แนวปฏิบัติเมื่อชันสูตรพลิกศพฝรั่งแขวนคอ: รายงานผู้ตาย 1 ราย

แนวปฏิบัติเมื่อชันสูตรพลิกศพฝรั่งแขวนคอ: รายงานผู้ตาย 1 ราย

Proper Management for Caucasian’s Hanging Case: A Case Report

นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์* *รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การที่พบผู้เสียชีวิต (ตาย) ด้วยประวัติว่า “แขวนคอตาย” นั้น แพทย์ย่อมสามารถถูกเรียกให้เข้าร่วมในการชันสูตรพลิกศพเป็นประจำอยู่แล้ว1 และเชื่อได้ว่าหากปฏิบัติงาน (ประกอบวิชาชีพเวชกรรม) ในสถานพยาบาลของรัฐบาลในฐานะแพทย์ลำดับต้น เช่น แพทย์หน่วยอุบัติเหตุ แพทย์ห้องฉุกเฉิน หรือแพทย์ที่ถูกจัดให้มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพเป็นการเฉพาะแล้ว ย่อมต้องเคยทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตายในลักษณะนี้อย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะว่าหากเป็นการที่ต้องการฆ่าตัวตายแล้ว วิธีที่ดีที่สุด ถูกที่สุด ทรมานน้อยที่สุด และสำเร็จตามความต้องการมากที่สุดก็น่าจะเป็น “การแขวนคอตาย” เพราะการหาวัตถุ เช่น เชือก โซ่ สาย บ่วง ฯลฯ นั้น หาได้โดยง่าย แม้แต่ในห้องขังหรือในคุกที่ว่าหาอุปกรณ์ได้ยากแล้ว ก็ยังมีการใช้เชือกที่ร้อยที่หูกางเกงรูดออกมาแล้วใช้เป็นวัตถุเพื่อการแขวนคอก็เคยปรากฏมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การที่แพทย์ได้ตรวจพบว่ามีผู้ที่เสียชีวิตในลักษณะที่มีเชือกที่คอพาดไว้แล้วคล้องหรือติดกับวัตถุอื่น เช่น รั้ว ขื่อ ราว ฯลฯ ก็มิได้หมายความเฉพาะว่าจะเป็นการเสียชีวิตเนื่องจากการแขวนคอเท่านั้น เพราะอาจมิใช่ เช่น อาจเกิดจากการที่ “ถูกนำมาแขวน” ก็ได้ ซึ่งในประเด็นนี้ต้องถือว่ามีความสำคัญยิ่ง และยิ่งเกิดกับคนแปลกหน้า (แปลกปลอม) ที่ไม่ทราบว่าคนนี้คือใคร มาได้อย่างไร มาที่นี่ด้วยเหตุใด แล้วยิ่งต้องเกิดความสงสัยมากยิ่งขึ้น

…………….การชันสูตรพลิกศพอาจดูว่าเป็นการง่ายในการชันสูตรพลิกศพ แต่แท้ที่จริงแล้วแพทย์จำเป็นต้องคำนึงถึง “เหตุและผล” ตามมาตรา 154 ขณะที่ชันสูตรพลิกศพประกอบด้วยเสมอ โดยเฉพาะประเด็นที่อาจเกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ที่ตายจาก “ถูกฆาตกรรม” ซึ่งเมื่อแพทย์ตระหนักเช่นนั้นแล้ว หากเป็นกรณีที่เป็นชาวต่างชาติโดยเฉพาะคอเคซอยด์ (Caucasoid) แพทย์จำต้องส่งศพดังกล่าวเพื่อตรวจต่อเสมอ (ไม่มีข้อยกเว้น) ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและมาตรฐานทางการแพทย์………..ฯลฯ

อุทาหรณ์ (รายงานผู้ตาย 1 ราย)

ผู้ตายเป็นชายอายุ 22 ปี สัญชาติโปแลนด์ ถูกนำตัวส่งมารับการตรวจที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยประวัติว่า “แขวนคอตาย” ถูกพบเมื่อประมาณ 3.00 น. (ขณะมีการแข่งขันคู่ชิงฟุตบอลโลกระหว่างอาร์เจนตินากับเยอรมนีกำลังดำเนินอยู่) พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลฯ ได้ไปทำการชันสูตรพลิกศพร่วมกับแพทย์แล้ว ให้นำศพมารับการตรวจต่อที่โรงพยาบาลศิริราช (ภาพที่ 1)

การตรวจศพ: (แพทย์ได้ทำการตรวจศพเวลา 9.00 น.) โดยย่อได้ดังนี้

สภาพศพภายนอก: (ภาพที่ 2-3)

- ศพชายชาวคอเคเซียนอายุประมาณ 20-25 ปี รูปร่างสันทัดแข็งแรง ตัวยาวประมาณ 180 เซนติเมตร ผมสีค่อนดำ มีหนวดและเคราสั้น ยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร มีรอยสักที่บริเวณหลังคอ (รูปแนวยาว) ที่หลัง (รูปคล้ายใยแมงมุม) ที่ต้นแขนขวา (รูปคล้ายสมอ)

- ศพแข็งตัวเต็มที่แล้ว พบเลือดตกลงสู่เบื้องต่ำภายหลังเสียชีวิตที่หลังได้ชัดเจน

- พบจุดเลือดออกที่เยื่อบุตาซ้าย 1 ตำแหน่ง และตาขวา 1 ตำแหน่ง

- พบบาดแผลถลอกที่เข่าขวา ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร กว้าง 3 เซนติเมตร

- แผลถลอกเล็ก ๆ ที่เท้าขวา หลังมือ นิ้วมือทั้งสองข้าง หลายตำแหน่ง

- ไม่พบบาดแผลรุนแรงตามร่างกายและแขนขา

- พบบาดแผลเป็นรอยกดรัดลึกที่ด้านหน้าของคอระดับเหนือลูกกระเดือก พาดจากคอไปที่บริเวณหลังหูทั้งสองข้าง ความกว้างของรอยกดประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร รอบ ๆ รอยดังกล่าวไม่พบรอยถลอกร่วมด้วย ความลึกของแผลประมาณจากผิวหนังวัดได้ 0.4-0.5 เซนติเมตร (ภาพที่ 4-5)

- แขนและขาอยู่ในสภาพเหยียดตรง

สภาพศพภายใน:

- หนังศีรษะและใต้ชั้นหนังศีรษะปกติ ไม่พบรอยถลอกหรือช้ำ

- กะโหลกศีรษะปกติ เนื้อสมองคั่งเลือดเล็กน้อยถึงปานกลาง

- ใต้บาดแผลรอยกดที่คอไม่พบเลือดออกอย่างชัดเจน (ภาพที่ 6)

- กระดูกไฮออยด์หักที่ปลายกระดูกทั้งสองข้าง (cornu) มีเลือดออกเล็กน้อย (ภาพที่ 7)

- กระดูกไทรอยด์ ครัยคอยด์ และอะริธินอยด์ และต่อมไทรอยด์ อยู่ในเกณฑ์ปกติ

- ทางเดินหายใจส่วนต้นไปตลอดจนถึงปอดอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีสภาพการคั่งเลือด

- ขนาดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจทั้งสามเส้นหลักอยู่ในเกณฑ์ปกติ

- ตับ ม้าม ไต และอวัยวะอื่น ๆ ในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน อยู่ในเกณฑ์ปกติ มีเพียงสภาพการคั่งเลือด

- กระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง และกระดูกเชิงกราน อยู่ในเกณฑ์ปกติ

- พบของเหลวเป็นชิ้นก้อน (คล้ายไส้กรอก) และน้ำในกระเพาะอาหารประมาณ 400 ลบ.ซม. ไม่พบสี กลิ่น หรือรอยในผนังด้านในกระเพาะอาหาร

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ:

- การตรวจตามมาตรฐานทั่วไป (ประกอบด้วยหมู่เลือด แอลกอฮอล์ในเลือด)

- การตรวจวิเคราะห์ทางพิษวิทยาตามมาตรฐาน (ทั้งจากเลือด น้ำปัสสาวะ และของเหลวในกระเพาะอาหาร)

- การเก็บเส้นผมและกระดูกอ่อนซี่โครง (เพื่อการตรวจวิเคราะห์ต่อไปหากจำเป็น)

สาเหตุการตาย:

เข้าได้กับ “การขาดอากาศจากรอยกดรัดที่บริเวณคอ”

พฤติการณ์แห่งการตาย: (แพทย์ไม่สมควรระบุ)

วิเคราะห์และวิจารณ์

อาจแยกการพิจารณาได้เป็นประเด็นทั่วไป และประเด็นเฉพาะตามอุทาหรณ์ ดังนี้

ประเด็นทั่วไป:

ประการที่ 1: ศพจากแขวนคอ (มีรอยรัดรอบคอในลักษณะน้ำหนักตัวเอง)

1. การที่เรียกว่าแขวนคอ

ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการแขวนลอย “ต่องแต่ง” โดยขาอยู่เหนือพื้นแต่ประการใดไม่ เพราะการแขวนคอนั้นอาจแบ่งเป็นประเภทได้คือ

ประเภทที่ 1: การแขวนคอโดยแท้ (complete hanging)

ประเภทที่ 2: การแขวนคอบางส่วน (incomplete or partial hanging)

2. ลักษณะถูกแขวนกับพฤติการณ์แห่งการตาย

การพบศพที่มีวัตถุจำพวกสายหรือมีความยาว เช่น เชือก เส้นเอ็น โซ่ สายไฟ ผ้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้า ผ้าปูที่นอน ฯลฯ พาดอยู่ที่คอแล้วติดกับสิ่งที่อยู่สูงกว่า เช่น ขื่อ ตะปู ลูกกรง คาน ฯลฯ มิได้หมายความว่าการนั้นจะเกิดจากการกระทำตนเองเท่านั้น โดย ก) หากเป็นการกระทำด้วยตนเอง พฤติการณ์นั้นจะเรียกว่า “ฆ่าตัวตาย” หรือ ข) หากเป็นการกระทำโดยผู้อื่นกระทำ พฤติการณ์นั้นจะเรียกว่า “ฆาตกรรม”

การพบลักษณะถูกแขวนดังกล่าวจึงไม่สามารถตัดประเด็นใดออกไปได้เมื่อทำการชันสูตรพลิกศพในเบื้องต้น (ณ ที่ที่พบศพ) ทั้งนี้แม้ว่าจะพบว่ามี “เอกสารระบุถึงสาเหตุแห่งการแขวนคอว่าต้องการตายโดยตนเองแขวนคอเอง” (suicide note) ทั้งนี้เพราะ

2.1 ผู้อื่นอาจเขียนแทนได้ เป็นการปลอมขึ้นโดยให้เห็นว่าเป็น “การที่ผู้ตายเขียนขึ้น” เพื่อระบุถึงสาเหตุแห่งการที่ต้องแขวนคอตนเอง

2.2 ผู้ตายเขียนข้อความไว้เองแต่อาจด้วยเหตุ

ก. ถูกบังคับให้เขียนเพราะเหตุจำเป็น เช่น การที่เป็นหนี้ การที่มีเหตุแห่งตัวประกัน

ข. เขียนไว้นานแล้วเกิดเปลี่ยนใจ แต่มีผู้นำมา “สวมรอย” ใช้เป็นเหตุแห่งการที่ว่า “ผู้ตายฆ่าตัวตาย”

ค. เป็นโรคจิตหรือโรคประสาทมาก่อนและเขียนไว้ล่วงหน้า แต่มิได้เขียนในขณะที่เกิดเป็นเรื่องหรือกรณีที่พบว่าเป็นศพ (แขวนคอ) อยู่

ง. เขียนไว้เองขณะที่น้อยใจหรือมีสภาวะบางประการ (กดดัน) มานานแล้ว แต่ในขณะที่เกิดเหตุมิได้มีสภาวะเช่นนี้อยู่อีก

ประการที่ 2: สิ่งที่แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพต้องกระทำในการชันสูตรพลิกศพ “ทุกราย”

เมื่อแพทย์ผู้มีหน้าที่ให้เข้าร่วมทำการชันสูตรพลิกศพเพราะเป็นหน้าที่ (ตามมาตรา 148 และมาตรา 150)1 เนื่องจากเป็น “การตายผิดธรรมชาติ (มาตรา 148)1

สิ่งที่แพทย์จำเป็นต้องกระทำก็คือ “ทำหน้าที่อย่างเต็มความรู้ความสามารถ” ในลักษณะที่เรียกว่า “มาตรฐานแห่งการประกอบวิชาชีพ” (วิชาชีพเวชกรรม)2,3,4 นั่นเอง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ถึงความจริงที่น่าจะเกิดขึ้น ซึ่งก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ที่เสียชีวิต

ประการที่ 3: การชันสูตรพลิกศพในรายสงสัยกรณีแขวนคอตาย

เมื่อทำการชันสูตรพลิกศพเรียบร้อยแล้วไม่ว่าจะเป็นกรณีประการใด เช่น อาจไม่มีเหตุหรือข้อสงสัย (เบื้องต้น) ณ ที่ที่พบศพ (ที่ที่ศพถูกพบ) ก็ตาม เพื่อความปลอดภัย (มาตรฐานทางการแพทย์ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม) แพทย์สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องให้มีการส่งศพเพื่อการตรวจต่อ

ในประการนี้มิได้หมายความว่าจะต้องทำการ “ผ่าศพตรวจ” ทุกรายเสมอไป แต่การที่แพทย์จำต้องนำศพเพื่อรับการตรวจต่อนั้น เป็นการ “ตรวจอย่างละเอียด” อีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง

ก. แม้การตรวจจะเป็นการตรวจเพียงภายนอก แต่ก็จะเกิดความละเอียดกว่าการตรวจศพในขณะ “ชันสูตรพลิกศพ” อย่างแน่นอน เพราะการตรวจศพเมื่อมีการนำศพเข้ามาตรวจ ณ สถานที่ที่ตรวจศพได้นั้น จะทำการตรวจด้วย

เวลา” ที่มีในการตรวจ มีเพียงพอไม่ต้องรีบเร่งในการตรวจเช่นการชันสูตรพลิกศพ ที่อาจต้องรีบเร่งเพราะผู้คนที่อยู่รอบข้าง ซึ่งอาจเป็นญาติหรือ “ไทยมุง” เป็นต้น ทำให้แพทย์ผู้ร่วมในการชันสูตรพลิกศพอาจมองไม่เห็นพยาธิสภาพที่ศพซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งได้

สถานที่ตรวจ” ที่ศพถูกนำมาตรวจต่อ (มาตรา 152) นั้น มักเป็นสถานที่ที่ถูกจัดไว้สำหรับการตรวจโดยเฉพาะ จึงพร้อมเพรียงในอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจ เช่น แสงไฟที่สว่างเพียงพอ การมีน้ำล้างสิ่งที่แปดเปื้อนศพ เครื่องเอกซเรย์ที่ตรวจภายในศพเพื่อดูส่วนกระดูกหรือวัตถุแปลกปลอมที่ติดมากับศพ ผู้ช่วยในการจัดท่าหรือพลิกศพไปมา เครื่องมือในการตรวจง่าย ๆ (ยังไม่ถึงขั้นผ่าศพ) แต่อาจเพียง “ขูด” หรือ “กรีด” ในตำแหน่งที่สงสัยได้ หรือแม้แต่อาจทำการทดสอบเบื้องต้นอย่างง่าย ๆ เช่น การมีสารเสพติดที่ผู้ตายอาจได้รับมาโดยการดูดเอาปัสสาวะมาทำการตรวจทดสอบทางเคมีเบื้องต้น เป็นต้น

ผู้ทำการตรวจ” มักจะมีหลายคนที่ร่วมหรือหลายคนช่วยกันตรวจศพ ซึ่งแน่นอนที่สุดการที่มีหลายคน (มักมีความชำนาญในการตรวจศพ) ย่อมทำให้อาจเห็น (พบ) พยาธิสภาพที่ไม่ถูกพบ ณ สถานที่ที่พบศพหรือชันสูตรพลิกศพก็ได้

การเปิดศพตรวจอย่างเต็มที่” สามารถทำได้อย่างสะดวกโดยการถอดเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มออกจนหมดเพื่อการตรวจอย่างละเอียด ย่อมสามารถตรวจพบได้ เช่น บาดแผลในที่ลับ (ตัวอย่างเคยมีการถูกยิงเข้าทางทวารหนัก หรือการที่ศพถูกตอกที่ศีรษะด้วยตะปูมีเส้นผมบังอยู่)

การตรวจรอยเปื้อน” กรณีมีการเปื้อนคราบ โคลน น้ำมัน สี ฯลฯ ซึ่งอาจบดบังพยาธิสภาพที่มีอยู่ตามร่างกาย เช่น รอยเข็มแทง บาดแผล ในที่ลับโดยทั่วไป ณ ที่ที่ชันสูตรพลิกศพจะไม่เปิดดูเพราะอาจเป็นการประเจิดประเจ้อต่อผู้ที่อยู่รอบข้าง เช่น ทายาท เป็นต้น

ประการที่ 4: สิ่งที่แพทย์ผู้ทำการตรวจศพ “ต้อง” กระทำ

เมื่อมีการนำศพดังกล่าว (พบเบื้องต้นว่าแขวนคอ) แล้วแพทย์จำเป็นต้องตรวจหรือเก็บหรือส่งตรวจเป็นกรณีหรือลำดับดังนี้

ข้อ 1: กรณีคิดว่าไม่มีเหตุน่าสงสัยที่จะเป็นพฤติการณ์แห่ง “การถูกฆาตกรรม”

เป็นกรณีที่เชื่อว่าน่าจะเป็นการแขวนคอตายจริงหรือไม่พบสิ่งสงสัย และประกอบกับเหตุต่างอีก เช่น การที่ญาติไม่ติดใจเลยและแพทย์เชื่อแน่ว่าเป็นเช่นนั้น การที่ผู้ตายนับถือศาสนาที่มีข้อบัญญัติไว้ (เช่น ผู้นับถือศาสนาอิสลาม) การที่ผู้ตายเป็นผู้ที่อาจมีข้อตกลงกับหน่วยงานของรัฐไว้ล่วงหน้า (เช่น ผู้นับถือศาสนายิว เป็นต้น) โดยการตรวจนั้นอาจดำเนินการ ดังนี้

1.1 การตรวจสภาพศพภายนอกอย่างละเอียดถี่ถ้วน แม้แต่ร่องรอยแห่งการถูกเข็มแทงซึ่งอาจเป็นรอยแดงหรือจุดที่อาจสงสัยก็ต้องตรวจและบันทึกไว้

1.2 มีการบันทึกสภาพแห่งศพไว้ อาจเป็นการวาดภาพ การเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร การวัดขนาด (ยาว กว้าง ลึก ตำแหน่ง ฯลฯ)

1.3 การถ่ายภาพตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย และวัตถุพยานต่าง ๆ ที่อาจพบหรือติดบนส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

1.4 การเก็บพยานหลักฐานจากภายนอก (ซึ่งแม้ไม่ได้ทำการผ่าศพตรวจ) แต่ก็อาจเก็บได้โดยการเก็บพยานหลักฐานเช่นว่านั้นเอาเป็นเพียงการเก็บบันทึกหรือการเก็บเพื่อการส่งตรวจต่อ เช่น

ก. สิ่งที่ติดมากับศพ เช่น เสื้อผ้าที่อาจจำเป็นต้องส่งตรวจถึงประเภท ชนิด แหล่งผลิต ฯลฯ เป็นต้น

ข. สิ่งที่ติดมากับเนื้อตัวร่างกายศพ เช่น คราบ สี เกล็ด จำเป็นต้องส่งตรวจ ณ ห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจพิสูจน์ได้

ค. ส่วนของศพที่เก็บจากภายนอกได้โดยง่าย เช่น การเก็บเส้นผมหรือขน การตัดเล็บเพื่อการตรวจ การเก็บน้ำลาย อุจจาระ เป็นต้น

ง. บาดแผลที่ตัวศพที่สามารถตรวจจากภายนอกได้ อาจทำการตรวจและบันทึก หรือการถ่ายภาพเพื่อการบันทึก หรืออาจจำเป็นต้อง “ขูด” หรือ “แคะ” ผิวหนังเพื่อการตรวจหากจำเป็น

1.5 การเก็บพยานหลักฐาน (สิ่งส่งตรวจ) ที่จำต้องใช้เครื่องมือ แต่ไม่ต้องดำเนินกับศพรุนแรง (non-invasive procedure)

ก. การใช้เอกซเรย์ หรือรังสีดูการทึบแสง (Fluorescence)

ข. การตรวจด้วยเครื่องมือราคาแพง เช่น การตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan หรือ MRI) ซึ่งอาจเรียกว่า “Digital Autopsy” (ในขณะนี้ยังไม่ทำและถือว่าไม่คุ้มค่า แต่ในอนาคตอาจมีการดำเนินการได้)

1.6 การเก็บพยานหลักฐานที่ต้องดำเนินการต่อศพบ้าง (invasive procedure) เป็นการที่แพทย์ต้องดำเนินการกับศพ เช่น การผ่าเล็ก การเจาะเพื่อดูด

ก. การตัดเก็บชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจ เช่น เนื้อเยื่อที่ใต้รอยกด (รัด) ที่คอเพื่อดูปฏิกิริยาแห่งชีวิต (vital reaction) เป็นต้น

ข. การเจาะเพื่อเก็บสารน้ำต่าง ๆ เช่น การดูดเอาปัสสาวะ การดูเลือดจากเส้นเลือดใหญ่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การเจาะน้ำไขสันหลัง การเจาะน้ำในลูกตา เป็นต้น

ค. การเจาะเพื่อเก็บชิ้นเนื้อ (ในลักษณะ biopsy)

ง. การผ่าเนื้อตัวร่างกายเพื่อความจำเป็น เช่น การผ่าเอาวัตถุแปลกปลอมที่มีอยู่ออก หรือการตัดเอาส่วนของเนื้อเยื่อออกเพื่อทำการตรวจ

ข้อ 2: กรณีที่คิดว่ามีเหตุสงสัยหรือแม้เพียงแต่ไม่แน่ใจหรือต้องการทำเป็นมาตรฐาน (standard routine)

ในประการที่มีเหตุสงสัยหรือไม่แน่ใจจำเป็นต้องทำการผ่าศพตรวจ (complete autopsy) นั่นเอง ซึ่งมักมีเหตุประกอบดังนี้

2.1 กรณีสงสัย เช่น เป็นชาวต่างประเทศ เป็นผู้ที่ไม่เคยอยู่ในละแวกที่ตาย ไม่ทราบว่าผู้ตายเป็นใคร มีร่องรอยบางประการที่ชวนให้สงสัย

2.2 การตรวจ (examination)

ในที่นี้หมายถึง “การตรวจอย่างละเอียด ซึ่งจำเป็นต้องทำการ “ผ่าศพตรวจ” โดยสิ่งที่แพทย์สมควรตรวจก็คือ

2.2.1 บาดแผลตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะ ใต้ชั้นหนังศีรษะ ที่คอ หน้าอก หลัง อุ้งเชิงกราน ต้นขา

2.3 การเก็บพยานหลักฐาน

เป็นการเก็บพยานหลักฐานจาก

ก. การเก็บเหมือนกับในข้อ 1

ข. การเก็บชิ้นเนื้อที่ผ่าตรวจ

ค. การเก็บสารน้ำต่าง ๆ เช่น เลือด ปัสสาวะ น้ำในกระเพาะปัสสาวะ และน้ำหลั่งอื่น ๆ ที่ผ่าและตรวจพบอันเป็นสิ่งที่น่าสงสัย

2.4 การเก็บพยานหลักฐานในกรณีจำเพาะ (เป็นพิเศษ)

ในกรณีที่อาจสงสัยในเรื่องการพิสูจน์บุคคลต่อไปจำเป็นต้องเก็บเพิ่มเติมซึ่งมักจะเป็น กระดูกอ่อนที่ซี่โครง (นิยมมาก) หรือ “ส่วนของกระดูกยาว” เช่น กระดูกต้นแขน เป็นต้น

ประการที่ 5: เหตุผลในการเก็บพยานหลักฐาน

1. การเก็บพยานหลักฐานทั่วไป จำเป็นต้องเก็บสิ่งส่งตรวจตามประการข้างต้น (ที่กล่าวมา) เพื่อคลายความสงสัยในเรื่อง “การได้รับสาร (ยา) ที่ผู้ตาย” อาจได้รับก่อนเสียชีวิต ซึ่งโดยทั่วไปสิ่งที่เก็บจะประกอบด้วย เลือด น้ำปัสสาวะ และน้ำในกระเพาะอาหาร (อาจมีน้ำในลูกตาหรือน้ำไขสันหลังร่วมด้วยก็ได้)

2. การเก็บพยานหลักฐานเป็นการเฉพาะ

ความหมาย: หมายถึงการเก็บพยานหลักฐานเพื่อไว้เป็นการพิสูจน์ตัวบุคคลเป็นการเฉพาะ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากเป็น “คนไทย” มักเชื่อในเอกสารที่มีอยู่แล้วได้ เช่น เอกสารจากบัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ หรือเอกสารที่ทางราชการออกให้ อีกทั้งหากเจ้าพนักงาน (พนักงานสอบสวน) ระบุว่าเป็นบุคคลดังกล่าว ย่อมเชื่อถือและสามารถดำเนินการในนามของบุคคลดังกล่าวได้โดยสนิทใจแล้ว

กรณีที่เป็นคนต่างชาติ: แพทย์อาจต้องให้ความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นชาวต่างชาติที่เป็นชาวยุโรปหรืออเมริกัน อาจจำต้องเก็บส่วนหรือชิ้นส่วนไว้เพื่ออาจมีประเด็นสงสัยในเรื่องสภาพแห่งบุคคลดังกล่าว คือ “เป็นบุคคลดังกล่าวนั้นจริงหรือไม่” ในประเด็นนี้แพทย์สมควรเก็บพยานหลักฐานเพื่อการพิสูจน์ทางพันธุกรรมด้วย (ดีเอ็นเอ) นั่นเอง

เหตุผลที่อาจเกิดประเด็น: เหตุผลก็คือ ในปัจจุบันมีสภาพแห่งความซับซ้อนในสังคมจนถึงขั้นมีการกระทำที่ยุ่งยากซับซ้อนมาก เช่น การปลอมตัวจากบุคคลหนึ่งเป็นอีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นประเด็นใหญ่ถึงระดับประเทศ เช่น “การก่อการร้าย” และจำต้องระบุให้ชัดเจนถึงขนาดระดับพันธุกรรมเลยทีเดียว ดังนั้น กรณีที่แพทย์ได้ทำการเก็บส่วนของร่างกายไว้เพื่อ (อาจ) ทำการตรวจทางพันธุกรรมต่อไปได้ย่อมถือว่าเป็นสิ่งที่ดียิ่งและอาจได้ชื่อว่า “เกินมาตรฐาน” แต่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงาน และแสดงถึงการให้ความสนใจในงานด้านนิติเวชศาสตร์ของแพทย์ท่านนั้น ๆ อีกประการหนึ่งด้วย

ประเด็นเฉพาะตามอุทาหรณ์:

ตามประเด็นเฉพาะอุทาหรณ์นี้ อาจวิเคราะห์ได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1: ข้อที่น่าสังเกตในศพ (ผู้ตาย)

