ไทยรุกปราบวัณโรค “ตายน้อยกว่า 5 ขาดยาเป็น 0”

ไทยรุกปราบวัณโรค “ตายน้อยกว่า 5 ขาดยาเป็น 0”

         ในปัจจุบันวัณโรคยังคงเป็นปัญหาแพร่ระบาดทั่วโลก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตปีละกว่า 1.7 ล้านคน องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคในระดับรุนแรง คาดว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายเก่าและใหม่รวมกว่า 110,000 ราย มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มปีละประมาณ 86,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 9,800 ราย ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยายังเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งต้องใช้งบประมาณเพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาสิ้นเปลืองกว่าเชื้อวัณโรคทั่วไป 50-100 เท่า จึงต้องเร่งจัดการ โดย WHO ประมาณการว่าประเทศไทยน่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานและรุนแรงประมาณ 2,000 ราย และอาจแพร่เชื้อชนิดนี้ไปสู่คนอื่นได้อีก

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้ร่วมกับสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประชุมสัมมนาวิชาการวัณโรคและโรคระบบทางเดินหายใจ ครั้งที่ 9 ขึ้น โดยมีแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม เพื่อรับฟังนโยบายในการควบคุมวัณโรคของไทย และเตรียมความพร้อมระบบการแก้ไขปัญหาก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการติดตามความก้าวหน้าของการควบคุมวัณโรคในประเทศไทยพบว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อวัณโรคง่ายในอดีต เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ผู้ติดสุรา โรคหอบหืด ผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัด มีระบบการค้นหาและสามารถควบคุมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในขณะนี้ต้องเพิ่มความสนใจเป็นพิเศษในอีก 2 กลุ่มหลักคือ ผู้ป่วยเบาหวานและผู้สูงอายุ ซึ่งมีข้อมูลทางการแพทย์ทั่วโลกชี้ว่ากำลังมีแนวโน้มจะเป็นคู่หูของเชื้อวัณโรค เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานและผู้สูงอายุจะมีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ

"ขณะนี้ไทยมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานประมาณ 3 ล้านคน จากการขาดการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีประมาณ 9.5 ล้านคน จึงได้ให้โรงพยาบาลที่มีคลินิกโรคเบาหวานและคลินิกผู้สูงอายุเพิ่มระบบการตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อวัณโรค หากพบให้รักษาฟรีจนหายขาด นอกจากนี้ให้ทุกจังหวัดจัดระบบประกันสุขภาพให้ต่างด้าวที่เข้ามาใช้แรงงานหรือติดตามครอบครัวทุกคนจะได้รับการตรวจหาวัณโรคและให้การรักษาจนหายขาด เพื่อเตรียมมาตรการของไทยให้พร้อมก่อนที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งคาดว่าจะมีต่างด้าวเข้าไทยมากขึ้น” นพ.ณรงค์ กล่าว

นอกจากนี้ในการแก้ปัญหาวัณโรค กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเชิงรุกมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพจัดการปัญหาให้บรรลุผลสำเร็จเร็วขึ้น โดยร่วมมือกับสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบหมายให้ อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สำรวจและค้นหาผู้ป่วยจากกลุ่มเสี่ยงสำคัญ ตั้งเป้าค้นหาผู้ป่วยให้ได้เร็วและให้การรักษาให้หายขาดทุกราย ไม่ให้มีปัญหาผู้ป่วยขาดยา ซึ่งจะลดปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยา และลดการเสียชีวิตให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 5

ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดำเนินงานควบคุมวัณโรคในประเทศไทยได้มีมานานแล้ว และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยจากหลักฐานที่สำคัญที่ปรากฏมาจนทุกวันนี้คือ บทความเกี่ยวกับวัณโรคชื่อ “โรคทุเบอร์คุโลลิส” ที่ได้ทรงสนพระทัยและนิพนธ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2463 และได้มีพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 ถึงหลวงนิตย์ เวชช์วิศิษฐ์ มีพระราชปรารภตอนหนึ่งว่า “TB มีมากเต็มที และไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่มีโรงพยาบาลพิเศษหรือ Sanatorium สำหรับรักษารายที่ไม่หนักนัก การเรื่อง TB นั้นทำให้ฉันสนใจมาก อยากให้มี Anti TB Society” ด้วยสำนึกและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุขและสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงมีนโยบายที่จะเร่งรัดขจัดวัณโรคเพื่อบรรลุเป้าหมาย ลดปัญหาวัณโรคดื้อยา ตายน้อยกว่า 5 ขาดยาเป็น 0 ภายในปี พ.ศ. 2559

