รศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร
กับการนำโรงพยาบาลเด็กสู่เส้นทาง TQA
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือที่หลาย ๆ คนคุ้นเคยในชื่อของโรงพยาบาลเด็ก เป็นโรงพยาบาลภาครัฐที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้บริการดูแลรักษาโรคเด็กระดับตติยภูมิหรือสูงกว่าในโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนสำหรับผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน นอกจากนี้ยังรับรักษาผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากสถานพยาบาลทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนมาเป็นเวลานาน 59 ปี ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องภายใต้แผนกลยุทธ์องค์กรที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางคลินิก (Clinical Excellence) ตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ตามนโยบาย 5 ประการ ได้แก่ การเป็นที่พึ่งของเด็กเจ็บป่วยในโรคที่ยุ่งยากซับซ้อนที่ต้องการความชำนาญเป็นพิเศษ (Excellence Center) เด็กป่วยต้องได้รับการดูแลรักษาเอาใจใส่เป็นอย่างดี (HA HPH & Humanized Care) การมีบทบาทในการชี้นำเชิงนโยบายสุขภาพเด็กระดับชาติ (Policy Advocacy) ระบบการเรียนการสอนให้ความสำคัญทั้งเชิงวิชาการ สังคม และจริยธรรมควบคู่กัน และบุคลากรองค์กรต้องมีความสุข สนุกกับการทำงานและอยากมาทำงาน (Happy People and Healthy Work Place) โดยเร่งรัดพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพที่เน้นเรื่องการพัฒนาระบบทรัพยากรบุคคล (Human Resource Development) การนำแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) มาประเมินและปรับปรุงหน่วยงาน การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัย และการปรับโครงสร้างช่องทางระบบการสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์กร ภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะเป็น “ศูนย์กลางการดูแลรักษาสุขภาพเด็กในระดับสากลภายในปี พ.ศ. 2559” ทำให้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้รับการคัดเลือกจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้รับรางวัล “การบริหารสู่ความเป็นเลิศ หรือ Thailand Quality Class (TQC)” ประจำปี พ.ศ. 2556 พร้อมเส้นทางสู่รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ Thailand Quality Award (TQA) ในก้าวต่อไป
รศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้เปิดเผยถึง “เส้นทางสู่ TQA โรงพยาบาลเด็ก” ให้ฟังว่า เส้นทางสู่ TQA ได้ถูกวางแผนไว้ในแผนยุทธศาสตร์ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีตั้งแต่ต้น พ.ศ. 2552 เป็นปีที่เรามีการระดมสมองปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ วิสัยทัศน์ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้ถูกเปลี่ยนจาก “ศูนย์กลางโรคเด็กแห่งประเทศไทย” เป็น “ศูนย์กลางการดูแลรักษาสุขภาพเด็กในระดับสากลภายในปี พ.ศ. 2559” เป็นความท้าทายสำคัญที่ถูกกำหนดในการปรับแผนยุทธศาสตร์ครั้งนี้ รวมทั้งกำหนดจังหวะก้าวในการส่งรายงาน TQC เพื่อคาดว่าจะได้รับรางวัลในปี พ.ศ. 2556 และอาจได้รับรางวัล TQA ในปี พ.ศ. 2559 ทั้งนี้รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) ถือเป็นรางวัลระดับโลก (World Class) เนื่องจากมีพื้นฐานทางด้านเทคนิคและกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) ซึ่งเป็นต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ประเทศต่าง ๆ หลายประเทศทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น โดยเกณฑ์การจะได้รางวัลเป็นเกณฑ์ด้านการบริหารจัดการเพื่อกำกับและเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงาน เพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือได้ผลลัพธ์ที่เป็นเลิศและยั่งยืน แนวทางของเกณฑ์ถูกวางไว้อย่างเป็นระบบ มีเป็นระดับ และรอบด้าน มีผลให้หน่วยงานที่นำเกณฑ์ไปใช้ในองค์กรจะเกิดการบริหารจัดการที่ดี เกิดการเพิ่มศักยภาพบุคลากร ส่งผลให้การดำเนินงานมีผลลัพธ์ก้าวสู่ความเป็นเลิศและยั่งยืน สามารถแข่งขันกับภาคธุรกิจเดียวกันทั้งในระดับประเทศและนานาประเทศได้ เรื่องนี้บรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 โดยมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งการจะได้รับเป็น TQA ระดับคะแนนจะอยู่ระหว่าง 650-1,000 คะแนน และ TQC ระดับคะแนนอยู่ระหว่าง 350-650 คะแนน
ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานที่ได้รับรางวัล TQA เพียง 4 หน่วยงาน หน่วยงานได้รับรางวัลระดับ TQC นับถึงปี พ.ศ. 2556 มี 62 หน่วยงาน และในปี พ.ศ. 2557 อีก 10 หน่วยงาน ไม่มีหน่วยงานใดได้รับรางวัล TQA หน่วยงานที่ได้รับรางวัล TQC ของปีนี้ส่วนใหญ่เป็นภาคธุรกิจ เป็นภาคสาธารณสุขเพียง 2 หน่วยงานคือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งหน่วยงานภาคสาธารณสุขที่เคยได้รับรางวัล TQC มี 3 หน่วยงานคือ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน ดังนั้น การได้รับรางวัลครั้งนี้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีนับเป็นหน่วยงานสาธารณสุขลำดับที่ 4 (5) ของประเทศ เป็นลำดับที่ 2 ของกระทรวงสาธารณสุข และเป็นลำดับที่ 1 ของโรงพยาบาลตติยภูมิ กระทรวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม เกณฑ์รางวัล TQA เป็นกรอบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการพัฒนาที่ผ่านมา จุดเน้นจะอยู่ที่ผลลัพธ์ด้านการรักษาพยาบาลคุณภาพ การส่งเสริมสุขภาพ การบริหารจัดการพื้นฐาน ความคาดหวังผลลัพธ์ของหน่วยงานไม่เน้นการเปรียบเทียบ ความเชื่อมโยงของระบบสุขภาพและการบริหารจัดการไม่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับว่ามิติความเป็นเลิศทางการแพทย์จะไม่มีทางสำเร็จถ้าไม่มีมิติการบริหารจัดการในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านพื้นฐาน เช่น 5 ส. (สิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงทางคลินิก ฯลฯ) แต่ต้องครอบคลุมประเด็นบริหารจัดการที่จะมีผลต่อผลการรักษาพยาบาลที่กว้างขวางขึ้น เช่น การวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ที่นำปัจจัยสำคัญมาประกอบการตัดสินใจ การบริหารจัดการความเสี่ยงทุกประเด็นที่จะมีผลต่อความต่อเนื่องของการดำเนินธุรกิจ (business continuity) การให้ความสำคัญกับการดูแลสังคม การให้ความสำคัญกับการเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นเพื่อให้รู้สถานภาพตัวเอง จะได้มั่นใจว่าไปในทิศทางสู่ความเป็นเลิศ การบริหารจัดการระบบการให้บริการ การบริหารจัดการงบประมาณ ทั้งในระบบและนอกระบบ ฯลฯ โดยกรอบการคิดเชิงบริหารจัดการที่กว้างขวางเหล่านี้จะเชื่อมโยงสู่ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้องค์กรก้าวสู่ความเป็นเลิศ ดังนั้น เมื่อกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสนับสนุนการนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพภายใต้บริบทภาครัฐที่เรียกว่า PMQA (Public Management Quality Award) ให้หน่วยงานของกรมใช้เมื่อปี พ.ศ. 2549 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีจึงเข้าร่วมดำเนินการ ต่อมาคณะกรรมการบริหารตัดสินใจขยับเกณฑ์ PMQA เป็นเกณฑ์มาตรฐานกลางคือ TQA ในปี พ.ศ. 2552
ทั้งนี้ในฐานะผู้อำนวยการได้มอบนโยบายทำงาน 5+4 ตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่ โดยประกาศการพบองค์กร ครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551 นโยบาย 5 ข้อหลักคือ ภาระงานตามพันธกิจ ได้แก่ การเป็นเลิศด้านคลินิก (excellent clinical center) การชี้นำเชิงนโยบาย (advocacy) การถ่ายทอดฝึกอบรม (training) โดยนโยบายระบุเครื่องมือดำเนินการและแนวคิด เสริมด้วยเน้นการดูแลผู้มารับบริการ และบุคลากรของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งเป็นผู้รับผลงานและผู้ปฏิบัติผลงาน นโยบายเร่งรัดพัฒนา +4 คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสนับสนุน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. ด้านบุคลากร 2. ด้านการปฏิบัติตามแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติขณะนั้น ยังเป็น PMQA 3. ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 4. ด้านประชาสัมพันธ์ตอนกำหนดนโยบายยังไม่ลึกซึ้งกับเกณฑ์ TQA กำหนดโดยทิศทางการบริหารที่ต้องการผลักดัน และการประมวลสถานการณ์ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีจริง ซึ่งก็เป็นประเด็นที่อยู่ในเกณฑ์รางวัลคุณภาพระดับหนึ่ง จึงนับว่านโยบายการบริหารสอดคล้องและสนับสนุนเกณฑ์รางวัลคุณภาพ
