องค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา อนุมัติให้การตรวจ HPV DNA เป็นการตรวจคัดกรองแบบปฐมภูมิสำหรับโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นครั้งแรก
องค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติ HPV DNA Test ชนิดแรกให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้ HPV DNA Test เพียงอย่างเดียวเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป แล้วแยกแยะต่อว่าจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นอีกหรือไม่ HPV DNA Test ที่เป็นเทสต์แรกที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยานี้มีข้อมูลเพียงพอที่จะระบุถึงความเสี่ยงของผู้ป่วยในการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในอนาคตได้
HPV DNA Test ที่ได้รับการอนุมัตินี้ใช้วิธีการเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกในการตรวจหา DNA ของเชื้อ HPV จำนวน 14 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยสามารถระบุเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ได้อย่างเฉพาะเจาะจง และยังสามารถตรวจหาเชื้อ HPV สายพันธุ์เสี่ยงสูงอีก 12 สายพันธุ์ได้ในการตรวจเพียงครั้งเดียว ทั้งนี้โรคมะเร็งปากมดลูกเกือบทุกกรณีมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ HPV โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกถึงร้อยละ 70
ดร.อัลแบร์โต กูเตียร์เรซ ผู้อำนวยการ Office of In Vitro Diagnostics and Radiological Health, Center for Devices and Radiological Health จากองค์การอาหารและยา ได้กล่าวในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ขององค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา ไว้ว่า “การอนุมัติในครั้งนี้เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่สตรีและแพทย์ในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ทั้งนี้เกิดจากการที่บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ ได้ทำการวิจัยอย่างสมบูรณ์และให้ข้อมูลเพียงพอในการสร้างความมั่นใจต่อองค์การอาหารและยาถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเทสต์ในการตรวจคัดกรองแบบปฐมภูมิสำหรับโรคมะเร็งปากมดลูก”
ทางด้าน นพ.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ก็ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “การศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง HPV และมะเร็งปากมดลูกมีการพัฒนาองค์ความรู้อย่างมากมายในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และพบว่าการป้องกันโดยวิธีตรวจคัดกรองด้วย HPV DNA Test มีความไวต่อการตรวจพบได้ดีและสูงกว่าวิธีดั้งเดิม เช่น แพปสเมียร์ (Pap smear) และวีไอเอ (VIA) แม้ว่าแพปสเมียร์จะได้รับการยอมรับจากทั่วโลกและใช้มาเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่เคยได้รับการทำวิจัยเป็นระบบที่ชัดเจน ในขณะที่ HPV DNA Test ปัจจุบันมีการทำวิจัยมาแล้วว่ามีศักยภาพและประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองได้ไวกว่า ซึ่งเมื่อองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกาให้การรับรองก็ย่อมสนับสนุนและทำให้สูตินรีแพทย์มีความมั่นใจในการใช้ HPV DNA Test เป็นการตรวจคัดกรองในแบบปฐมภูมิมากขึ้น เชื่อว่าหนทางที่จะลดมะเร็งปากมดลูกในประเทศเราด้วยวิธีตรวจคัดกรองแบบเดิมคงเป็นไปได้ช้า และเราจะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น และมีวิธีที่มีความไวสูงกว่าการคัดกรองด้วยวิธีเดิม ๆ ที่เราใช้กัน”
นอกจากความไวในการตรวจพบที่ดีกว่าแพปสเมียร์แล้ว การใช้ HPV DNA Test ยังมีข้อดีอื่น ๆ อันได้แก่ HPV DNA Test ไม่ต้องผ่านขั้นตอนในการตรวจวิเคราะห์โดยใช้บุคลากรทางการแพทย์มากนัก ทำให้ลดข้อผิดพลาดต่าง ๆ ให้น้อยลงได้ อีกทั้งการเก็บตัวอย่างก็ไม่ยุ่งยาก จึงทำให้มีความสะดวกมากกว่า และโอกาสผิดพลาดน้อยลง
“ถ้าพูดในทางเทคนิคและเชิงวิชาการ แน่นอนครับเราสนับสนุนให้ใช้ HPV DNA Test เป็นการตรวจคัดกรองแบบปฐมภูมิได้ ในปัจจุบันแนวทางเวชปฏิบัติของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นแพปสเมียร์อยู่ ซึ่งหากจะมีการพิจารณาให้ใช้ HPV DNA Test เป็นการตรวจคัดกรองแบบปฐมภูมิก็จะต้องมีการทำวิจัยในประเทศไทยเอง และศึกษาเรื่องความคุ้มค่าในบริบทของประเทศไทยก่อน”
“ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากว่ายังมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงที่สุดในบรรดามะเร็งของสตรี ถึงแม้ว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกจะเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม แต่อัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากมะเร็งปากมดลูกยังมากกว่ามะเร็งเต้านม นั่นหมายความว่า ในระบบของเรายังมีช่องว่างที่เราสามารถจะเข้าไปปรับปรุงและแก้ไขเพื่อลดอุบัติการณ์และอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้อีกมาก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ปีละประมาณ 10,000 ราย และเสียชีวิตประมาณปีละ 5,000 ราย หรือโดยเฉลี่ยพบว่ามีอัตราเสียชีวิตประมาณ 14 รายต่อวัน” นพ.วิสิทธิ์ กล่าวเสริม
จากงานวิจัยพบว่า เชื้อ HPV ประมาณ 40 สายพันธุ์จะติดที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งหญิงและชาย ดังนั้น การติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่เกิดจากเพศสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ จากข้อมูลของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ประเทศสหรัฐอเมริกา การติดเชื้อ HPV เป็นการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมีเชื้อ HPV ประมาณ 14 ใน 40 สายพันธุ์ที่จัดเป็นสายพันธุ์เสี่ยงสูง โดยมีความสัมพันธ์กับการก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่การติดเชื้อ HPV จะถูกขจัดออกไปได้เอง และไม่ก่อให้เกิดอาการแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ประมาณร้อยละ 10 ของสตรีที่ติดเชื้อ HPV สายพันธุ์เสี่ยงสูงจะมีการติดเชื้ออย่างถาวร ซึ่งอาจทำให้สตรีผู้นั้นเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก
“กระผมอยากแนะนำให้สูตินรีแพทย์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีของการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีอยู่และอาจมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้มีประสิทธิภาพและราคาถูกลง นอกเหนือจากแพปสเมียร์ที่เคยใช้กันมา เราสามารถจะหาความรู้เพิ่มเติมได้จากงานประชุมวิชาการ จากเว็บไซต์ของสมาคมฯ และข้อมูลจากวารสารต่าง ๆ ทางสมาคมฯ มีปณิธานที่จะรณรงค์ให้มะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยลดลงจนหมดไปจากหญิงไทย จึงมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการให้ความรู้ทางวิชาการแก่แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปในเรื่องนี้อย่างจริงจัง” นพ.วิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย