การออกกำลังกายและพฤติกรรมเคลื่อนไหวน้อย ต่อความเสี่ยงเบาหวานชนิดที่ 2 ในหญิงเบาหวานตั้งครรภ์
JAMA Intern Med. 2014;174(7):1047-1055.
บทความเรื่อง Physical Activity and Sedentary Behaviors Associated with Risk of Progression from Gestational Diabetes Mellitus to Type 2 Diabetes Mellitus: A Prospective Cohort Study รายงานว่า ผู้หญิงที่มีประวัติภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งการระบุปัจจัยสำคัญที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อาจช่วยป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในประชากรกลุ่มความเสี่ยงสูง
นักวิจัยศึกษาบทบาทของการออกกำลังกาย และการดูโทรทัศน์และพฤติกรรมที่ทำให้เคลื่อนไหวน้อย และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมดังกล่าวต่อการลุกลามของภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยศึกษาแบบ prospective cohort study จากผู้หญิง 4,554 คนในการศึกษา Nurses’ Health Study II ซึ่งมีประวัติภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์อันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา Diabetes & Women’s Health Study โดยติดตามระหว่างปี ค.ศ. 1991-2007
นักวิจัยประเมินการออกกำลังกาย และการดูโทรทัศน์และพฤติกรรมที่ทำให้เคลื่อนไหวน้อยในปี ค.ศ. 1991, 1997, 2001 และ 2005 โดยผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งผู้ป่วยรายงานและยืนยันด้วยแบบสอบถาม
มีรายงานการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 635 รายระหว่างการติดตามเป็นระยะ 59,287 person-years การออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้นทุก 5 metabolic equivalent hours per week (MET-h/wk) ซึ่งเทียบเท่ากับการออกกำลังกายปานกลาง 100 นาทีต่อสัปดาห์ สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลง 9% ต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (adjusted relative risk [RR] 0.91; 95% CI 0.88-0.94) ซึ่งความสัมพันธ์แบบกลับนี้ยังคงมีนัยสำคัญหลังปรับตามดัชนีมวลกาย นอกจากนี้การออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้นยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เมื่อเทียบกับผู้หญิงซึ่งมีระดับการออกกำลังกายคงเดิมพบว่า ผู้หญิงที่มีระดับการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น 7.5 MET-h/wk หรือมากกว่า (เทียบเท่าการออกกำลังกายปานกลาง 150 นาทีต่อสัปดาห์) มีความเสี่ยงต่ำลง 47% ต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (RR 0.53; 95% CI 0.38-0.75) ซึ่งความสัมพันธ์นี้ยังคงมีนัยสำคัญหลังปรับตามดัชนีมวลกาย ค่า multivariable adjusted RRs (95% CIs) สำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่สัมพันธ์กับการดูโทรทัศน์นานสัปดาห์ละ 0-5, 6-10, 11-20 และ 20 ชั่วโมงหรือมากกว่าเท่ากับ 1 (reference), 1.28 (1.04-1.59), 1.41 (1.11-1.79) และ1.77 (1.28-2.45) ตามลำดับ (p value for trend < 0.001) และการปรับตามดัชนีมวลกายลดความสัมพันธ์ดังกล่าว
การออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้นอาจลดความเสี่ยงต่อการลุกลามจากภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ผลลัพธ์จากการศึกษานี้อาจเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับผู้หญิงที่มีประวัติภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์อันเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในการปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน