ใบส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อโดยพนักงานสอบสวน

ใบส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อโดยพนักงานสอบสวน

Document Sending by the Police to Physician for Complete Autopsy after Post-Mortem Inquest

นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์* *รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การส่งศพมายังสถานที่ หน่วยงาน หรือสถานพยาบาลของรัฐเพื่อรับการตรวจศพต่อภายหลังจากที่ได้มีการ “ชันสูตรพลิกศพ ณ ที่ที่พบศพ” (ภาพที่ 1) เรียบร้อยแล้วนั้นเป็นอำนาจสั่งการของผู้มีหน้าที่โดยตรงคือ หัวหน้าคณะในการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็น “พนักงานสอบสวน” นั่นเอง โดยที่แพทย์หาใช่เป็นผู้ที่มีอำนาจในการสั่งให้มีการส่งศพมาเพื่อรับการตรวจไม่ ทั้งนี้เพราะแพทย์ใช่หัวหน้าคณะ (ทีม) ในการชันสูตรพลิกศพนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ยังคงมีอำนาจทางอ้อมในการระบุให้พนักงานสอบสวนส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อได้โดยอาศัย “ข้อความในบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ” เป็นสำคัญ

 

……………การส่งศพมาเพื่อการ “ตรวจศพ” นั้น แพทย์ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า มิใช่เรื่องการ “ชันสูตรพลิกศพ” เพราะการชันสูตรพลิกศพต้องทำ ณ ที่ที่ศพถูกพบร่วมกับเจ้าพนักงานอื่นด้วย การนำส่งในครั้งนี้เป็นกระบวนการ “หลังจากที่ได้มีการชันสูตรพลิกศพเรียบร้อยแล้วแต่ยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพ” โดยเฉพาะในเรื่องสาเหตุแห่งการตายและพฤติการณ์แห่งการตาย…………..ฯลฯ

การส่งศพเพื่อรับการตรวจต่อ

1. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง:

เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 151 และมาตรา 152 ดังนี้1

มาตรา 151 ในเมื่อมีการจำเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพมีอำนาจสั่งให้ผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใด หรือจะให้ส่งทั้งศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้

มาตรา 152 ให้แพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลปฏิบัติดังนี้

(1) ทำรายงานถึงสภาพของศพ หรือส่วนของศพตามที่พบเห็นหรือตามที่ปรากฏจากการตรวจพร้อมทั้งความเห็นในเรื่องนั้น

(2) แสดงเหตุที่ตายเท่าที่จะทำได้

(3) ลงวันเดือนปีและลายมือชื่อในรายงาน แล้วจัดการส่งไปยังเจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ”

2. การนำส่งตรวจและแบบฟอร์ม

เราได้ทราบมาแล้วว่าแพทย์มิใช่เจ้าพนักงานผู้เป็นหัวหน้าคณะฯ ในการชันสูตรพลิกศพแม้ว่าจะเป็น “เจ้าพนักงานก็ตาม” แต่หัวหน้าคณะฯ จะหมายถึง “พนักงานสอบสวน” เป็นส่วนใหญ่ (กรณีชันสูตรพลิกศพการตายผิดธรรมชาติโดยทั่วไป) ตามมาตรา 1501

แบบฟอร์มที่พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) เขียนเพื่อให้นำศพมารับการตรวจต่อนั้น มีด้วยกัน 2 รูปแบบ

แบบฟอร์มที่ 1: (ภาพที่ 2)

ใช้แบบ “ใบนำส่งผู้บาดเจ็บหรือศพให้แพทย์ตรวจชันสูตร” ซึ่งเป็นแบบฟอร์มเฉพาะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ใช้เหมือนกันทั้งหมดทั่วประเทศไทย

แบบฟอร์มที่ 2: (ภาพที่ 3)

ใช้แบบหนังสือราชการคือ ทำเป็นหนังสือที่ออกจากส่วนราชการนั้น ๆ โดยตรง

3. เหตุผลที่ระบุเพื่อให้มีการส่งศพตรวจต่อ

การส่งศพมาเพื่อการ “ตรวจศพ” นั้น แพทย์ต้องเข้าใจเสียก่อนว่ามิใช่เรื่องการ “ชันสูตรพลิกศพ” เพราะการชันสูตรพลิกศพต้องทำ ณ ที่ที่ศพถูกพบร่วมกับเจ้าพนักงานอื่นด้วย การนำส่งในครั้งนี้เป็นกระบวนการ “หลังจากที่ได้มีการชันสูตรพลิกศพเรียบร้อยแล้วแต่ยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพ” โดยเฉพาะ ในเรื่องสาเหตุแห่งการตายและพฤติการณ์แห่งการตาย (ตามมาตรา 154 ประกอบมาตรา 151 และมาตรา 152)1

มาตรา 154 ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพทำความเห็นเป็นหนังสือแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำผิดเท่าที่จะทราบได้”

แท้ที่จริงแล้ว ในมาตรา 154 ได้ระบุถึง “วัตถุประสงค์แห่งการชันสูตรพลิกศพ” ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น แม้ว่าแพทย์จะได้ทำการชันสูตรพลิกศพเรียบร้อยแล้ว แต่หากยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในประการหลักของมาตรา 154 แพทย์ย่อมต้องสมควรส่งมารับการตรวจต่อ (มาตรา 152) ทุกราย ซึ่งหากจำแนกตามวัตถุประสงค์ในการชันสูตรพลิกศพ (รวมการตรวจศพ) แล้ว กรอบวัตถุประสงค์ของแพทย์อาจจำแนกได้ดังนี้

วัตถุประสงค์หลัก คือ (1) ผู้ตายคือใคร (2) ผู้ตายตายมานานแล้วเท่าใด และ (3) สาเหตุแห่งการตาย

วัตถุประสงค์รอง คือ (ก) สถานที่ตาย (ข) พฤติการณ์ที่ทำให้ตาย

ประการสำคัญที่สุดก็คือ เมื่อผ่านการชันสูตรพลิกศพแล้ว หากแพทย์ยังเห็นว่ารายละเอียดที่ได้จากการชันสูตรพลิกศพหลักยังไม่สมบูรณ์และเกรงว่าจะเกิดปัญหาในเรื่องมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม2,3,4 (แพทย์ต้องไม่ลืมว่าการชันสูตรพลิกศพถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้วย) แล้วแพทย์จำเป็นต้องให้มีการนำศพมารับการตรวจต่อทุกกรณีเพื่อความปลอดภัยของแพทย์เอง

พิจารณาวัตถุประสงค์แห่งการชันสูตรพลิกศพ (และตรวจศพ)

วัตถุประสงค์แห่งการชันสูตรพลิกศพตามมาตรา 154 นั้น ต้องถือว่าเป็น “วัตถุประสงค์ของกฎหมายในเรื่องการชันสูตรพลิกศพโดยแท้” แต่หากพิจารณาถึง “ผู้ที่มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ” ซึ่งก็คือ “เจ้าพนักงาน” ที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่ว่าจะเป็น (ก) การชันสูตรพลิกศพที่ตายผิดธรรมชาติโดยทั่วไปตามมาตรา 148 หรือ (ข) การชันสูตรพลิกศพที่ตายผิดธรรมชาติกรณีพิเศษคือ การตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือการตายที่อยู่ในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่แล้ว จะเห็นได้ว่ามีแพทย์ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ และเมื่อพิจารณาเฉพาะ “แพทย์” เท่านั้นในฐานะเจ้าพนักงานแล้ว จะเห็นได้ว่า

วัตถุประสงค์หลักของแพทย์:

วัตถุประสงค์หลักนี้ “น่าเชื่อว่า” หรือ “น่าจะเป็นหน้าที่ของแพทย์โดยตรง” กล่าวคือ สภาพแห่งศพตามวัตถุประสงค์ 3 ประการนี้ แพทย์จะเป็นผู้ที่ให้คำตอบ ทั้งนี้เป็นไปตาม “หลักเกณฑ์ทางการแพทย์” ทั้งสิ้น

