ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ
พัฒนานักวิจัย พัฒนางานวิจัยจากหิ้งไปสู่การใช้ประโยชน์
จากความต้องการที่จะสร้าง “ขา” ด้านงานวิจัยของตัวเอง ก่อกำเนิดเป็น “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือ The Thailand Research Fund (TRF)” องค์กรขนาดเล็กของรัฐภายใต้กำกับของสำนักนายกรัฐมนตรีที่มิได้ใช้ระบบราชการเป็นกลไกควบคุมองค์กร เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยใช้การวิจัยเป็นกลไกสร้างฐานความรู้สำหรับการแก้ปัญหาให้แก่สังคม ทั้งนี้บทบาทหน้าที่หลักสำคัญของ สกว. คือ สร้างคน สร้างองค์ความรู้ ผ่านกระบวนการสนับสนุนทุนวิจัย และบริหารจัดการงานวิจัย เน้นการบริหารจัดการแบบครบวงจรผ่านเครือข่ายการทำงานที่มีอยู่ทั่วประเทศ สนับสนุนการสร้างและพัฒนากำลังคนและนักวิจัยมืออาชีพสู่สังคมที่อาศัยความรู้ในการแก้ปัญหา ผลักดันการใช้ประโยชน์จากการวิจัยด้านเกษตร อุตสาหกรรม บริการ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงผลักดันให้เกิดการร่วมทุนกับภาคเอกชน หน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ ด้วยวิสัยทัศน์เป็นองค์กรที่สร้างสรรค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สังคมที่มีปัญญา สามารถใช้ความรู้จัดการกับศักยภาพและโอกาส เพื่อกำหนดอนาคตของตนเองทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ
ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ สกว. ได้ให้การสนับสนุนการวิจัยเป็นที่ประจักษ์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ก้าวต่อไปใทศวรรษที่สาม สกว. จะมีทิศทางการดำเนินงานเป็นอย่างไรต่อไปนั้น คงไม่มีใครทราบดีเท่ากับ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย คุณหมอผู้ซึ่งเข้ามารับหน้าที่เป็นจอมทัพคนที่ 4 ของ สกว. เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการก้าวเข้ามาสู่ สกว. ให้ฟังว่า
ผมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาประสาทวิทยา ประจำอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับผิดชอบดูแลงานด้านบริการและวิชาการ จึงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานทางด้านบริหาร ซึ่งโดยพื้นฐานผมเป็นคนสนใจและชอบทำงานวิจัยมาก ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มักจะทำด้านการวิจัยมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นประธานการวิจัยของสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย หรือประธานกรรมการวิจัยของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย รวมถึงการดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาซึ่งเป็นสถาบันที่ทำงานวิจัยด้านชุมชนและสังคม ที่นี่ผมเริ่มฉีกแนวจากการวิจัยทางสายแพทย์มาทำงานวิจัยทางด้านสังคม และภายหลังจากครบเทอมนี้แล้วก็ได้รับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตรงนี้ถือว่าเป็นการบริหารงานวิจัยเต็มตัว ครอบคลุมการบริหารงานวิจัยทุกด้านของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จนกระทั่งได้รับการคัดเลือกแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการ สกว. คนปัจจุบัน
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ กล่าวถึงการทำงานด้านการบริหารให้ฟังด้วยว่า ช่วงที่เป็นหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการทำงานด้านบริหารเต็มตัวครั้งแรก ยอมรับว่ามีความเครียดสูง ต้องใช้เวลาปรับตัวประมาณ 6-7 เดือน ต้องศึกษาเรียนรู้วิธีการบริหารโดยเข้าร่วมคอร์สฝึกอบรมผู้บริหาร รวมถึงต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หรือจากการพูดคุยกับอาจารย์อาวุโสผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหาร เราก็จะเรียนรู้จากท่าน และนำมาปรับใช้ในการบริหาร แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการบริหารงานทั่วไป ไม่มีเกี่ยวกับเรื่องการบริหารงานวิจัย ด้วยเหตุนี้ ทาง สกว. มีความคิดที่จะจัดทำคอร์สบริหารงานวิจัยขึ้น เนื่องจาก สกว. มีความโดดเด่นทางด้านนี้ เราจึงจะนำความโดดเด่นของเราขึ้นมาทำเป็นคอร์สอบรมเปิดการสอนให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยแบ่งหลักสูตรการฝึกอบรมเป็น 2 เรื่องคือ พื้นฐานทั่วไปของผู้บริหาร และแนววิธีการบริหารเพิ่มเติม เช่น การจัดทำแผน การดำเนินการตามแผน การจัดสรรงบประมาณ การบริหารงานบุคคล ทั้งนี้งานบริหารที่เราทำคือ งานบริหารทางวิชาการ งานบริหารการวิจัยว่าจะพัฒนานักวิจัย มีทุนการวิจัยอย่างไร และจะทำให้งานวิจัยสำเร็จได้อย่างไร รวมถึงการประเมินผลงานวิจัย การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัย จริยธรรมพื้นฐานของงานวิจัย เรื่องเหล่านี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนที่จะมาบริหารงานวิจัยควรจะต้องเรียนรู้
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ของการทำงานเป็นแพทย์มีส่วนมาช่วยเสริมงานตรงส่วนนี้ได้มาก เนื่องจากปกติแพทย์จะมีวิธีการทำงาน มีการคิดอย่างเป็นระบบ ขยัน อดทนในการทำงาน เพราะแพทย์มีเวลาในการทำงานที่ไม่จำกัด จากพื้นฐานเหล่านี้ทำให้เราสามารถทำงานบริหารได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเราเคยผ่านงานหนักมาก่อน อีกทั้งวิธีการทำงานของแพทย์จะต้องรวดเร็วทันเหตุการณ์ ต้องตอบสนองต่อความต้องการ และสิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุดของการเป็นแพทย์คือ การสื่อสารกับคน ทั้งนี้ผู้บริหารต้องอธิบายสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจทิศทางในสิ่งที่ทำ ซึ่งการที่เรามาจากสายแพทย์ก็จะเป็นประโยชน์ทำให้เราสามารถต่อยอดในการทำงานตรงนี้ได้ นอกจากนี้งานในส่วนของการรักษาคนไข้ผมก็ยังทำอยู่ เนื่องจากผมยังไม่อยากหยุดงานตรงส่วนนี้ โดยในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ที่เดินทางกลับขอนแก่น ผมก็จะดูคนไข้ที่โรงพยาบาล และสอนเรสซิเดนท์ควบคู่กันด้วย
สำหรับเป้าหมายที่ตั้งใจจะทำในฐานะผู้อำนวยการ สกว. นั้น ศ.นพ.สุทธิพันธ์ กล่าวว่า เนื่องจาก สกว. เป็นหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือจากนักวิจัยเป็นจำนวนมาก แต่ผมคิดว่าถ้าเราทุกคนช่วยกันระดมสมองก็จะสามารถพัฒนาองค์กรให้มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป ทั้งนี้ผมคิดว่าการทำองค์กรที่ไม่ดีให้เป็นดีก็ยากแบบหนึ่ง แต่การทำองค์กรที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีกก็เป็นเรื่องยากอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมได้รับโจทย์มาและเป็นยุทธศาสตร์ที่อยากจะดำเนินการในช่วง 4 ปีข้างหน้า ได้แก่ การกำหนดประเด็นการให้ทุนวิจัยให้มีความคมชัดตรงตามยุทธศาสตร์วิจัยของชาติ และตอบสนองต่อปัญหาของประเทศ นั่นหมายความว่าประเทศมีปัญหาในเรื่องอะไร เราต้องเข้าไปช่วยให้ทุนวิจัย เพื่อเอาความรู้เหล่านั้นมาแก้ปัญหาประเทศ ซึ่งนอกจากจะทำการวิจัยแล้ว เรายังต้องวิจัยเพื่อตอบโจทย์ปัญหาในอนาคตด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นการวิจัยเพื่อแก้ปัญหา และนำผลการวิจัยไปพัฒนาประเทศ รวมถึงวิจัยในเรื่องป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เป้าหมายกลุ่มใหญ่ ๆ จะเป็นเรื่องเหล่านี้เพื่อให้ตรงกับยุทธศาสตร์วิจัยของประเทศ ซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นหัวข้อประเด็นวิจัยต่าง ๆ ให้ตรงมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่เราอยากทำคือ การวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น วิจัยแล้วได้ผลตอบแทนกลับมา โดยอาจกลับมาในรูปแบบของตัวเงิน
