จัดระเบียบ ‘อุ้มบุญ’ คุมเข้มจริยธรรมแพทย์

ภาพประกอบ 1. น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์, 2. ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา และ ศ.คลินิก พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ร่วมแถลงกรณีอุ้ม

จัดระเบียบ ‘อุ้มบุญ’ คุมเข้มจริยธรรมแพทย์

การอุ้มบุญในประเทศไทยกลายเป็นประเด็นร้อนที่กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากกรณีข่าวการอุ้มบุญจากแม่ชาวไทยที่รับจ้างจากชาวออสเตรเลีย รวมถึงข่าวการบุกค้นเด็ก 9 คนที่คอนโดมิเนียมย่านลาดพร้าว หลังจากได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าสถานที่ดังกล่าวอาจเป็นแหล่งพักเด็กทารกที่เกิดจากการอุ้มบุญ ซึ่งหลังจากตรวจสอบแล้ว เด็กทั้งหมดเกิดจากการอุ้มบุญจริง โดยใช้น้ำเชื้อจากพ่อชาวญี่ปุ่นคนเดียวกัน

จากการติดตามของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่า การอุ้มบุญในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนจากการอุ้มบุญต่อปีถึง 4,000 ล้านบาท และมีเอเจนซี่กว่า 20 ราย รับดำเนินการจัดหาหญิงรับจ้างอุ้มบุญให้ โดยเป็นการเชื่อมโยงระหว่างคนไทยกับต่างชาติ ทั้งจากจีน ออสเตรเลีย อิสราเอล และชาติอื่น ๆ

..นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การอุ้มบุญโดยที่ไม่ใช่สายเลือดเดียวกันนั้นผิดกฎหมาย ซึ่งจากการตรวจสอบสถานบริการที่ให้การทำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ให้แก่หญิงไทยที่รับจ้างจากชาวออสเตรเลีย มีความชัดเจนว่าให้บริการอุ้มบุญแก่คนที่ไม่ใช่ญาติ และมีการจ่ายค่าตอบแทนในลักษณะการจ้างวาน ซึ่งผิดข้อบ่งชี้ตามประกาศของแพทยสภา ถือว่าเข้าข่ายการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีโทษฐานฝ่าฝืนมาตรา 34(2) พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่กำหนดให้ผู้ดำเนินการมีหน้าที่ควบคุมดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรมจะมีโทษตามมาตรา 65 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะส่งเรื่องไปแพทยสภาเพื่อให้ดำเนินการทางจริยธรรมกับผู้ประกอบวิชาชีพที่ให้บริการ

ในส่วนของสถานที่หรือสถานประกอบการดังกล่าว ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นสถานพยาบาลตามกฎหมายทำในเชิงการค้า สบส. จะดำเนินคดีกับบุคคลที่ประกอบกิจการและดำเนินการฐานประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 16 และมาตรา 24 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับกรณีพบว่ามีการโฆษณาเกี่ยวกับการซื้อขายไข่ อุ้มบุญ เลือกเพศ จะมีการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลเกี่ยวกับเรื่องการโฆษณาอย่างเคร่งครัด ส่วนโทษของแพทย์จะมีการส่งเรื่องไปยังแพทยสภาเพื่อดำเนินการทางจริยธรรมกับผู้ประกอบวิชาชีพที่ให้บริการต่อไป

“ต้องยอมรับว่าปัจจุบันประชาชนมีความต้องการใช้บริการทางการแพทย์เกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีสามารถตอบสนองความต้องการเลือกเพศได้ แต่พบว่าถูกนำไปใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์เชิงธุรกิจ ทั้งการรับจ้างอุ้มบุญ ขายไข่ ขายอสุจิ การคัดเลือกเซลล์ที่มีดีเอ็นเอ ซึ่งผิดวัตถุประสงค์และขัดต่อหลักศีลธรรมและกฎหมาย”

..นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า สบส. มีอำนาจในการพิจารณาเพียงสถานพยาบาล ส่วนโทษอื่น ๆ ต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายอื่น เช่น หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบหรือการค้ามนุษย์จะมีความผิดตามพระราชบัญญัตินั้น ๆ ซึ่งหากมีความผิดฐานค้ามนุษย์ถือว่ามีโทษหนักที่อาจเข้าข่ายมาตรา 50 พระราชบัญญัติสถานพยาบาล ที่ระบุว่าทำให้เกิดอันตรายและร้ายแรงถึงชีวิต มีโทษสูงสุดคือปิดสถานพยาบาลได้ด้วย สำหรับแพทย์ผู้ประกอบหัตถการ แม้ว่าจะมีการขออนุญาตและขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง แต่หากปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพก็ถือว่าได้กระทำผิดข้อบ่งชี้ ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงถอดถอนใบประกอบวิชาชีพได้