ในประเด็นศพ (ผู้ตายรายนี้) ต้องถือว่ามีเหตุแห่งการสงสัยหลายประการ ดังนี้

1. ผู้ตายเป็นชาวต่างชาติ (โปแลนด์) และไม่มีถิ่นที่อยู่ในละแวกดังกล่าวเลย

2. ผู้ตายมีอายุน้อย เพียง 22 ปีเท่านั้น

3. ผู้ตายมีรอยสักตามร่างกาย เช่น ที่คอ ที่แขน ฯลฯ แสดงว่าน่าจะมีพฤติการณ์ “นักสู้” ด้วย

4. ผู้ตายเป็นคนแปลกถิ่น คนละแวกดังกล่าวไม่เคยมีผู้เห็นหรือคุ้นหน้าผู้ตายเลย (รายละเอียดจากพนักงานสอบสวนเบื้องต้น)

5. เวลาที่ถูกพบศพ (ผู้ตาย) นั้นเป็นเวลาดึกสงัดและผู้อื่นไม่มีความสนใจเพราะเป็นช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศระหว่าง “อาร์เจนตินากับเยอรมนี” ซึ่งเชื่อว่าจะปลอดคนโดยแท้

6. สถานที่ตายอยู่ในซอย (เปลี่ยว) “ในประชาอุทิศแยกย่อย” ลึกเข้าไปในซอยราว 200 เมตร

7. สภาพของท่าที่ผู้ตายเสียชีวิตอยู่ในท่ากึ่งยืนกึ่งนั่ง ที่คอมีเพียงสายไฟของโทรศัพท์เคลื่อนที่คล้องอยู่เท่านั้น โดยผู้ตายถูกแขวนไว้กับเชือกที่คาง สภาพขางอคุกเข่าอยู่ (incomplete hanging)

8. ไม่มีใครเคยเห็นผู้ตาย (คนแปลกถิ่น) และไม่ทราบว่าเหตุใดที่ผู้ตายจึงมาแขวนคอที่ซอยดังกล่าว และใช่การที่ผู้ตายมาแขวนคอตนเองหรือไม่

9. แม้ว่าในหนังสือเดินทางของผู้ตาย (Passport) จะระบุชื่อผู้ตายไว้อย่างชัดเจน แต่ก็ต้องระลึกไว้ว่า “ผู้ตายอาจมิใช่บุคคลตามชื่อในหนังสือเดินทางก็ได้” (เนื่องจากขณะนี้พบการปลอมแปลงอย่างมาก)

10. ไม่พบบาดแผลรุนแรงตามร่างกายและแขนขา คงมีเพียงบาดแผลถลอกที่เข่าทั้งสองข้าง โดยข้างขวาค่อนข้างใหญ่กว่าข้างซ้าย

11. การที่ผู้ตายถูกแขวนไว้เป็นเพียงการพาดที่คอเท่านั้น มิใช่การรัดหรือทำเป็นบ่วงในลักษณะแขวนคอตนเอง ไม่ว่าจะบ่วงเงื่อนตาย หรือบ่วงเงื่อนรูด

12. พฤติการณ์อาจเป็นไปได้ที่ผู้ตายไม่รู้สติแต่ยังไม่เสียชีวิต (ถูกทำให้สลบ) แล้วถูกจับมาแขวน (พาดไว้เท่านั้น) เพื่อเป็นการอำพรางคดี

13. ทรัพยสินของผู้ตายหายไปหมด เหลือแต่บัตรเครดิต และหนังสือเดินทางเท่านั้น

ประเด็นที่ 2: การวิเคราะห์กรณีผู้ตายตามอุทาหรณ์

จากประเด็นที่ 1 เกี่ยวกับสภาพศพของผู้ตายที่ถูกพบนั้นจึงเป็นไปได้หลายประการ หากจะนำ “วัตถุประสงค์แห่งการชันสูตรพลิกศพ” (มาตรา 154) มาปรับ

มาตรา 154 ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพทำความเห็นเป็นหนังสือแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้”