ขณะนี้สิ่งที่ผมอยากทำเป็นอันดับแรกคือ การเรียนรู้องค์กร ทำความเข้าใจกับองค์กรอย่างละเอียด เพื่อที่จะได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยยุทธศาสตร์ที่จะเลือกทำในลำดับต้นคือ พัฒนานักวิจัย พัฒนาหน่วยงานการวิจัย รวมถึงการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องรีบทำ เนื่องจากงานวิจัยในอดีตของ สกว. มีจำนวนมาก และมีคนทักท้วงเสมอว่าวิจัยแล้วขึ้นหิ้ง ดังนั้น หน้าที่ของเราคือนำการวิจัยจาก “ขึ้นหิ้งไปขึ้นห้าง”
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ ยังกล่าวถึงปัญหาหรือจุดอ่อนของงานวิจัยในประเทศไทยด้วยว่า ประเทศไทยยังขาดแคลนในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของนักวิจัย ขาดแคลนทุนวิจัย ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์เครื่องมือทางเทคโนโลยี ซึ่งในแง่ของนักวิจัยเองเรายังขาดการพัฒนานักวิจัยมืออาชีพ แม้ว่า สกว. จะมีส่วนช่วยทำให้คนเข้าใจงานวิจัยพอสมควรก็ตาม แต่เท่าที่ดูน่าจะยังอยู่ในวงวิชาการ ประชาชนทั่วไปยังไม่เข้าใจงานวิจัย สิ่งนี้เป็นสาเหตุให้ไม่เกิดกระแสของสังคมที่จะทำให้มีการทุ่มเทการวิจัยเพื่อให้มีสิ่งใหม่ ๆ ดี ๆ เกิดขึ้น ซึ่งถ้าถามตัวผมว่างานวิจัยมีความสำคัญหรือไม่ ดูเปรียบเทียบได้จากการผลิตนักศึกษาปริญญาเอกหนึ่งคน การที่เขาจะสำเร็จได้งานหลักที่เขาต้องทำคืองานวิจัย สำหรับผมจึงเห็นว่างานวิจัยเป็นสิ่งสำคัญ และในส่วนความต้องการของนักวิจัย สิ่งที่นักวิจัยต้องการคือ ให้สังคมเห็นความสำคัญของงานวิจัยและอยากให้เห็นว่างานวิจัยมีคุณค่าไม่ว่างานวิจัยนี้จะขึ้นหิ้งหรือไม่ เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่มีงานวิจัยไหนที่ขึ้นหิ้ง เนื่องจากงานวิจัยที่เราทำได้มีการตีพิมพ์ผลงานในระดับนานาชาติ ทุกคนที่สนใจในเรื่องนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ผลงานวิจัยที่ได้ไม่ใช่ว่าจะสามารถนำไปใช้ได้ทั้งหมด ยังมีผลงานวิจัยซึ่งทำไปแล้วแต่ยังไม่เห็นผลการนำไปใช้ที่ชัดเจน แต่ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจึงมีการนำไปใช้ งานวิจัยเหล่านี้คงมีอีกจำนวนหนึ่งที่ยากจะคาดคะเน จึงต้องมีการรวบรวมไว้ที่ฐานข้อมูลนานาชาติเพื่อในวันหนึ่งที่ใครต้องการนำไปใช้จะได้ค้นหาได้ถือเป็นประโยชน์สาธารณะ และเมื่อผลงานเหล่านี้มีการก่อตัวมากขึ้นก็จะกลายเป็นเทคโนโลยี เปรียบได้กับการต่อจิ๊กซอว์ เพียงแต่ว่าประเทศไทยขณะนี้ยังไม่สามารถนำมาต่อยอดแบบนี้ได้ ซึ่งต่างจากในต่างประเทศที่สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาต่อยอดกลายเป็นเทคโนโลยี กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ได้ประโยชน์มากมาย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการนำผลงานวิจัยเหล่านี้ไปใช้ต้องมีอีกหลายขั้นตอน ต้องมีการสะสมองค์ความรู้ระดับหนึ่ง ต้องมีคนคิดต่อยอด มีการสนับสนุนสร้างนักวิจัยมืออาชีพ สนับสนุนในเรื่องของทุนวิจัย และมีโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้ว่าจะยังเป็นเรื่องที่ยากมากก็ตาม แต่สำหรับความร่วมมือของหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมีความร่วมมือกันดีมาก เรามีเวทีแลกเปลี่ยนพูดคุยกันทุก 2 เดือน มีการทำงานร่วมกัน โดยการจัดตั้งเป็น “เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.)” ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)
ท้ายสุดนี้ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ ยังฝากกำลังใจถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจในการทำวิจัยว่า ขอให้มีความภาคภูมิใจว่าสิ่งที่ท่านทำอยู่เป็นประโยชน์ต่อประเทศมาก เพราะฉะนั้นจงอย่าท้อถอย เริ่มต้นมักจะเหนื่อยและยาก เมื่อทำไปก็จะยากและเหนื่อย แต่ทุกคนก็ต้องอดทน และสุดท้ายจะเกิดความสำเร็จ เรามาชื่นชมผลสำเร็จเมื่อเวลาผ่านไปอันนี้เป็นความสุข เป็นความสุขที่ได้สร้างสิ่งดี ๆ ให้แก่ประเทศ ความสุขที่ได้ทำงานที่ได้รับมอบหมายที่เป็นประโยชน์ได้สำเร็จ ความสุขที่ได้มีคนนำผลงานวิจัยของเราไปใช้ประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นความสุขที่สุดและเป็นสิ่งที่ดีด้วย