. ผู้ตายเป็นใคร

ในเรื่องผู้ตายเป็นใครนี้ “มิได้หมายความว่า แพทย์จะต้องบอกชื่อเสียงเรียงนามของผู้ตายได้” แต่หมายความถึงแพทย์ต้องบอกได้ว่าผู้นั้นเป็นใครในทางการแพทย์ เช่น เพศ อายุ ลักษณะพิเศษแห่งโรค (ที่อาจมี) ลักษณะแห่งโรคหรือสภาวะแห่งการทำงาน เช่น ฟันบิ่น ต้นแขนอันเป็นที่เกาะของกล้ามเนื้อหนาขึ้นแสดงถึงการเป็นกรรมกร เป็นต้น

. ตายมานานแล้วเพียงใด

เป็นหลักในทางนิติเวชศาสตร์ที่แพทย์ต้องเป็นผู้ที่ให้คำตอบ แม้ว่าจะดูแล้วไม่สำคัญนัก แต่ก็ต้องถือว่า “สำคัญยิ่งในทางคดี” เพราะเวลาที่ตายจะมีประโยชน์ต่อพนักงานสอบสวนในการหาสถานที่อยู่ของผู้ตาย และจะเกี่ยวพันกับผู้ที่อยู่กับผู้ตายในขณะนั้น ๆ เป็นต้น

. สาเหตุแห่งการตาย

เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับแพทย์ และต้องอาศัยแพทย์เท่านั้นในการให้ “คำตอบ” นี้ในทางคดี

วัตถุประสงค์รองของแพทย์:

ส่วนวัตถุประสงค์รองนี้น่าจะมิใช่หน้าที่ของแพทย์ ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าน่าจะเป็นหน้าที่หลักของ “พนักงานสอบสวน” ในฐานะที่มีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนตามมาตรา 131 นั่นเอง

มาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา”

หมายเหตุ:

เมื่อวัตถุประสงค์หลักของแพทย์ยังไม่บรรลุคือ แพทย์ยังไม่สามารถให้คำตอบได้แล้ว แพทย์จำเป็นต้องส่งศพเพื่อการ “ตรวจต่อ” (มาตรา 151 ประกอบมาตรา152)1 อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

อุทาหรณ์ย่อย:

เคยมีกรณีเกิดขึ้นกับแพทย์ใช้ทุนในคณะแพทย์หนึ่งที่เข้ามาแจ้งในห้องประชุมได้รับทราบ กรณีที่ทางสถาบันดังกล่าวได้จัดให้มีการ “เปิดใจ” หรือที่เรียกว่า “Ventilation” เพื่อให้ได้รับทราบถึงผลแห่งการเรียนการสอนที่คณะแพทย์นั้นได้ให้กับบัณฑิต (แพทย์) เมื่อแพทย์ต้องออกไปประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ใช้ทุน) จริง ๆ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น ซึ่งมีแพทย์ที่ใช้ทุนท่านหนึ่งได้กล่าวถึง “การชันสูตรพลิกศพโครงกระดูกที่ต้องไปชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวน” และได้ตั้งคำถามว่า “ต้องทำการส่งตรวจต่ออีกหรือไม่เพียงใด” ทำให้ทราบว่าแพทย์ดังกล่าวยังไม่ทราบถึง “หน้าที่แห่งตนโดยแท้” โดยเฉพาะในส่วนที่แพทย์มีหน้าที่ “ต้องทำให้เกิดความกระจ่างในวัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพโดยเฉพาะในวัตถุประสงค์หลัก” เมื่อแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพแล้วยังไม่ทราบเลยว่า

