การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน โอกาสรอดในนาทีวิกฤติ
การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Cardio Pulmonary Resuscitation: CPR) ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในภาคประชาชน เพราะผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันส่วนใหญ่เกิดขึ้นนอกโรงพยาบาล รวมทั้งผู้ที่จมน้ำ อุบัติเหตุ หรือถูกไฟฟ้าช็อต ดังนั้น ผู้ที่พบผู้ป่วยเป็นคนแรกคือประชาชน หากประชาชนมีความรู้ทางด้าน CPR ก็จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที เพราะเมื่อหัวใจหยุดเต้น เวลาทุกวินาทีมีค่าทันที การจะรอให้ผู้ป่วยถึงมือแพทย์จึงเป็นอะไรที่สายเกินไป
หากประชาชนพบเห็นผู้ป่วยแล้วทำการ CPR และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (Automated External Defibrillator: AED) อย่างถูกวิธีจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะฟื้นกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานจะมีความสำคัญ แต่ในประเทศไทยกลับมีผู้ที่เคยผ่านการอบรมทางด้านนี้น้อยนับคนได้ คือไม่ถึง 1% แต่ยังมีองค์กรที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการจัดฝึกอบรมดังกล่าวเท่าที่แรงกำลังจะมี โดยจัดอบรมทั้งในภาคของบุคลากรทางการแพทย์ และภาคประชาชน โดยหวังให้กิจกรรมดังกล่าวสร้างผู้มีความรู้แม้เพียงหนึ่งคนเพื่อต่อยอดไปสู่การช่วยชีวิตคนในครอบครัว ญาติมิตร หรือผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ต่อไป
ล่าสุด คณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิตแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกับเครือข่ายสุขภาพโรงพยาบาลสิชล-โรงพยาบาลขนอม และบริษัท เซนต์เมดิคอล (คริติคอล แคร์) จำกัด จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน พร้อมการใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า Basic Life support with AED ณ โรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช
พ.ต.อ.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิตแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สถิติของผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในประเทศไทยนั้นยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด เนื่องจากยังไม่มีระบบเก็บข้อมูลที่ดีพอ โดยสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในประเทศไทยเหมือนกับทั่วโลกคือ ในผู้ใหญ่จะมาจากโรคหัวใจเป็นหลัก แต่สำหรับเด็กจะมาจากการนำสิ่งของไปอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือเด็กที่มีโรคประจำตัวที่รุนแรง
ทั้งนี้ผู้ที่มีส่วนสำคัญที่สุดในการช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนั้นคือ ประชาชน เนื่องจากผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นนอกโรงพยาบาลในอัตราส่วน 60 : 40 เพราะฉะนั้นผู้ที่สำคัญที่สุดก็คือผู้ที่ยืนอยู่ข้าง ๆ ผู้ป่วย นั่นก็คือประชาชนทุกคนนั่นเอง
การทำ CPR ไม่ได้ช่วยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคหัวใจเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยเหลือผู้ที่จมน้ำ หรือผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อตได้ด้วย ด้วยเหตุนี้ในต่างประเทศจึงตั้งเป้าหมายที่จะให้ประชาชนทุกคนมีความรู้เรื่อง CPR อย่างในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2553 พบว่าประชาชนได้เรียน CPR ถึง 60 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของประชาชนทั้งประเทศ ส่วนญี่ปุ่นและเกาหลีมีถึง 40-50% โดยที่เกาหลี กฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะมีใบขับขี่จะต้องเรียน CPR ก่อน แต่สำหรับในประเทศไทยมีไม่ถึง 1% ที่มีความรู้ทางด้าน CPR
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทำ CPR โดยการกดหน้าอกและเป่าปากจะมีความสำคัญ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกลับมาหัวใจเต้นปกติได้ทุกคน จำเป็นจะต้องใช้เครื่อง AED ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ประชาชนที่ได้รับการอบรมสามารถใช้ได้ โดยในต่างประเทศจะมีเครื่อง AED ติดตั้งตามที่สาธารณะทั่วไป อย่างเช่น ในญี่ปุ่นที่มีกว่า 4-5 แสนเครื่อง ทั้งในรถแท็กซี่ สถานีรถไฟ สนามบิน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และยังมีการบรรจุหลักสูตรการใช้เครื่อง AED ในโรงเรียนอีกด้วย
สำหรับในประเทศไทย การติดตั้งเครื่อง AED ในที่สาธารณะยังมีจำนวนน้อย แต่ทางคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิตแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกับบริษัท เซนต์เมดิคอล (คริติคอล แคร์) จำกัด นำเครื่อง AED ไปติดตั้งในที่สาธารณะต่าง ๆ อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว และในอนาคตวางแผนที่จะนำไปติดตั้งที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และขยายโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง
“ความรู้ในการ CPR และใช้เครื่อง AED เป็นเรื่องสำคัญ การทำ CPR โดยการกดหน้าอกทันทีเมื่อพบผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจผู้ป่วย แต่ไม่ได้ทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ การช็อกด้วยเครื่อง AED จะทำให้หัวใจที่เต้นไม่เป็นจังหวะหรือพลิ้ว ไม่มีการบีบตัวกลับมาเต้นเป็นจังหวะได้ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ซึ่งเครื่อง AED สามารถที่จะใช้ได้ในประชาชนทั่วไปที่ได้รับการฝึกอบรม เท่ากับว่าเมื่อไหร่ที่เรามี AED หรือใช้ AED เป็น ประชาชนของเราจะมีศักยภาพในการทำ CPR การกดหน้าอกช่วยหายใจ และทำให้หัวใจกลับมาเต้นอีกครั้งหนึ่งได้”
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลสิชลให้ความสำคัญกับเรื่อง CPR มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 หลังจากไปศึกษาดูงานด้านการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นแรงบันดาลใจให้นำแนวคิดดังกล่าวมาขยาย โดยพยายามผลักดันให้ทางโรงพยาบาลมีความพร้อมในการกู้ชีพในทุกแผนก มีการอบรมฟื้นฟูวิชาการแก่บุคลากรทางการแพทย์ปีละ 2 ครั้ง เป็นอย่างน้อย รวมทั้งปูพื้นให้แก่บุคลากรทุกระดับของโรงพยาบาล และในจุดที่มีประชาชนมารวมตัวกันมาก ๆ ก็ได้จัดให้มีเครื่องมือด้านการกู้ชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด
“ปัจจุบันทางโรงพยาบาลสิชลมีเครื่อง AED ในรถพยาบาลทั้งหมด 4 คัน ซึ่งเป็นรถกู้ชีพฉุกเฉินทั้งหมด และอีก 8 เครื่องติดตั้งไว้ในจุดที่มีประชาชนและเจ้าหน้าที่รวมกลุ่มกันมาก ๆ เพื่อให้ทันท่วงทีหากเกิดกรณีฉุกเฉิน อาทิ บ้านพักเจ้าหน้าที่ ห้องอาหาร แผนกผู้ป่วยนอกต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาอีกก้าวหนึ่งของโรงพยาบาลสิชล”
ในอนาคตจะมีการประสานกับท้องถิ่น อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล โดยแต่ละแห่งจะต้องมีเครื่อง AED อย่างน้อย 1 เครื่องให้ได้ในปี พ.ศ. 2557 นี้ และจะต้องพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ทางด้าน CPR และการใช้เครื่อง AED เพื่อสร้างนักกู้ชีพไปดูแลในจุดที่มีประชาชนไปรวมตัวกันมาก ๆ เช่น การแข่งกีฬา การจัดกิจกรรมต่าง ๆ จะต้องมีนักกู้ชีพประจำอยู่ มีเครื่อง AED สะพายไป มีปลอกแขนเป็นสัญลักษณ์ รวมทั้งขยายไปถึงระดับประชาชนทั่วไป ผ่านเครือข่ายของแกนนำครอบครัว ซึ่งทางโรงพยาบาลสิชลได้เคยทำเรื่องหมอยาประจำบ้านในปี พ.ศ. 2540 โดยจะคัดเลือกแกนนำ 1 คนต่อ 1 ครอบครัวมาให้ความรู้ทางด้านการดูแลสุขภาพเบื้องต้น เพื่อรุกเข้าไปในครอบครัว สร้างให้บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ดูแลชีวิตในยามฉุกเฉินต่อไป
“ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นเรื่องของนาทีชีวิต ในประเทศไทยถือว่ายังมีการลงทุนทางด้านนี้ซึ่งเป็นการลงทุนแบบป้องกันน้อยมาก ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารคิดว่าตรงนี้สำคัญหรือไม่ แต่ผมมองว่า ทุกชีวิตมีความหมาย ทุกนาทีมีความหมาย และมีงานวิจัยต่าง ๆ มากมายพิสูจน์แล้วว่าการช่วยชีวิตฉุกเฉินไม่จำเป็นต้องอยู่ในมือแพทย์หรือพยาบาล และการใช้เครื่อง AED ก็ถือว่าราคาไม่สูงมากนัก แต่สามารถจัดการนาทีชีวิตของคนได้ อยากให้ผู้บริหารท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนเรื่องสุขภาพ เรื่องสาธารณสุขอย่างจริงจัง เพราะจะทำให้พี่น้องประชาชนมีความปลอดภัยมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้มีความรู้ทางด้าน CPR ไม่ถึง 1% แต่หากมองในระดับจังหวัดแล้วมีจังหวัดต้นแบบอย่างชุมพรที่มีประชาชนผ่านการอบรมทางด้าน CPR ถึง 1-2% ช่วยผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมาแล้วกว่า 10 ราย