นอกจากนี้การกำหนดจังหวะก้าวการพัฒนาสู่วิสัยทัศน์มีผลสนับสนุนการดำเนินการตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพ เพราะจากจุดเริ่มต้นโรงพยาบาลเด็กในปี พ.ศ. 2497 และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีในปี พ.ศ. 2539 จนถึงปีนี้เป็นปีที่ 60 (60 ปี โรงพยาบาลเด็ก) โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ อาคาร เครื่องมือ มีอายุการใช้งานมาก การบริหารจัดการระบบ เช่น การให้บริการ กำลังและความสามารถของคน ระบบการสื่อสาร ระบบเทคโนโลยี ฯลฯ มีประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไขให้ทันการเปลี่ยนแปลง จึงได้กำหนดจังหวะก้าว จุดเน้นในแต่ละระยะเพื่อเป็นกรอบในการก้าวสู่วิสัยทัศน์ ประเด็นเหล่านี้มีผลสนับสนุนการดำเนินการตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพ ตั้งแต่ปรับโครงสร้างพื้นฐาน ปรับการบริหารจัดการ ทั้งในการบริหารกำลังคน การบริหารจัดการระบบให้บริการผู้ป่วย ระบบสื่อสาร ระบบเทคโนโลยี รวมถึงไม่ปฏิเสธเครื่องมือพัฒนาคุณภาพใหม่ ๆ ทั้งนี้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมการบริการ ทั้งคลินิกและการบริหารจัดการ อีกทั้งได้กำหนดความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายรวมถึงเรื่องการดูแลพลังงานตั้งแต่เริ่มต้น และด้วยความสามารถของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ทำให้ในปี พ.ศ. 2557 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้รับรางวัลอาคารประหยัดพลังงานดีเด่นจากการไฟฟ้านครหลวง
จะเห็นว่าจังหวะก้าวสู่การบริหารจัดการมีความจำเป็นต้องมีงบประมาณสนับสนุน ระบบงบประมาณปกติของกรมการแพทย์หรือของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากจะต้องมีการกำหนดแผนล่วงหน้าเป็นปีแล้ว ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องวงเงิน เพราะกรม กระทรวง ต้องดูแลโรงพยาบาลและหน่วยงานจำนวนมาก จึงช่วยได้ระดับหนึ่ง การจะก้าวสู่วิสัยทัศน์ หรือการจะมีผลงานผ่านเกณฑ์ TQA จำเป็นต้องมีงบประมาณสนับสนุน ซึ่งในระยะที่ผ่านมา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานที่เป็นหลักคือ โครงการไทยเข้มแข็ง กองสลากกินแบ่งรัฐบาล มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และที่เป็นเกียรติและความภูมิใจของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเป็นอย่างมากคือ การที่มีคณะบุคคลเข้ามาช่วยหางบประมาณสนับสนุนสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ผ่านกองทุนอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินี (ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโรคเด็ก) ในมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก โดยการนำของประธานคณะกรรมการอำนวยการกองทุนฯ ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย
ทำไมจึงกำหนดปี พ.ศ. 2556 เป็นปีที่จะได้รับรางวัล TQC ปี พ.ศ. 2559 ก้าวสู่วิสัยทัศน์ เนื่องจากในการผลักดันงานตามจังหวะการพัฒนามุ่งสู่วิสัยทัศน์ ความฝันในการจะพัฒนางานต่าง ๆ ไม่ได้ง่าย ๆ แบบคิดแล้วได้เลย หลายเรื่องต้องมีกระบวนการทางราชการ เช่น การพัฒนา IT การจัดการปัญหาบุคลากร การปรับโครงสร้าง ฯลฯ อุปสรรคมีได้ตลอดทาง และจากการระดมสมองของชาวสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ถ้าจะให้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีดำเนินการได้ตามวิสัยทัศน์ และพร้อมจะเป็นหลักของกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลรักษาสุขภาพเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีมีประเด็นพัฒนาปรับปรุงมาก ทำให้ “กะเอา” ว่าน่าจะสำเร็จตาม Mid Vision Goal ในปี พ.ศ. 2556 และจะก้าวสู่วิสัยทัศน์ในปี พ.ศ. 2559
ทั้งหมดคือความเป็นมาในระยะต้นของ “เส้นทางสู่รางวัล TQA” ในการดำเนินการภาพรวม มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับทิศทางงานพัฒนาคุณภาพ มีผู้อำนวยการเป็นประธาน และมีคณะกรรมการงานคุณภาพ คือด้าน HA และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีโชคดีที่มีรองประธานที่เข้มแข็งคือ ทพญ.ปาริชาติ คำจิ่ม ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการปฏิบัติการ มีสมาชิกที่ทุ่มเท กำกับให้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีมีกระบวนการในการบริหารจัดการได้ตามเกณฑ์ ตามเป้าหมายระยะ Mid Vision Goal ที่วางไว้ทุกประการ