ในปัจจุบันมีสถานบริการที่ขึ้นทะเบียนในการทำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ุในกรุงเทพฯ 12 แห่ง ทั่วประเทศ 45 แห่ง มีทั้งเอกชนและสถานพยาบาลของรัฐ มีแพทย์ 240 ท่านที่ลงทะเบียนไว้ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบกันอีกครั้ง ทั้งนี้สำหรับค่าใช้จ่ายในการอุ้มบุญแต่ละครั้ง หากเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ราคาเบื้องต้นประมาณ 1 แสนกว่าบาท ซึ่งราคาจะสูงขึ้นหากเป็นเคสที่ดำเนินการได้ยาก ส่วนโรงพยาบาลเอกชนจะอยู่ที่ 2.5-3 แสนบาท หากเป็นเคสที่ดำเนินการได้ยากขึ้นราคาจะอยู่ประมาณ 4-5 แสนบาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการแก้ไขใน 4 ข้อหลักกรณีการอุ้มบุญ ดังนี้ 1. ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงไปแล้วว่าการใช้เทคนิคการช่วยเจริญพันธุ์หรือการอุ้มบุญนั้นยังผิดกฎหมายอยู่ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ แต่จะสามารถทำได้ในกรณีของผู้ที่มีปัญหาการมีบุตรยาก มีความเกี่ยวข้องเป็นญาติ และไม่มีค่าตอบแทนเท่านั้น 2. ได้ทำความเข้าใจกับคลินิกว่าการดำเนินการต้องถูกต้อง มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าจะไม่ใช้เป็นช่องทางในการหาผลประโยชน์ 3. เจ้าหน้าที่มีการออกตรวจสถานพยาบาลตามมาตรา 45 ในพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และ 4. มีช่องทางให้ผู้ที่พบเห็นแจ้งและรายงาน

ด้าน .นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาได้รับเรื่องเกี่ยวกับแพทย์ที่กระทำการละเมิดประกาศแพทยสภาที่ 1/2540 และ 21/2545 เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ในกรณีที่คู่สมรสต้องการมีบุตรโดยให้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาตั้งครรภ์แทนแล้ว ซึ่งในการให้บริการนั้นจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขคือ ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคเซลล์สืบพันธุ์ในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการซื้อขาย ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่หญิงที่ตั้งครรภ์แทนในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการรับจ้างตั้งครรภ์ และหญิงที่ตั้งครรภ์แทนจะต้องเป็นญาติโดยสายเลือดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

“ตามกระบวนการของแพทยสภา จำเป็นต้องให้ความเป็นธรรมแก่แพทย์ที่ถูกกล่าวโทษ หลังจากอนุกรรมการบริหารแพทยสภาพิจารณาเบื้องต้นเห็นว่ามีมูล จะส่งไปยังอนุกรรมการจริยธรรมพิจารณาต่อไป หากพิจารณาว่ามีมูลจะส่งเรื่องต่อให้คณะอนุกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาโทษ จากนั้นจึงส่งเข้าคณะกรรมการแพทยสภาเพื่อลงโทษ และตามประกาศของแพทยสภาก็ไม่มีอำนาจในการปิดสถานพยาบาล หรือห้ามแพทย์คนดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ โดยระหว่างการพิจารณาทั้งกระบวนการ แพทย์ที่ถูกดำเนินการไม่จำเป็นต้องหยุดการทำหน้าที่แพทย์ แต่แพทยสภากำลังอยู่ในระหว่างปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับของแพทยสภาให้มีอำนาจสั่งแพทย์ที่ถูกตรวจสอบให้หยุดการทำหน้าที่ได้ต่อไป”

นอกจากนี้แล้ว แพทยสภาและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยกำลังปรับปรุงประกาศแพทยสภา ในกรณีที่คู่สมรสต้องการมีบุตรโดยให้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาตั้งครรภ์แทน โดยการให้บริการต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคเซลล์สืบพันธุ์หรือหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการซื้อขายหรือการรับจ้างตั้งครรภ์
2. ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือไขข่าวให้แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ว่ามีไข่บริจาคหรือมีหญิงที่ประสงค์จะเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น หรือมีบุคคลที่ประสงค์จะให้หญิงอื่นเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน
3. ห้ามมิให้ดำเนินการเพื่อคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันหรือไม่มีคู่สมรส
4. ห้ามมิให้สถานพยาบาลหรือผู้ให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เป็นคนกลางหรือร่วมกับนายหน้าจัดการหรือนำเสนอ จัดหา หรือนำเข้า/ส่งออกไข่บริจาค หรือตัวอ่อนบริจาคหรือจัดหาสตรีเพื่อมารับตั้งครรภ์แทน
5. หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นญาติโดยสายเลือด แต่ต้องไม่เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานของคู่สามีหรือภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น มีอายุระหว่าง 20-34 ปี สุขภาพแข็งแรง และการตั้งครรภ์ต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตนเองและทารกที่จะเกิดมา

"ผมขอยืนยันว่าขณะนี้เราไม่ได้เพิ่งมาล้อมคอกแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มบุญมานานแล้ว ตอนนี้ที่บังคับใช้อยู่ 2 ฉบับคือ ประกาศแพทยสภาเรื่องมาตรฐานการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และประกาศฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับแรกที่ออกมาบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2545 อีกทั้งยังมีร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่ยังค้างอยู่ในกฤษฎีกา และขณะนี้เราก็จะผลักดันพระราชบัญญัตินี้ต่อไป ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้จะแก้ไขช่องโหว่จากกฎหมายเดิมในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การบังคับสถานพยาบาลที่ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เจ้าของต้องเป็นแพทย์เท่านั้น บังคับให้สถานพยาบาลเก็บข้อมูลทุกอย่าง และส่งรายงานมายังแพทยสภาเพื่อตรวจสอบติดตาม ห้ามทำโคลนนิ่งมนุษย์โดยเด็ดขาด ห้ามให้มีการซื้อขายไข่ สเปิร์ม และกำหนดคุณสมบัติของผู้หญิงที่มาอุ้มบุญ เป็นต้น"

.คลินิก พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การอุ้มบุญนั้นไม่ได้ทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากเป็นการช่วยเหลือผู้ที่อยากมีบุตรแต่ไม่สามารถมีบุตรให้มีบุตรตามจริยธรรมที่ถูกต้อง แต่การเอาไปทำอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นขบวนการการรับจ้าง การจ่ายค่าตอบแทน เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหา ด้วยเหตุนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการบำบัดรักษาภาวะการมีบุตรยาก แพทยสภาจึงได้มอบหมายให้ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยจัดทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับตัวอ่อนและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ให้เป็นมาตรฐาน โดยในเบื้องต้นได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะเพื่อรับผิดชอบในเรื่องการปรับปรุงมาตรฐานในเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เพื่อให้ทันความก้าวหน้าในทางการแพทย์ โดยมีการเชิญแพทย์ที่ให้บริการเพื่อชี้แจงรายละเอียดในเรื่องมาตรฐานและขอข้อเสนอแนะ ให้ข้อมูลทางการแพทย์แก่หญิงที่รับอุ้มบุญ และร่วมผลักดันให้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

“การทำอุ้มบุญไม่ได้ทำให้เกิดปัญหา หากเป็นการช่วยเหลือคู่สมรสที่ต้องการมีลูกแต่ไม่สามารถใช้วิธีทางธรรมชาติได้ แต่ต้องทำให้ถูกตามกฎหมายและข้อบังคับแพทยสภา หากทำไม่ถูกต้องก็จะดำเนินการกับผู้กระทำความผิด แต่อย่างไรก็ตาม การควบคุมที่เข้มงวดมากอาจทำให้แพทย์ที่ทำอย่างถูกต้องเกิดข้อจำกัดในการให้บริการ ทั้งนี้จะขอให้แต่ละโรงพยาบาลมีการตั้งคณะกรรมการจริยธรรมเพื่อควบคุมแพทย์ในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และรายงานกลับมาที่ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย”

แม้การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จำเป็นสำหรับบางครอบครัวที่มีข้อจำกัดในการมีบุตร แต่อาจล่อแหลมด้านจริยธรรม ที่ผ่านมาจะร่วมกับแพทยสภาออกข้อกำหนดควบคุมทั้งผู้ให้บริการสถานพยาบาล และกำหนดเกณฑ์ของผู้ที่จะทำอุ้มบุญ ซึ่งต้องเป็นญาติเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้มีการกระทำผิดมากขึ้น ดังนั้น หากร่างกฎหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ฉบับนี้ได้รับการผลักดันอย่างจริงจัง จะเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองเรื่องนี้อย่างรอบด้าน