ในวัตถุประสงค์ดังกล่าวปรับเพื่อจำแนกกับผู้ตายรายนี้ได้ดังนี้

1. ผู้ตายคือใคร ยังไม่แน่ชัดว่าผู้ตายรายนี้เป็นใคร หากตรวจดูก็เชื่อแน่ว่าเป็นเชื้อชาติ “คอเคซอยด์” ซึ่งอาจเป็นคนในประเทศใดก็ได้ อีกทั้งยังอาจมิใช่คนตามบุคคลที่ถูกระบุไว้ในหนังสือเดินทางก็ได้ ประการที่น่าสงสัยก็อาจมีได้ เช่น การที่ผู้ตายเป็นคนแปลกถิ่นกับสถานที่ตาย การที่ผู้ตายมีรอยสักจำนวนมาก ทั้งที่หลังคอ หลัง ต้นแขน เป็นต้น ย่อมแสดงว่าผู้ตายอาจอยู่ในกลุ่มของบุคคลที่มีความเสี่ยงในเรื่องการประกอบอาชีพได้ ดังนั้น จึงยังต้องถือว่ามีเหตุที่น่าสงสัยในประการนี้อยู่ ยิ่งกว่านั้นกรณีที่เป็นคนต่างชาติแล้วสมควรอย่างยิ่งที่แพทย์จะต้องคิดถึงกรณีที่อาจเกิดขึ้น (ในทางร้ายแรง/ในทางลบ) ที่อาจเกิดขึ้น เช่น กรณีตัวปลอม หรือต้องการที่จะให้ระบุว่าคือผู้หนึ่งผู้ใดตามที่ต่างประเทศร้องขอมาโดยมีต้นแบบแห่งพันธุกรรมที่ถูกวิเคราะห์ไว้แล้วมาแสดง (prototype or standard of DNA anslysis)

2. ตายมานานแล้วเพียงใด ในประเด็นนี้เนื่องจากการตรวจศพเป็นการตรวจภายหลังจากที่พนักงานสอบสวนส่งมารับการชันสูตรเมื่อเวลาประมาณกว่า 6 ชั่วโมงหลังเสียชีวิตแล้ว ทำให้สภาพแห่งการตรวจพบทั้งการแข็งตัวของศพ การตกลงสู่เบื้องต่ำภายหลังเสียชีวิตของศพเป็นไปอย่างเต็มที่แล้ว จึงเป็นการยากที่จะบอกถึงเวลาอย่างชัดเจน แต่จำเป็นต้องดูประกอบกับช่วงเวลา “ที่ทำการชันสูตรเป็นสำคัญ” ซึ่งในเรื่องนี้สามารถทำได้

3. ตายที่ใด สถานที่ตายนั้นจำเป็นต้องประกอบกับสภาพการตรวจศพที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะบาดแผลที่ปรากฏที่คอ (รอยกด) ว่ามีลักษณะของปฏิกิริยาแห่งชีวิตหรือไม่ (vital reaction) เพื่อตัดประเด็นการที่ผู้ตายถูกทำให้ตายจากที่อื่นแล้วจับมาแขวนไว้ เสมือนกับการแขวนคอตนเอง ซึ่งในประการนี้จำเป็น อาจเป็นไปได้ที่ผู้ตายในขณะที่ถูกจับมาแขวนนี้ยังไม่ถึงแก่ความตาย จึงจำเป็นต้องพิจารณาประกอบกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เช่น การตรวจพบสารหรือสารพิษในร่างกายที่อาจเป็นสาเหตุแห่งการตาย หรือการไม่รู้สึกตัวหรือไม่ด้วย

4. สาเหตุแห่งการตาย จากสภาพ/สิ่งที่ตรวจพบน่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจากการขาดอากาศ จากการพบจุดเลือดออกในเยื่อบุตา การคั่งของเลือดในอวัยวะภายใน

5. พฤติการณ์แห่งการตาย

สรุป

การชันสูตรพลิกศพผู้ตายที่พบว่าถูกแขวนคออยู่ แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพอาจดูว่าเป็นการง่ายในการชันสูตรพลิกศพ แต่แท้ที่จริงแล้วแพทย์จำเป็นต้องคำนึงถึง “เหตุและผล” ตามมาตรา 154 ขณะที่ชันสูตรพลิกศพประกอบด้วยเสมอ โดยเฉพาะประเด็นที่อาจเกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ที่ตายจาก “ถูกฆาตกรรม” ซึ่งเมื่อแพทย์ตระหนักเช่นนั้นแล้ว หากเป็นกรณีที่เป็นชาวต่างชาติโดยเฉพาะคอเคซอยด์ (Caucasoid) แพทย์จำต้องส่งศพดังกล่าวเพื่อตรวจต่อเสมอ (ไม่มีข้อยกเว้น) ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและมาตรฐานทางการแพทย์ (ทางด้านนิติเวชศาสตร์) ของแพทย์ท่านนั้น และหากจำต้องเป็นผู้ตรวจศพต่อตามมาตรา 152 แล้ว แพทย์จำเป็นต้องตรวจและส่งตรวจเพื่อผลการตรวจที่สนับสนุน โดยเฉพาะแพทย์ต้องไม่ลืมเก็บส่วนของร่างกายเพื่อการบ่งชี้ตัวบุคคล (ดีเอ็นเอ) ไว้ด้วย

เอกสารอ้างอิง

1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf

2. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม พ.ศ. 2555)”.

3. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555.

4. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.