ผลของ Everolimus ต่อการรอดชีวิตในมะเร็งตับระยะลุกลามหลัง Sorafenib

ผลของ Everolimus ต่อการรอดชีวิตในมะเร็งตับระยะลุกลามหลัง Sorafenib

JAMA. 2014;312(1):57-67.

บทความเรื่อง Effect of Everolimus on Survival in Advanced Hepatocellular Carcinoma after Failure of Sorafenib: The EVOLVE-1 Randomized Clinical Trial รายงานว่า นอกจาก sorafenib ซึ่งเป็น multikinase inhibitor แล้ว ปัจจุบันยังคงไม่มี systemic therapy อื่นที่ให้ผลดีในการรักษามะเร็งตับระยะลุกลาม นักวิจัยดำเนินการศึกษา EVOLVE-1 เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของ everolimus ในผู้ป่วยมะเร็งตับระยะลุกลามซึ่งล้มเหลวจากการรักษาด้วย sorafenib โดยศึกษาจากผู้ป่วย 546 คนซึ่งเป็นมะเร็งตับระยะ B หรือ C ตาม Barcelona Clinic Liver Cancer และมีสภาพการทำงานของตับระดับ Child-Pugh A และผู้ป่วยเป็นมะเร็งลุกลามระหว่าง หรือหลังการรักษาด้วย sorafenib หรือไม่สามารถรักษาด้วย sorafenib

การศึกษารวบรวมผู้ป่วยจาก 17 ประเทศระหว่างเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2010 ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2012 การสุ่มแบ่งตามภูมิภาค (เอเชีย vs ภูมิภาคอื่น) และการลุกลามไปยังหลอดเลือดขนาดใหญ่ (พบ vs ไม่พบ) โดยให้ everolimus 7.5 มก./วัน หรือยาหลอกร่วมกับการรักษาประคับประคองและให้ยาต่อเนื่องจนกระทั่งมะเร็งลุกลามหรือไม่สามารถทนต่อการรักษาได้ ซึ่งมีผู้ป่วยได้รับ everolimus 362 คน และได้รับยาหลอก 184 คน ทั้งนี้ primary endpoint ได้แก่ การรอดชีวิตโดยรวม และ secondary endpoints ประกอบด้วย ระยะเวลาจนถึงพบการลุกลาม และ disease control rate (ร้อยละของผู้ป่วยที่มีการตอบสนองดีที่สุดทั้ง complete หรือ partial response หรือ stable disease)

จากการศึกษาไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญด้านการรอดชีวิตโดยรวมระหว่างทั้งสองกลุ่ม โดยพบผู้ป่วยเสียชีวิต 303 คน (83.7%) ในกลุ่ม everolimus group และ 151 คน (82.1%) ในกลุ่มยาหลอก (hazard ratio [HR] 1.05; 95% CI 0.86-1.27; p = 0.68; median overall survival, 7.6 months with everolimus, 7.3 months with placebo) มัธยฐานเวลาจนถึงพบการลุกลามจาก everolimus และยาหลอกเท่ากับ 3.0 และ 2.6 เดือน (HR 0.93; 95% CI 0.75-1.15) และ disease control rate เท่ากับ 56.1% และ 45.1% ตามลำดับ (p = 0.01) อาการไม่พึงประสงค์ grade 3/4 ที่พบบ่อยสำหรับ everolimus vs ยาหลอก ได้แก่ เลือดจาง (7.8% vs 3.3%), ผอมแห้ง (7.8% vs 5.5%) และเบื่ออาหาร (6.1% vs 0.5%) แต่ไม่พบผู้ป่วยที่เชื้อไวรัสตับอักเสบซีกำเริบ ผลจากห้องปฏิบัติการกลางพบการปลุกฤทธิ์กลับคืนมาของไวรัสตับอักเสบบีในผู้ป่วย 39 คน (29 everolimus, 10 placebo) ซึ่งทั้งหมดไม่มีอาการ แต่ผู้ป่วย 3 คนที่ได้ everolimus หยุดการรักษา

การรักษาด้วย everolimus ไม่ได้เพิ่มการรอดชีวิตโดยรวมในผู้ป่วยมะเร็งตับระยะลุกลาม ซึ่งเกิดมะเร็งลุกลามระหว่างหรือหลังได้รับ sorafenib หรือไม่สามารถรับยา sorafenib