ก. ผู้ตายเป็นใคร (พิจารณาวัตถุประสงค์แห่งการชันสูตรพลิกศพตามที่กล่าวมาแล้ว) (มิใช่เพียงแต่ชื่อ และ/หรือนามสกุลของผู้ตายเพียงอย่างเดียว) เพราะหากเป็นชื่อของผู้ตายเท่านั้นแล้ว แพทย์ย่อมต้องกล่าวว่าถึงอย่างไรเสีย แพทย์ก็ไม่ทราบชื่อได้หมดเป็นแน่แท้ แต่ความหมายที่ว่า “ผู้ตายเป็นใครในที่นี้นั้น” หมายถึง คำตอบของแพทย์ในทางการแพทย์ดังที่กล่าวแล้ว กล่าวคือเมื่อแพทย์ยังไม่ทราบว่าผู้ตายเป็นใครย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้วที่จะต้องส่งศพเพื่อรับการตรวจต่อ (มาตรา 151 และมาตรา 152) ทั้งนี้ยังอาจต้องหมายถึงการที่แพทย์ต้องส่งตรวจต่อ (investigation) เพื่อหาถึงขั้นตอนการตรวจอย่างซับซ้อน เช่น การตรวจหาดีเอ็นเอ (DNA จากในแกนของกระดูกยาวคือ Medulla) ด้วย เมื่อหน้าที่ของแพทย์ยังไม่สิ้นสุด ภายหลังจากการชันสูตรพลิกศพจึง “ต้อง” ทำการส่งศพตรวจต่ออย่างแน่นอน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ในด้านนิติเวชศาสตร์) นั่นเอง2,3,4

ข. ผู้ตายตายมานานแล้วเพียงใด ก็เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบโดยเฉพาะจากแพทย์ ซึ่งแน่นอนที่สุดเมื่อแพทย์ยังไม่สามารถให้คำตอบในเรื่อง วัน เวลา ในการเสียชีวิตได้แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่แพทย์จะ “ไม่ส่งศพเพื่อรับการตรวจต่อ (มาตรา 152)”

ค. สาเหตุแห่งการตายเป็นประเด็นสำคัญ เพราะแพทย์ดูแต่โครงกระดูกย่อมไม่ละเอียดอย่างแน่นอน เนื่องจากในการชันสูตรพลิกศพถือว่าใช้เวลาอันสั้นมาก อีกทั้งยังไม่มีเครื่องมือช่วยอย่างเพียงพอในการที่จะให้คำตอบ (ทางการแพทย์) ในประการนี้ จึงจำเป็นต้องส่งศพเพื่อรับการตรวจต่อ (มาตรา 152) อย่างแน่นอน

สรุป:

คำตอบในกรณีอุทาหรณ์ของแพทย์ใช้ทุน (แพทย์เพิ่มพูนทักษะ) ที่กล่าวข้างต้นนั้นก็คือ เมื่อแพทย์ได้ทำการชันสูตรพลิกศพโครงกระดูกดังกล่าวแล้ว แพทย์ “จำต้อง” ให้พนักงานสอบสวนส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อ (มาตรา 151 และมาตรา 152) อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

 

แพทย์จะทำประการใดเพื่อให้พนักงานสอบสวนส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อ (มาตรา 151 และมาตรา 152)1

ภายหลังจากการที่แพทย์ได้ทำการชันสูตรพลิกศพร่วมกับ “เจ้าพนักงานอื่น” เรียบร้อยแล้ว (แล้วแต่กรณีว่าจะเป็น 2 หรือ 4 ฝ่าย) หากแพทย์เห็นว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องส่งศพเพื่อรับการตรวจต่อแล้ว ย่อมเป็นการไม่ยากที่จะทำให้ “พนักงานสอบสวนต้องส่งศพมาเพื่อรับการตรวจ”

ประการที่ 1: แนวทางปฏิบัติ

การที่จะให้พนักงานสอบสวนส่งศพมาตรวจต่อนั้นอาจทำได้ง่าย ๆ คือ การที่แพทย์ระบุไว้ใน “บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ” ดังนี้

ก. ในช่องว่างของ “สาเหตุการตาย” ให้แพทย์ระบุว่า “ยังมิปรากฏเหตุตายชัดเจน”

ข. ในช่องการดำเนินการกับศพ ให้แพทย์ระบุว่า “ให้ส่งศพเพื่อรับการตรวจต่อ” (มาตรา 152) นั่นเอง

ประการที่ 2: เหตุผลที่แพทย์ระบุดังกล่าวข้างต้นจะเป็นเหตุให้ต้องมีการส่งศพเพื่อการตรวจต่อ

กรณีแห่งข้อสงสัย:

แพทย์อาจสงสัยว่า เหตุใดการที่แพทย์ระบุไว้ใน “บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ” เพียงเท่าที่กล่าวนั้นแล้ว จะเป็นเหตุให้ “พนักงานสอบสวน” ต้องส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อ ในประการนี้คำตอบอยู่ที่ “กระบวนการดำเนินการต่อจากการชันสูตรพลิกศพ” ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายอีกฉบับหนึ่งคือ “พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534”5 นั่นเอง เพราะในมาตรา 25 ระบุดังนี้

มาตรา 25 ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าคนตายด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือตายโดยผิดธรรมชาติ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งรีบแจ้งต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และให้รอการออกมรณบัตรไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานดังกล่าว”

ตัวอย่างที่ 1: การที่แพทย์ได้ระบุไว้ว่า “ยังมิปรากฏเหตุที่ตาย” ก็หมายความว่า “ยังไม่ทราบสาเหตุแห่งการตาย” ย่อมทำให้นายทะเบียนตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 25345 ไม่สามารถที่จะออก “มรณบัตร” (ภาพที่ 4) ได้

ตัวอย่างที่ 2: แพทย์เขียนเอกสารใน “ใบรับแจ้งการตาย” (ภาพที่ 5) ในส่วนของภาษาอังกฤษที่เป็นตัวพิมพ์ครบถ้วนอันสามารถที่จะทราบถึงสาเหตุแห่งการตายได้แล้ว แต่แพทย์มิได้ระบุในภาษาไทยว่า “ชราภาพ” อันเป็นสาเหตุแห่งการตายในภาษาไทย เพียงเท่านี้นายทะเบียนยังต้องให้ญาติของผู้ป่วยนำเอกสารดังกล่าวกลับมาให้แก่แพทย์เพื่อดำเนินการให้ครบถ้วนเสียก่อนเพราะถือว่าใบรับแจ้งการตายยังไม่สมบูรณ์

ข้อสังเกต:

ในปัจจุบันนี้การเป็นเจ้าพนักงาน (หมายถึงทุกระดับ หรือในระดับต่าง ๆ) ย่อมต้องระวังการปฏิบัติงานในหน้าที่แห่งตน เพื่อมิให้เข้าในทำนองที่ว่า “ประมาท” หรือ “บกพร่องในหน้าที่” อันอาจเข้าข่ายกรณีมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้

มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ผลที่ตามมาเมื่อแพทย์ไม่ได้ระบุสาเหตุการตาย:

เมื่อแพทย์มิได้ระบุเหตุแห่งการตาย นายทะเบียนก็ย่อมไม่สามารถที่จะออก “มรณบัตร” ได้

มาตรา 26 ให้นายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น แล้วแต่กรณีจัดทำทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย จากสูติบัตรและมรณบัตรตามแบบพิมพ์และวิธีการที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด”

ผลที่เกิดก็คือ ทำให้กระบวนการในการจัดการกับศพนั้นต้องมีอันหยุดชะงัก เช่น

(1) การเคลื่อนย้ายศพ

(2) การจะเผา หรือฝังตามประเพณี

(3) การเรียกร้องสิทธิ เช่น ในด้านฌาปณกิจสงเคราะห์

(4) การคัดชื่อออกจากทะเบียนบ้าน

(5) การเรียกร้องสิทธิอื่น ๆ

จะเห็นได้ว่า การขาดซึ่ง “มรณบัตร” (ภาพที่ 4) ไม่อาจดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ มากมาย และมรณบัตรก็ต้องโยงกับ “ใบรับแจ้งการตาย (ข้อสันนิษฐานสาเหตุการตายโดยแพทย์)” (ภาพที่ 5) หรือ “หนังสือรับรองการตาย” (ภาพที่ 6) แล้วแต่กรณีนั่นเอง

จึงเห็นได้ว่า การที่แพทย์เพียงระบุไว้ใน “บันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพ” ว่า “ยังไม่ปรากฏสาเหตุแห่งการตาย” และ ให้นำศพมารับการตรวจต่อแล้ว พนักงานสอบสวน (หรือผู้มีหน้าที่อื่น) ย่อมต้องส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อนั่นเอง

ประเด็นสำคัญ

1. การที่แพทย์ยังไม่อาจระบุสาเหตุแห่งการตายได้ แพทย์ “จะต้อง” ไม่ออกหนังสือรับรองการตายหรือใบรับแจ้งการตายที่ระบุถึงสาเหตุการตายไว้ “เด็ดขาด”

2. แพทย์จะต้องไม่ “มีปากเสียง (ทะเลาะ/โต้แย้ง)” กับญาติของผู้ตาย และ/หรือพนักงานสอบสวน, พนักงานอื่น เรื่องการขอให้ส่งศพตรวจ กล่าวคือ แพทย์แจ้งแต่เพียงว่า “ยังไม่ทราบสาเหตุการตายอย่างชัดเจน และจำเป็นต้องส่งศพเพื่อรับการตรวจ” แพทย์ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้เกิดความเข้าใจ/หรือเสียเวลาไปกับการอธิบายให้ญาติต่าง ๆ ของผู้ตายได้เข้าใจ

แนวทางปฏิบัติ:

ก. แพทย์อาจแจ้งเพียงต่อพนักงานสอบสวนว่า ขอให้ส่งศพเพื่อรับการตรวจต่อ และพนักงานสอบสวน (ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมในการชันสูตรพลิกศพ) และมีอำนาจอย่างเต็มที่ (กรณี 2 ฝ่าย) ก็จะเป็นผู้ดำเนินการต่อเอง หรือหากเป็น 4 ฝ่ายแล้ว พนักงานอัยการก็จะแจ้งให้พนักงานสอบสวนนำศพเพื่อรับการตรวจต่อเช่นเดียวกัน โดยที่แพทย์มิต้อง “ทะเลาะ/โต้แย้ง” หรือมีเรื่องราวกับญาติของผู้ตายกรณีที่ญาติของผู้ตายไม่ต้องการให้นำศพมาเพื่อการรับการตรวจด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดก็ตาม (ต้องไม่ลืมว่าไม่มีใครต้องการให้ญาติของตนที่เสียชีวิตแล้วทำการตรวจศพต่อ แต่เหตุที่ต้องดำเนินการเพราะเหตุผลทางด้านกฎหมาย “คดี”)

ข. หากเป็นกรณีที่ผู้ตายนับถือศาสนาอิสลาม หรือศาสนาอื่นที่มีข้อตกลงกับหน่วยงานในภาครัฐอย่างเป็นหลักฐานแล้ว แพทย์ยังคงต้องให้มีการนำศพมาตรวจต่อเช่นเดียวกัน แต่กระบวนการดำเนินการกับศพในการนำศพมาตรวจต่อ (มาตรา 152) ต้องหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่อาจขัดกับหลักของศาสนาให้มากที่สุด เช่น (1) อาจดำเนินการตรวจศพจากภายนอกอย่างละเอียดอีกครั้ง

(2) จำเป็นต้องตรวจด้วยเครื่องมือ เช่น อัลตราซาวนด์ หรือเอกซเรย์ เพื่อเป็นหลักฐาน

(3) จำเป็นต้องส่งเลือด และ/หรือปัสสาวะ ในการวิเคราะห์หรือสารผิดปกติ

สรุป

การที่แพทย์ได้ทำการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตที่ถูกแจ้งว่า “ตายผิดธรรมชาติ” นั้น เมื่อแพทย์เห็นว่ายังไม่บรรลุวัตถุประสงค์แห่งการชันสูตรพลิกศพอย่างเพียงพอ ซึ่งอาจกระทบถึง “ตำแหน่งหน้าที่แห่งตน” ในฐานะที่ตนเป็น “เจ้าพนักงานตามกฎหมายแล้ว” แพทย์สมควรดำเนินการให้มีการส่งศพมายังสถานที่ (โรงพยาบาล) ที่สามารถทำการตรวจต่อ (มาตรา 151 และมาตรา 152) ทั้งนี้พนักงานสอบสวนจะเป็นผู้เขียนใบนำส่งศพดังกล่าว (ได้รับการชันสูตรพลิกศพไว้แล้ว) มายังสถานที่ที่สามารถตรวจได้ โดยแบบฟอร์ที่นำส่งจะมีด้วยกัน 2 แบบ

เอกสารอ้างอิง

1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf

2. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม พ.ศ. 2555)”.

3. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555.

4. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.

5. พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108/ตอนที่ 203/ฉบับพิเศษ หน้า 97/22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534.