เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ต้องเจาะเลือด ไม่เจ็บ เทคโนโลยีล่าสุดเพื่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน

เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด

ไม่ต้องเจาะเลือด ไม่เจ็บ

เทคโนโลยีล่าสุดเพื่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน

สถานการณ์โรคเบาหวานในปัจจุบันถือเป็นปัญหาสำคัญของประชากรไทยและประชากรทั่วโลก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกล่าสุดพบว่า ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลก 382 ล้านคนเป็นโรคเบาหวาน ในจำนวนนี้มีประชากรไทยเป็นโรคเบาหวานถึง 3.2 ล้านคน และแนวโน้มมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี พ.ศ. 2573 จะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานถึง 552 ล้านคน นอกจากนี้ข้อมูลจากสมาพันธ์เบาหวานโลกยังระบุอีกว่าในปี พ.ศ. 2578 จะมีประชากรไทยมากถึง 1.1 ล้านคนเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น

การสร้างความตระหนักต่อสถานการณ์ของโรคเบาหวานและเพิ่มความตื่นตัวในการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานซึ่งนับเป็นโรคเรื้อรังที่มีความร้ายแรงติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศไทยให้มากขึ้นจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะโรคเบาหวานนอกจากจะเป็นโรคเรื้อรังที่มีความร้ายแรงแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนซึ่งมีอันตรายและมีค่าใช้จ่ายสูงอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย ตาบอด และการถูกตัดเท้าหรือขา หรืออาจรุนแรงนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อการมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีขึ้น 

เป็นที่ทราบกันดีว่า หนึ่งในวิธีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดคือการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองโดยการเจาะเลือด ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องเจาะเลือดวันละหลายครั้ง เพื่อให้ทราบว่าเวลานั้นระดับน้ำตาลในเลือดเป็นเท่าใด แต่เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดในปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานได้รับความเจ็บปวดจากการเจาะเลือด นอกจากนี้เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยการเจาะเลือดนั้น ถึงแม้ว่าตัวเครื่องเองจะมีราคาไม่สูงมากนัก แต่มีการสิ้นเปลืองในระยะยาว เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อแผ่นตรวจน้ำตาล (Strip) ที่ต้องใช้เป็นประจำทุกวันอีกด้วย   

ปัจจุบันมีนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้มีเบาหวานประเภท 1 และ 2 ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่ต้องเจาะเลือด ด้วยเทคโนโลยีล่าสุดของ Integrity Applications., Ltd.

Mr.Avner Gal President & CEO Integrity Applications., Ltd. กล่าวถึงการพัฒนานวัตกรรมเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดว่า เป็นระยะเวลาถึง 14 ปีในการวิจัยและพัฒนาเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่สามารถให้การวัดโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวดจากการเจาะเลือดได้จนประสบผลสำเร็จ โดยระบบการทำงานของเครื่องนี้เป็นการรวม 3 เทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกันคือ 1. Ultrasound 2. Electromagnetic (Conductivity) และ 3. Thermal (Heat Capacity)  

ในการทำงานของเครื่อง เพียงนำคลิปมาหนีบไว้ที่ติ่งหู โดยคลิปจะมีเซ็นเซอร์ขนาดเล็กเพื่อคำนวณค่าระดับน้ำตาลในเลือด และแสดงผลให้ทราบบนหน้าจอของเครื่อง ซึ่งการใช้งานนวัตกรรมดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความปลอดภัยและแม่นยำ โดยเครื่องจะบันทึกค่าโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องจดบันทึก แสดงค่าปัจจุบัน ย้อนหลัง ของค่าระดับน้ำตาลในเลือดได้ทั้งในรูปแบบรายละเอียดและกราฟ, สามารถส่งค่าที่วัดได้โดยการดาวน์โหลดไปให้แพทย์ผู้รักษา, เรียกดูประวัติย้อนหลังได้, แสดงค่าผลการวัดระดับน้ำตาลในเลือดและข้อมูลการใช้เครื่องได้ด้วยเสียง และแสดงค่าปริมาณระดับน้ำตาลสะสม HbA1c เมื่อได้วัดค่าโดยสม่ำเสมอตามที่กำหนดในคู่มือการใช้งาน โดยเครื่องนี้มีอายุการใช้งาน 10 ปี รับประกันการใช้งาน 2 ปี

