การควบคุมเบาหวานอย่างเคร่งครัดต่อ Albuminuria ในเบาหวานชนิดที่ 1

การควบคุมเบาหวานอย่างเคร่งครัดต่อ Albuminuria ในเบาหวานชนิดที่ 1

The Lancet Diabetes & Endocrinology, Early online Publication, 18 July 2014.

บทความเรื่อง Effect of Intensive Diabetes Treatment on Albuminuria in Type 1 Diabetes: Long-Term Follow-Up of the Diabetes Control and Complications Trial and Epidemiology of Diabetes Interventions and Complications Study รายงานว่า แม้การรักษาเบาหวานอย่างเคร่งครัดลดความเสี่ยงการเกิด albuminuria ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลการรักษาระยะยาวต่อโรคไต

นักวิจัยเปรียบเทียบผลระยะยาวของการรักษาอย่างเคร่งครัดและการรักษามาตรฐานต่อการเกิด albuminuria ระหว่าง 18 ปีหลังสิ้นสุดการศึกษา Diabetes Control and Complications Trial (DCCT) ในระหว่างช่วงการศึกษา DCCT (ค.ศ. 1983-1993) นักวิจัยได้สุ่มให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 รวม 1,441 คนได้รับการรักษาอย่างเคร่งครัด (ลดระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงกับระดับปกติให้มากที่สุดและปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้) หรือการรักษามาตรฐาน (ป้องกันอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและน้ำตาลในเลือดต่ำ) เมื่อสิ้นสุดการศึกษา DCCT แล้วผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการรักษาอย่างเคร่งครัดและชักชวนให้เข้าร่วมการศึกษา Epidemiology of Diabetes Interventions and Complications (EDIC) โดยมีค่า HbA1c เฉลี่ยระหว่างการศึกษา EDIC เหมือนกันในทั้ง 2 กลุ่ม อัตราการขับ albumin ได้ประเมินปีเว้นปีระหว่างการศึกษา EDIC ภาวะ microalbuminuria ประเมินจากอัตราการขับ albumin ที่เท่ากับ 30 มิลลิกรัมต่อ 24 ชั่วโมงหรือสูงกว่าจากการตรวจ 2 นัดติดต่อกัน และ macroalbuminuria ประเมินจากอัตราการขับ albumin ที่เท่ากับ 300 มิลลิกรัมต่อวันหรือสูงกว่า โดยประเมิน glomerular filtration rate จากผลตรวจ serum creatinine ประจำปีตลอดการศึกษา DCCT และ EDIC

ระหว่างปีที่ 1-18 ของการศึกษา EDIC พบผู้ป่วย 191 คน เกิด microalbuminuria (71 คนในกลุ่มที่รักษาเคร่งครัดระหว่างการศึกษา DCCT และ 120 คนในกลุ่มที่ได้รับการรักษามาตรฐานระหว่างการศึกษา DCCT; risk reduction 45%, 95% CI 26-59) และพบผู้ป่วย macroalbuminuria รายใหม่ 117 คน (31 คนในกลุ่มรักษาเคร่งครัด และ 86 คนในกลุ่มรักษามาตรฐาน; risk reduction 61%, 95% CI 41-74) ที่ปีที่ 17-18 ของการศึกษา EDIC พบว่า ความชุกของอัตราการขับ albumin ที่เท่ากับ 30 มิลลิกรัมต่อ 24 ชั่วโมงหรือสูงกว่าเท่ากับ 18.4% ในกลุ่มรักษาเคร่งครัดระหว่างการศึกษา DCCT เทียบกับ 24.9% ในกลุ่มรักษามาตรฐาน (p = 0.02) ระหว่างปีที่ 1-18 ของการศึกษา EDIC พบผู้ป่วยที่มี sustained estimated glomerular filtration rate ต่ำกว่า 60 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร (31 คนในกลุ่มรักษาเคร่งครัด และ 53 คนในกลุ่มรักษามาตรฐาน; risk reduction 44%, 95% CI 12-64)

ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 พบว่า การรักษาเบาหวานอย่างเคร่งครัดส่งผลดีต่อไตไปอีกอย่างน้อย 18 ปี ซึ่งประโยชน์ดังกล่าวน่าจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่จำเป็นต้องปลูกถ่ายไตได้