            ทั้งนี้ปัญหาวัณโรคของประเทศไทยยังคงเป็น 1 ใน 22 ของประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรงของโลก โดย WHO คาดว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคทุกชนิดทั้งรายเก่าและรายใหม่ประมาณ 110,000 ราย ในขณะเดียวกันมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นประมาณ 86,000 รายต่อปี และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 9,800 ราย และที่สำคัญคือ ปัญหา “วัณโรคดื้อยาหลายขนานและวัณโรคดื้อยารุนแรง” กำลังได้รับการค้นหาและตรวจพบมากขึ้น ซึ่ง WHO ได้ประมาณการเช่นกันว่าประเทศไทยน่าจะมีผู้ป่วยประเภทนี้ประมาณ 2,000 ราย เป็นภาระที่กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องรับผิดชอบ

จากรายงานของ WHO ในปี พ.ศ. 2552 คาดว่าทั่วโลกพบผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานในกว่า 50 ประเทศ ประมาณ 500,000 ราย ในจำนวนนี้ราวร้อยละ 50 อยู่ที่จีน อินเดีย โดยในผู้ป่วยรายใหม่พบปัญหาดื้อยาหลายขนานร้อยละ 3 ส่วนรายเก่าพบร้อยละ 5 ทำให้รักษาด้วยสูตรยาปกติไม่ได้ผล อัตราตายสูงขึ้นและเสียค่ารักษาสูงขึ้น เนื่องจากต้องรักษาด้วยสูตรยาพิเศษ ซึ่งมีราคาแพงและต้องใช้เวลานานถึง 18-24 เดือน สาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยาเกิดจากการกินยาไม่ต่อเนื่อง จากการประเมินการสูญเสียค่ารักษาวัณโรคชนิดดื้อยาหลายขนาน ในปี พ.ศ. 2552 พบว่าสูงถึง 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 42,000 ล้านบาท คาดว่าปัญหาจะรุนแรงขึ้นในอีก 6 ปี หลายประเทศจะต้องเผชิญค่ารักษาผู้ป่วยประเภทนี้เพิ่มขึ้นอีก 9 เท่าตัว คิดเป็นเงิน 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 385,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้รวมถึงการจ่ายเงินของผู้ป่วยเอง

“วัณโรคเป็นปัญหาสำคัญ หลายท่านที่ไม่ได้คลุกคลีกับปัญหาสาธารณสุขอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ และเป็นปัญหาสำคัญของโลกที่ทุก ๆ 22 วินาทีจะมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรค 1 ราย โดยประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดคือ จีน อินเดีย รวมทั้งประเทศในแถบแอฟริกาซึ่งจะมีปัญหาเรื่องเอชไอวีระบาดอยู่มาก แม้ว่าประเทศไทยจะควบคุมสถานการณ์ของโรคอยู่ในระดับดีและเป็นที่น่าพอใจ แต่เมื่ออุบัติการณ์ของเอชไอวีเพิ่มมากขึ้นก็ส่งผลกระทบให้วัณโรคเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และเมื่อมีการพัฒนาเรื่องงานเอชไอวีและยาต้านไวรัสอย่างครอบคลุมทั่วถึงก็ทำให้วัณโรคลดลง”

อย่างไรก็ตาม แม้กระทรวงสาธารณสุขจะตระหนักถึงปัญหาและความรุนแรงของวัณโรคมาตลอด แต่ในการทำงานให้เกิดผลสำเร็จจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานสาธารณสุขต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น NGOs และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมดำเนินการเพื่อลดปัญหาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีถึง 2,000 ราย สำหรับคนหรือกลุ่มที่เสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรคคือ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ต้องขัง ผู้ที่สุขภาพอ่อนแอ พักผ่อนไม่เพียงพอ อยู่ในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และที่สำคัญคือ แรงงานย้ายถิ่น แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศสมาชิก AEC

            สำหรับในปี พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดมาตรการจุดเน้นและกรอบการดำเนินงานป้องกันควบคุมวัณโรค ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงานคือ เร่งค้นหา รีบรักษาอย่างถูกต้อง ป้องกันวัณโรคดื้อยา และมีเป้าหมายจุดเน้นคือ “ค้นให้พบ จบด้วยหาย ตายน้อยกว่า 5 ขาดยาเป็น 0” ซึ่งหมายความว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ต้องขัง แรงงานย้ายถิ่น เป็นต้น และเมื่อค้นพบ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาด้วยระบบยาระยะสั้นตามมาตรฐานสากล จนกว่าจะหายขาด โดยในปีนี้ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตให้น้อยกว่าร้อยละ 5 และการขาดยาต้องเป็น 0 โดยขอเชิญชวนทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินการตามกิจกรรมหลัก ดังนี้

- เร่งคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มเสี่ยง เช่น ในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ กลุ่มผู้สัมผัสร่วมบ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เบาหวาน เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการโดยเร็ว ตัดวงจรการแพร่เชื้อ ลดความรุนแรงและการเสียชีวิต

- ให้ผู้ป่วยวัณโรคมีโอกาสเข้าถึงการรักษาตามมาตรฐานทุกราย ให้การสนับสนุน ควบคุมกำกับ ติดตามเพื่อลดปัญหาการขาดยา

- พัฒนาเทคโนโลยีการวินิจฉัยโรคที่รวดเร็ว โดยเฉพาะการวินิจฉัยวัณโรคดื้อยา

- สร้างเครือข่ายเสริมสร้างความรู้เรื่องวัณโรคสู่ภาคประชาชน

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ทิศทางนโยบายของสำนักวัณโรค ภายใต้กรมควบคุมโรคที่มีบทบาทในด้านวิชาการ และกำหนดแนวทางภาพรวมของประเทศ ได้สร้างคำที่จำง่าย ๆ คือ ค้นให้พบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน ทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยเอชไอวี จะต้องเร่งรัด เร่งคัดกรอง จบด้วยหาย ถือเป็นเป้าหมายสำคัญ ผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 6 เดือน ไม่ใช่รับประทานยาไปได้สักระยะหนึ่งแล้วอาการดีขึ้นก็หยุดยา ซึ่งจะทำให้กลับมาเป็นซ้ำและเชื้อเกิดดื้อยาได้ ซึ่งถ้าเป็นวัณโรคดื้อยาจะต้องรับประทานยาต่อเนื่องถึง 2 ปี และมียาฉีดร่วมด้วยอีก 6 เดือน ทำให้ค่าใช้จ่ายของประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยวัณโรคทั่วไปจะเสียค่ารักษาพยาบาลรายละประมาณ 2,000-4,000 บาท แต่ถ้าเป็นวัณโรคดื้อยา เสียค่ารักษาพยาบาลรายละประมาณ 200,000 บาท และถ้าเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงจะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลถึง 1,500,000-2,000,000 บาทต่อราย ตายน้อยกว่าร้อยละ 5 ผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยขณะนี้มีอัตราตายเฉลี่ยระหว่างที่รักษายังไม่สิ้นสุดประมาณร้อยละ 7 บางพื้นที่ร้อยละ 9 หรือน้อยกว่านั้นในบางพื้นที่ ดังนั้น ต้องพัฒนาคุณภาพการรักษา คลินิกวัณโรคต้องได้คุณภาพ นอกจากนี้ในส่วนของผู้ป่วย หากรู้ตัวและรีบมารักษาจะทำให้อัตราตายน้อยลง แต่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมาเมื่อมีอาการหนัก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่บางทีอาการปรากฏช้า ส่งผลให้อัตราตายสูงกว่าร้อยละ 5 ขาดยาเป็น 0 ผู้ให้บริการต้องสื่อสารให้ผู้ป่วยเข้าใจ เน้นว่าถ้ามีปัญหาระหว่างการรักษา เช่น เกิดการแพ้ ต้องสื่อสารกับแพทย์ พยาบาลที่ดูแลรักษา อย่าตัดสินใจหยุดยาเอง เพราะจะทำให้การรักษาไม่ได้ประสิทธิภาพ

“ควรให้คำแนะนำประชาชนในการสังเกตอาการของวัณโรค โดยอาการจะเริ่มจากไอเรื้อรังเกินกว่า 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำ ๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ซึ่งประชาชนมักเข้าใจผิดว่าป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดาจึงมักซื้อยามากินเอง และอาการของโรคนี้จะไม่รุนแรงเฉียบพลัน ยังทำงานได้ปกติ จึงทำให้เชื้อโรคแพร่ไปสู่คนอื่นได้ โดยเชื้อนี้จะอยู่ในเสมหะ ลอยไปในอากาศ หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าวให้รีบพาไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้านเพื่อรับการวินิจฉัยให้เร็วที่สุด” นพ.เฉวตสรร กล่าว

 นพ.เฉวตสรร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยอยู่ในทิศทางที่อัตราการป่วยด้วยวัณโรคค่อย ๆ ลดลง แต่ก็ยังป่วยในระดับอัตราที่สูงอยู่ หากเทียบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งน่าจะเป็นประเทศที่ควบคุมโรคได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ไทยมีอัตราป่วยวัณโรคสูงกว่าถึง 30 เท่า แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการป่วยของไทยยังถือว่าดีกว่ากัมพูชาและพม่า ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานหลักที่เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทย โดย 74% ของแรงงานข้ามชาติมาจากพม่า 15% มาจากกัมพูชา สองประเทศนี้อัตราป่วยมากกว่าไทยประมาณ 3-4 เท่า เพราะฉะนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อม เพราะเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้มีแรงงานหลั่งไหลเข้ามาทำงานจำนวนมาก

“ด้วยบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในไทย การทำความเข้าใจในตัวโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคที่แพร่ทางการหายใจ ดูเหมือนจะติดต่อกันง่าย อาจเกิดความกังวลเมื่อมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา เกิดการรังเกียจรังงอนเขา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ควรทำเช่นนั้น เพราะคนไทยก็ไม่ต่างกันในแง่ของอัตราการป่วยที่สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยภาพรวมประเทศกำลังพัฒนาทุก ๆ 3 คนจะมี 1 คนที่ติดเชื้อแฝงอยู่ในตัว แต่เราสามารถป้องกันได้ ตราบใดที่ดูแลร่างกายให้แข็งแรง การติดเชื้อแฝงก็จะอยู่อย่างนั้น หากไม่ป่วย เชื้อก็จะไม่แพร่กระจายสู่ผู้อื่นไปตลอดชีวิต”

นพ.เฉวตสรร กล่าวทิ้งท้ายว่า “มีผู้กล่าวไว้ว่าวัณโรคถือเป็นโรคปราบเซียน ในต่างประเทศเอง เชื้อโรคหลายชนิดสามารถกำจัดให้อยู่หมัดได้ แต่วัณโรคนั้นกำจัดยากเหลือเกิน ขนาดบิลเกตเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกตั้งกองทุนโลกขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับโรคะบาดร้ายแรง 3 ชนิดคือ เอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ซึ่งเอดส์สามารถควบคุมได้ดีแล้ว มาลาเรียพบมากในเขตชายแดน แต่วัณโรคกระจายอยู่ทั่วไป และเมื่อต้องเจอกับการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จึงเป็นกังวลที่วัณโรคจะกลับมาทวีความรุนแรง ในส่วนของสำนักวัณโรค กระทรวงสาธารณสุขจะจับตาเรื่องนี้อย่างเข้มข้น และนำบทเรียนของสหรัฐอเมริกามาประยุกต์ใช้ โดยเมื่อปี ค.ศ. 1990 สหรัฐอเมริกาได้ตัดลดงบประมาณทางด้านวัณโรค เนื่องจากมีอัตราผู้ป่วยต่ำมาก แต่หลังจากนั้นได้เกิดการระบาดของเอชไอวี ก็ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของวัณโรคดื้อยาหลายขนาน อัตราผู้ป่วยสูงขึ้น สหรัฐอเมริกาจึงต้องทุ่มงบประมาณเพื่อขจัดปัญหาวัณโรค เพราะฉะนั้น ณ วันนี้ วัณโรคจึงยังเป็นปัญหาสำคัญ”