โดยแกนนำในเรื่องดังกล่าวคือทีมพยาบาลจากโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ที่ริเริ่มโครงการฝึกอบรม BLS ภาคประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทำโครงการแก้มลิงทำให้โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ไม่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมอีกต่อไป โดยร่วมมือกับคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิตแห่งประเทศไทย จัดการอบรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ผลของโครงการทำให้ผู้ที่ผ่านการอบรมนำความรู้ไปช่วยเหลือชีวิตผู้อื่นกว่า 10 ราย มีการกระจายความรู้ลงสู่ภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด รวมทั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จดูงานโครงการดังกล่าวอีกด้วย
คุณพัชทิยา ทัศนพิมล พยาบาลชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กล่าวว่า หากให้ความรู้แก่ประชาชนทางด้าน CPR ผู้ที่ผ่านการอบรมเหล่านี้ก็จะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันให้รอดชีวิตได้ โดยตั้งแต่เริ่มโครงการมีผู้ผ่านการอบรมแล้วกว่า 5,000 คน ซึ่งถ้าหากบุคลากรทางการแพทย์หรือประชาชนใช้เครื่อง AED เป็น จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตขึ้นอีกมาก
“จากประสบการณ์ มีผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่หน้าคลินิกแพทย์ ได้ทำการ CPR แล้วใช้เครื่อง AED ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เนื่องจากถ้าบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เคยผ่านการอบรมมาก็จะยึดแนวทางเดิม คือจะให้แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจก่อน แล้วค่อยนึกถึงเรื่องหัวใจ ทั้งที่ส่วนใหญ่แล้วในกลุ่มผู้ใหญ่ เมื่อเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมักเกิดจากโรคหัวใจ การจะทำให้หัวใจกลับมาเต้นให้เร็วที่สุด คำตอบคือเครื่อง AED ซึ่งครั้งนั้นได้ทำการช็อกไฟฟ้าด้วยเครื่อง AED ที่หน้าคลินิก ผู้ป่วยกลับฟื้นขึ้นมาและหัวใจเต้นปกติโดยไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเครื่อง AED โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ชุมชน ที่สาธารณะต่าง ๆ ที่มีประชาชนอยู่มาก รัฐบาลควรจัดบริการให้มีเครื่อง AED รวมทั้งให้มีหลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานลงสู่ภาคนักเรียน ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษา ให้เป็นหลักสูตรพื้นฐาน แล้วเชื่อว่าประชาชนไทยจะมีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น”
คุณรมณีย์ หนูทองแก้ว พยาบาลชำนาญการ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วพบเห็นปัญหาหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจเป็นจำนวนมาก ประเด็นสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถผ่านพ้นภาวะวิกฤติไปได้คือ จะต้องทำให้ญาติของผู้ป่วยสามารถช่วยผู้ป่วยได้ก่อนที่ทีมกู้ภัยจะไปถึง จึงได้ทำการอบรมให้แก่ญาติ โดยเฉพาะญาติของผู้ป่วยโรคหัวใจซึ่งมีความตื่นตัวและพร้อมที่จะเรียนรู้
สำหรับเครื่อง AED ถือว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่ออยู่นอกโรงพยาบาล หรือจุดที่ไม่มีผู้ชำนาญการอยู่ เพราะผู้ป่วยโรคหัวใจส่วนใหญ่ที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะเป็น Ventricular Fibrillation (VF), Pulseless Ventricular Tachycardia (VT) ซึ่งเครื่อง AED แก้ปัญหาได้ทันที สามารถทำให้ผู้ป่วยหัวใจฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ โดยการใช้งานไม่ยาก แค่ทำตามคำสั่งของตัวเครื่องเท่านั้น ถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก แม้ในขณะนี้หากตนเองอยู่ในโรงพยาบาล อยู่ในศูนย์โรคหัวใจ ก็ยังพก AED ติดตัวไว้ เพราะหากมีผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันพร้อม ๆ กันหลายราย หรือในจุดที่ไม่สามารถใช้เครื่อง Defibrillator เครื่อง AED จะช่วยแก้ปัญหาได้
“ควรจะทำเหมือนในต่างประเทศที่มีการกระจายเครื่อง AED ไปตามสถานที่สาธารณะทั่วไปอย่างสนามบิน ศูนย์การค้า ชายทะเล ศูนย์ราชการ มีการอบรมเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยให้ใช้เครื่อง AED เป็น เนื่องจากสถานที่เหล่านี้มีผู้ป่วยโรคหัวใจเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิด ดีกว่ารอให้เกิดปัญหาแล้วต้องมานั่งเสียใจภายหลัง”