ยาสมาธิสั้น/ไฮเปอร์และพฤติกรรมฆ่าตัวตาย
BMJ 2014;348:g3769.
บทความเรื่อง Drug Treatment for Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder and Suicidal Behaviour: Register Based Study รายงานข้อมูลจากการศึกษาซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการรักษาด้วยยาสำหรับภาวะสมาธิสั้น/ไฮเปอร์ (ADHD) และความเสี่ยงพฤติกรรมฆ่าตัวตายในผู้ป่วยสมาธิสั้น โดยศึกษาจากฐานข้อมูลในสวีเดนครอบคลุมผู้ป่วย ADHD 37,936 คน ซึ่งเกิดระหว่างปี ค.ศ. 1960-1996 และติดตามสถานการณ์การรักษาด้วยยา ADHD และเหตุการณ์การฆ่าตัวตาย (พยายามฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตายสำเร็จ) ระหว่างปี ค.ศ. 2006-2009
ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ อัตราอุบัติการณ์ของเหตุการณ์การฆ่าตัวตายระหว่างการรักษาด้วยยา ADHD เทียบกับเหตุการณ์ในช่วงที่ไม่ได้รับการรักษา
มีรายงานเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย 7,019 ครั้ง ระหว่างการติดตาม 150,721 person-years ที่ระดับประชากรพบว่า การใช้ยา ADHD สัมพันธ์กับอัตราที่เพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตาย (hazard ratio 1.31, 95% CI 1.19-1.44) อย่างไรก็ดี จากการเปรียบเทียบในกลุ่มผู้ป่วยพบความสัมพันธ์แบบกลับระหว่างการรักษาด้วยยาและอัตราของเหตุการณ์การฆ่าตัวตาย (0.89, 0.79-1.00) ในผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่ม stimulant พบอัตราที่ต่ำลงของเหตุการณ์การฆ่าตัวตายระหว่างระยะการรักษาด้วยยา (0.81, 0.70-0.94) และในผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่ม non-stimulant หรือใช้ยาผสมกันก็ไม่พบอัตราที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของเหตุการณ์การฆ่าตัวตายระหว่างการรักษาด้วยยากลุ่ม non-stimulant (0.96, 0.72-1.30)
ข้อมูลจากการศึกษานี้ไม่พบหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยา ADHD และความเสี่ยงพฤติกรรมฆ่าตัวตายในผู้ป่วย ADHD และผลลัพธ์ยังชี้ว่ายา ADHD อาจมีประสิทธิภาพป้องกันพฤติกรรมฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะยากลุ่ม stimulant