“เครื่องนี้จะเก็บข้อมูลของผู้ป่วยโรคเบาหวานและสามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้ถึง 3 เดือน โดยเครื่องจะแสดงค่าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนตัว ชื่อ เพศ อายุ วัน เวลาที่ใช้งาน ค่าระดับน้ำตาลสะสม เป็นต้น โดยผลของระดับน้ำตาลในเลือดนี้สามารถส่งไปยังแพทย์ผู้ให้การรักษาได้ในรูปแบบกราฟ หรือ print ออกมาเพื่อนำติดตัวไปด้วยเมื่อต้องไปพบแพทย์ และยังสามารถใช้สาย USB เพื่อดึงข้อมูลไปไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อย่างง่ายดาย มีภาษาให้เลือกหลายภาษา หนึ่งในนั้นคือภาษาไทย เพื่อรองรับสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชาวไทยอีกด้วย” Mr.Avner กล่าว

Mr.Avner กล่าวอีกว่า ในฐานะผู้พัฒนานวัตกรรมมีความคาดหวังว่านวัตกรรมนี้จะสามารถตอบโจทย์ผู้ป่วยโรคเบาหวานได้อย่างลงตัว และเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในตลาดนวัตกรรมเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน จึงได้วางแผนการประชาสัมพันธ์และกระจายสินค้าไปในหลาย ๆ ประเทศซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในประเทศไทย นวัตกรรมดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยไม่ต้องเจาะเลือด ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับความเจ็บปวด สามารถใช้ได้มากกว่า 1 ครั้งต่อวัน เพราะในแต่ละวันผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลายครั้ง นอกจากนี้ยังสามารถพกพาเครื่องนี้ติดตัวไปด้วยได้ทุกที่ และยังสะดวกสบายในการตรวจวัดอีกด้วย

“นวัตกรรมนี้เป็นคำตอบในการติดตามและตรวจวัดค่าระดับน้ำตาลในเลือดได้บ่อยเท่าที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องการ และไม่ต้องเจาะเลือดหรือเจ็บตัว เพราะส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะไม่ชอบการที่ต้องไปเจาะเลือดตรวจที่โรงพยาบาล จึงเป็นสาเหตุให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเป็นไปได้อย่างไม่สม่ำเสมอ และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ในอนาคต” Mr.Avner กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน คุณภาณุพันธ์ โภคามาศ กรรมการบริหาร บริษัท กลูโค โซล์ฟ จำกัด ผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทย กล่าวว่า นวัตกรรมเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดได้รับการยอมรับจากสมาคมเบาหวานโลก และผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยนวัตกรรมดังกล่าวเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภท 1, 2 และในกรณีผู้ที่มีความเสี่ยง แพทย์ให้การวินิจฉัยว่าสมควรจะต้องควบคุมอาหารและวัดค่าระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันก่อนที่จะเป็นโรคเบาหวาน

สำหรับวิธีการใช้งาน ในเบื้องต้นผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องมา calibrate ก่อน โดยขณะนี้มีแผนจะจัดตั้งศูนย์ Center Service ขึ้นที่โรงพยาบาล เพื่อเป็นศูนย์สำหรับส่งผู้ป่วยโรคเบาหวานมา calibrate เพราะขั้นตอนการ calibrate จะต้องมีการเทียบค่ากับการเจาะเลือดจริง ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงก่อนที่จะนำเครื่องไปใช้งาน  

“หลังจากที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานซื้อเครื่องนี้ไปจะต้องทำการ calibrate ในครั้งแรก หลังจากนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถนำเครื่องกลับไปใช้งานได้ด้วยตนเอง โดยการใช้งานสะดวกสบาย เพราะผู้ป่วยไม่ต้องเจาะเลือดอีกต่อไปแล้ว เพียงแค่นำคลิปมาหนีบไว้ที่ติ่งหู ซึ่งที่คลิปจะมีเซ็นเซอร์ที่รวม 3 เทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน คือ 1. Ultrasound 2. Electromagnetic (Conductivity) และ 3. Thermal (Heat Capacity) ซึ่งผลการทดสอบพบว่าความแม่นยำสูงถึง 97% ตาม Clarke error grid” คุณภาณุพันธ์ กล่าว 

ในกรณีที่ประสงค์จะใช้เครื่องสามารถติดต่อเข้ามาที่บริษัทฯ หรือที่ศูนย์ Center Service ที่กำลังจะติดตั้งตามโรงพยาบาลเครือข่าย และอีกส่วนคือ ผู้ป่วยของโรงพยาบาล โดยทางโรงพยาบาลจะนำเสนอ Smart Program และใช้ Gluco Track ให้เป็นทางเลือกกับผู้ป่วยใช้ในการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด 

โดยขณะนี้กำลังแสวงหาความร่วมมือกับโรงพยาบาลเครือข่ายซึ่งเป็นพันธมิตร โดยจะจัดการบรรยายถึงทิศทางของการนำ Gluco Track Smart Program ไปใช้เพื่อประเมินผลตอบรับว่าเป็นอย่างไรบ้าง ในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยทุก 1 สัปดาห์จะให้ผู้ป่วยส่งข้อมูลค่าน้ำตาลเข้ามาที่ศูนย์ Center Service  ของโรงพยาบาลในเครือข่าย 

คุณภาณุพันธ์ กล่าวอีกว่า ในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยแผ่นตรวจน้ำตาล (Strip) จะพบว่ามีปัญหาคือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องเจ็บตัว ทำให้ไม่อยากเจาะเลือด อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ราคา Strip 1 แผ่น ประมาณ 30 บาท ซึ่งใน 1 วันจะต้องเจาะเลือดหลายครั้ง ตั้งแต่ก่อนอาหารเช้า หลังอาหารเช้า ก่อนอาหารกลางวัน หลังอาหารกลางวัน ก่อนอาหารเย็น หลังอาหารเย็น ไปตลอดชีวิตของผู้ป่วย นอกจากนี้ผลจากงานวิจัยยังพบอีกว่า ในการเจาะเลือดต้องใช้เลือดหยดที่สอง ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ทราบในจุดนี้ และยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น เรื่องของการล้างมือก่อนเจาะเลือด ซึ่งล้วนส่งผลต่อการเจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลได้ ทั้งหมดเป็นลักษณะของ human error ที่พบ แต่เทคโนโลยีล่าสุดของนวัตกรรมนี้ ลักษณะของ human error พบได้ลดลง ผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ต้องเจ็บในการนำไปใช้งาน และที่สำคัญคือ ค่าที่ได้มีความแม่นยำ เพราะตัวเลขได้ถูกบันทึกตามจริงตลอดเวลา แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากข้อมูลที่ผู้ป่วยส่งไป โดยดูจากเวลา วันที่ที่ผู้ป่วยใช้งาน เพราะ Gluco Track Smart Program ได้บันทึกไว้แล้ว

“แน่นอนว่าเมื่อเป็นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยจะต้องอยู่กับโรคนี้และดูแลตนเองไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นวิธีการสำคัญคือ จะต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ ซึ่งเครื่องนี้สามารถตอบโจทย์นั้นได้ และจากผลการทดสอบพบว่าผู้ป่วยที่ตรวจวัดค่าระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะจากการใช้เครื่องนี้ หรือจากการเจาะเลือด หากได้ตรวจอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ทราบระดับน้ำตาลในเลือดที่แท้จริง ทำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี เช่น ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย เป็นต้น ในมุมกลับกันในส่วนของแพทย์เอง จะทำให้แพทย์สังเกตอาการของผู้ป่วยได้สะดวกมากขึ้น เมื่อได้ผลที่ตรง ได้ความสม่ำเสมอ การดูแลผู้ป่วยจะง่ายขึ้น อาจปรับลดขนาดยา เพราะยาบางชนิดนั้นมีผลกระทบต่อตับในอนาคต”  

คุณภาณุพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดโดยไม่ต้องเจาะเลือดนี้ เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่จะช่วยเพิ่มโอกาส ทางเลือก และทางรอดให้แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานได้มากยิ่งขึ้น โดยจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่ต้องเจ็บตัวไปตลอดชีวิต”