ความสัมพันธ์ของการบริโภคผัก-ผลไม้และการเสียชีวิต

ความสัมพันธ์ของการบริโภคผัก-ผลไม้และการเสียชีวิต

BMJ 2014;349:g4490.

บทความเรื่อง Fruit and Vegetable Consumption and Mortality From All Causes, Cardiovascular Disease, and Cancer: Systematic Review and Dose-Response Meta-Analysis of Prospective Cohort Studies รายงานข้อมูลจากการศึกษาเพื่อประเมินและวัดความสัมพันธ์ของการตอบสนองกับปริมาณระหว่างการบริโภคผัก-ผลไม้และความเสี่ยงการตายทุกสาเหตุ การตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และการตายเนื่องจากโรคมะเร็ง

            นักวิจัยสืบค้นข้อมูลงานวิจัยจากฐานข้อมูล Medline, Embase และ Cochrane ถึงวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 2013 ในทุกภาษา งานวิจัยที่นำมาศึกษาเป็น prospective cohort study ซึ่งรายงานการประมาณค่าความเสี่ยงสำหรับการตายทุกสาเหตุ การตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และการตายเนื่องจากโรคมะเร็งตามระดับของการบริโภคผัก ผลไม้ นักวิจัยใช้ตัวแบบ random effects models คำนวณค่า pooled hazard ratios และ 95% confidence intervals และรวมความแปรปรวนระหว่างงานวิจัย และประเมินความสัมพันธ์ของการตอบสนองกับปริมาณที่เป็นเชิงเส้นและไม่เป็นเชิงเส้นจากข้อมูลชนิดของผัก-ผลไม้ที่บริโภคในแต่ละงานวิจัย

            การศึกษา meta-analysis นี้รวบรวมข้อมูลได้จากงานวิจัย 16 ฉบับ ระหว่างการติดตามซึ่งมีระยะตั้งแต่ 4.6 ถึง 26 ปี พบผู้เสียชีวิต 56,423 คน (11,512 คนจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และ 16,817 คนจากโรคมะเร็ง) จากผู้เข้าร่วมวิจัย 833,234 คน การบริโภคผัก-ผลไม้ที่มากขึ้นสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความเสี่ยงที่ต่ำลงต่อการตายทุกสาเหตุ โดยค่า pooled hazard ratios สำหรับการตายทุกสาเหตุเท่ากับ 0.95 (95% confidence interval 0.92-0.98) สำหรับการบริโภคผัก-ผลไม้เพิ่มขึ้นทุกหนึ่งหน่วยต่อวัน (p = 0.001), 0.94 (0.90-0.98) สำหรับผลไม้ (p = 0.002)  และ 0.95 (0.92-0.99) สำหรับผัก (p = 0.006) โดยมีค่า threshold ของการบริโภคผัก-ผลไม้ราว 5 หน่วยต่อวัน ซึ่งความเสี่ยงต่อการตายทุกสาเหตุไม่ลดลงอีกแม้รับประทานมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบความสัมพันธ์แบบกลับที่มีนัยสำคัญสำหรับการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (hazard ratio สำหรับการบริโภคผัก-ผลไม้ที่เพิ่มขึ้นทุกหนึ่งหน่วยต่อวันเท่ากับ 0.96, 95% confidence interval 0.92-0.99) ขณะที่การรับประทานผัก-ผลไม้มากขึ้นไม่สัมพันธ์กับความเสี่ยงการตายเนื่องจากโรคมะเร็ง

ข้อมูลจาก meta-analysis นี้เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนว่าการบริโภคผัก-ผลไม้ในปริมาณมากขึ้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ต่ำลงต่อการตายทุกสาเหตุ โดยเฉพาะการตายเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด