต ปัจจุบันนี้มีวัคซีนจาก 2 ผู้ผลิตเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

มนุษย์เราติดโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร

การที่มนุษย์เราติดโรคพิษสุนัขบ้านั้นแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ

1. โดยการถูกกัด หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรคโดยตรง

2. โดยทางอื่น ๆ นอกจากการกัด หรือสัมผัสน้ำลาย

2.1 โดยการสูดหายใจ ในมนุษย์เกิดขึ้นได้

- ตามธรรมชาติ

- เกิดในห้องปฏิบัติการที่ทำงานเกี่ยวกับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

2.2 โดยการกิน

2.3 การติดเชื้อระหว่างผู้ป่วยกับผู้สัมผัสโรค (คนกับคน)

2.4 การติดเชื้อในครรภ์