โภชนาการช่วงแรกของชีวิต กำหนดสุขภาพและโรคในอนาคต

ภาพประกอบ 1. ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 2. รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ 3. รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ

โภชนาการช่วงแรกของชีวิต กำหนดสุขภาพและโรคในอนาคต

การได้รับสารอาหารต่าง ๆ ในปริมาณที่ถูกต้องและเหมาะสมกับช่วงเวลาในช่วงแรกของชีวิต ไม่ว่าจะขณะที่อยู่ในครรภ์มารดาหรือภายหลังคลอดจะทำให้ทารกมีพัฒนาการไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีในอนาคต ในทางตรงกันข้าม หากทารกที่ได้รับสารอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ทั้งมากเกินไปหรือน้อยเกินไป และในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม จะทำให้ทารกมีพัฒนาการไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพไม่ดี มีโรคเรื้อรังและร้ายแรงมารบกวนคุณภาพชีวิตได้มากมาย การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในเอเชียทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพปัญหาภาวะทุพโภชนาการจากการขาดสารอาหารบางชนิดลดลง แต่พบภาวะโภชนาการเกินและนำไปสู่โรคอ้วนมากขึ้น โดยเฉพาะในประชากรที่อยู่ในช่วงแรกของชีวิต

ด้วยเหตุนี้ทีมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญซึ่งประกอบด้วย สูติแพทย์ กุมารแพทย์ และนักโภชนาการจากสถาบันต่าง ๆ ของประเทศไทยจึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “เครือข่ายโภชนาการช่วงแรกของชีวิตประเทศไทย” (Early Life Nutrition Network Thailand) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของโภชนาการในช่วงแรกของชีวิต (Early Life Nutrition) ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในระยะต่อมาของทุกคนในทุกช่วงวัยและการเกิดโรคเรื้อรังร้ายแรงต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ก่อนขยายสู่ประชาชนทั่วไป โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร มารดาของทารก และเด็กเล็ก

.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการวางแผนกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการรวบรวมผลการสำรวจภาวะโภชนาการและสุขอนามัยของแม่และเด็ก ร่วมกับการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียโดย NutriPlanet ว่า ร้อยละ 4-26 ของหญิงตั้งครรภ์ในเอเชียมีปัญหาทั้งน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และร้อยละ 16-44 มีน้ำหนักเกินถึงอ้วน และยังพบปัญหาขาดสารอาหารที่สำคัญ ได้แก่ แคลเซียม วิตามินดี เหล็ก และโฟเลต นอกจากนี้ยังพบภาวะทุพโภชนาการที่ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงในประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม และพบปัญหาเด็กเตี้ยแคระแกร็นสูงกว่าร้อยละ 30 ในประเทศจีน มาเลเซีย รวมทั้งประเทศไทย แม้ว่าปัญหาเด็กเตี้ยแคระแกร็นจะไม่มากเท่าประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม แต่ก็ยังพบได้ถึงร้อยละ 10-20 ซึ่งยังต้องมีมาตรการดูแลที่เข้มข้นเพื่อลดลงให้ได้มากกว่านี้ ในขณะที่เด็กในประเทศสิงคโปร์และฮ่องกงมีภาวะเตี้ยแคระแกร็นอยู่ในระดับที่ควบคุมได้คือ น้อยกว่าร้อยละ 5

“ในแต่ละปีมีทารกที่เกิดมามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์คือ 2,500 กรัม ประมาณ 20 ล้านคน ผลที่ตามมาคือทารกเหล่านี้จะมีปัญหาเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร และเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังตามมา ปรากฏการณ์นี้ชัดเจนมาก เพราะการขาดอาหารขณะตั้งครรภ์จะมีผลต่อการแสดงออกของพันธุกรรมอย่างชัดเจน ตั้งแต่การเจริญเติบโตของสมอง ภูมิคุ้มกันโรค รวมถึงพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย จึงเป็นเหตุผลที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในเรื่องโภชนาการที่ดีตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต ไม่เพียงเท่านั้น ทารกที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสมนอกจากจะเกิดปัญหาน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์แล้วยังตัวเตี้ยแคระแกร็น โดยทั่วโลกพบเด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ประมาณ 150 ล้านคน เตี้ยแคระแกร็นประมาณ 165 ล้านคน ในทางตรงกันข้ามเริ่มมีปัญหาทารกที่มีโภชนาการเกินคือ เกิดมาน้ำหนักเกิน 4,000 กรัม ซึ่งมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานและโรคอ้วนได้ในอนาคต ในการแก้ปัญหาจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องโภชนาการที่จำเป็นตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต คือช่วงเวลาในครรภ์มารดาที่ยาวนานประมาณ 9 เดือน หรือประมาณ 270 วัน รวมกับอายุหลังคลอดอีก 2 ปี หรือประมาณ 730 วัน เพราะฉะนั้นช่วงแรกของชีวิตคือ ระยะเวลาประมาณ 1,000 วัน นับตั้งแต่เริ่มมีปฏิสนธิ”

.นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ถึงแม้จะมีความพยายามอย่างดียิ่งในการจัดการกับปัญหาโภชนาการในช่วงแรกของชีวิตในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยมาโดยตลอด แต่ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนามาตรการในการส่งเสริมความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของโภชนาการในช่วงแรกของชีวิตที่จะมีผลกำหนดสุขภาพชีวิตในวันข้างหน้า อันจะนำไปสู่การปฏิบัติในการดูแลภาวะโภชนาการที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ การส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตลอดจนการให้อาหารตามวัยแก่ทารกและเด็กเล็กด้วยปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ผ่านแนวทางในการให้อาหารตามช่วงวัยต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยให้ประชากรในอนาคตของเอเชียและประเทศไทยมีสุขภาพที่แข็งแรง และลดโอกาสในการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่สร้างภาระอย่างมากต่อระบบบริการสาธารณสุข และยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานเครือข่ายโภชนาการช่วงแรกของชีวิตประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาทุพโภชนาการ 2 ลักษณะในเวลาเดียวกัน (Double burden of malnutrition) คือในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งได้รับอาหารมากเกินไป (over-nutrition) ในเวลาเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับอาหารน้อยเกินไป (under-nutrition) การได้รับอาหารมากเกินไปทำให้สตรีวัยเจริญพันธุ์กลายเป็นคนอ้วน ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2552 พบว่า ประเทศไทยมีสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่อ้วนถึงร้อยละ 41 ซึ่งส่วนหนึ่งของสตรีกลุ่มนี้จะเป็นแม่ที่อ้วน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งแม่และทารกที่คลอดออกมา แม่ที่อ้วนมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ตลอดช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการแท้งบุตร การเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคครรภ์เป็นพิษ การคลอดยาก รวมถึงการติดเชื้อหลังคลอด เป็นต้น

“การได้รับอาหารน้อยเกินไปมักจะเกิดในเขตชนบทของประเทศ ส่งผลให้แม่มีสุขภาพที่อ่อนแอและเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย ขณะที่สถานการณ์ของการขาดสารอาหารในประเทศไทยในปัจจุบันพบว่า การขาดธาตุเหล็กและไอโอดีนยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญ จากการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2546 พบว่า แม่ที่ตั้งครรภ์มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กถึงร้อยละ 26 ในขณะที่แม่ที่ให้นมบุตรมีภาวะดังกล่าวถึงร้อยละ 30 และจากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2550 ก็พบว่า มีสตรีตั้งครรภ์จำนวนมากที่มีปัญหานี้”

รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาของทารกและเด็กเล็กทั้งในกลุ่มที่น้ำหนักมากเกินไปและกลุ่มที่น้ำหนักน้อยเกินไป เช่นเดียวกับกลุ่มคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ และยังมีปัญหาของเด็กที่มีภาวะเตี้ยและแคระแกร็น (Stunting) อีกด้วย ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2556 พบว่า 1 ใน 5 ของเด็กไทยอายุ 3-13 ปี มีน้ำหนักเกินและอ้วน สอดคล้องกับการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่พบเด็กก่อนวัยเรียนร้อยละ 8-20 และเด็กในวัยเรียนร้อยละ 5-16 มีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน

ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลจากการสำรวจเดียวกันในปี พ.ศ. 2556 พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของเด็กไทยอายุ 6 เดือน ถึง 13 ปี ได้รับแคลเซียม เหล็ก สังกะสี วิตามินเอ และวิตามินซี จากอาหารต่ำกว่าที่ควร และมีเด็กมากกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มอายุ 3-13 ปี มีภาวะขาดธาตุเหล็กและวิตามินดี ขณะที่ข้อมูลจาก UNICEF ในปี พ.ศ. 2557 ระบุว่าร้อยละ 16 ของเด็กไทยอายุ 0-59 เดือน มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นในระดับปานกลางถึงรุนแรง ทั้งนี้ปัญหาการได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสมมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งมักเป็นปัญหาในแม่ที่ได้รับอาหารน้อยเกินไป แต่ปัจจุบันยังคงมีอีกปัญหาหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าปัจจัยดังกล่าวคือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโภชนาการในสตรีตั้งครรภ์และในทารกแรกเกิด

ด้วยตระหนักถึงภัยคุกคามจากภาวะทุพโภชนาการดังกล่าว นักวิชาการกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบด้วยสูติแพทย์ กุมารแพทย์ และนักโภชนาการจากสถาบันต่าง ๆ ของประเทศไทยจำนวน 11 คน นำโดย ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการวางแผนกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารแห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “เครือข่ายโภชนาการช่วงแรกของชีวิตประเทศไทย” (Early Life Nutrition Network Thailand) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของโภชนาการในช่วงแรกของชีวิต ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในระยะต่อมา รวมทั้งโอกาสในการเกิดโรคเรื้อรังร้ายแรงต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

รศ.นพ.วิทยา กล่าวอีกว่า ในการประชุม 8th World Congress on Developmental Origins of Health and Disease (DOHaD 2013) ที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 17-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 นักวิชาการกลุ่มหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยสูติแพทย์ กุมารแพทย์ และนักโภชนาการ ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมดังกล่าว และได้มีโอกาสพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับประเด็นโภชนาการในช่วงแรกของชีวิต ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งของการประชุมครั้งนี้

“ภายหลังการพบปะสนทนาทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีการเคลื่อนไหวและดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องโภชนาการในช่วงแรกของชีวิตกันอย่างคึกคัก และมีการดำเนินการในระดับประเทศก้าวหน้าไปอย่างมากแล้ว ประเทศไทยยังไม่มีใครริเริ่มดำเนินงานในเรื่องนี้เลย ทั้ง ๆ ที่เรามีนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนี้อยู่จำนวนไม่น้อย เพียงแต่กระจายกันทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ อย่างไม่สัมพันธ์กัน การจะรอให้หน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการอาจจะต้องใช้เวลาอีกนาน รวมทั้งยังอาจมีปัญหาในด้านความคล่องตัวของการทำงาน คณะนักวิชาการกลุ่มนี้จึงมีความเห็นร่วมกันว่า เราควรจะสร้างเครือข่ายในการทำงานเรื่องนี้ในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมเช่นเดียวกับในต่างประเทศ จากความคิดดังกล่าวนำมาซึ่งการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557 เพื่อจัดตั้งเครือข่ายโภชนาการช่วงแรกของชีวิตประเทศไทย และการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการของเครือข่าย”

ทั้งนี้เครือข่ายโภชนาการช่วงแรกของชีวิตประเทศไทย มีการดำเนินงานใน 3 กลุ่มงานหลักอิงตามแต่ละช่วงวัยของทารก ซึ่งมีปัญหาและแนวทางการแก้ไขแตกต่างกัน ประกอบด้วย กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร กลุ่มทารกและเด็กเล็ก และกลุ่มวิชาการโภชนาการและสาธารณสุข โดยภารกิจหลักของคณะกรรมการเครือข่ายโภชนาการช่วงแรกของชีวิตประเทศไทย จะดำเนินงานในรูปแบบของสมาคมที่ไม่แสวงหากำไร เน้นการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโภชนาการในช่วงแรกของชีวิต การดำเนินงานในระยะแรกจะทำผ่านกิจกรรมให้ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งด้านการสร้างแนวทางในการปฏิบัติงานและการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขก่อน เพื่อให้มีความสามารถให้ความรู้และดูแลสตรีตั้งครรภ์และทารก รวมทั้งเด็กเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในระยะยาวจะขยายขีดความสามารถในการทำงานสู่ระดับประเทศ ครอบคลุมประชาชนทั่วไปทุกระดับชั้น โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่รอบนอกเขตเมืองใหญ่ เพื่อวางรากฐานการมีโภชนาการที่ดีและถูกต้องในแต่ละช่วงวัย และลดช่องว่างของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพให้แก่สตรีตั้งครรภ์ เพื่อการดูแลตนเอง รวมถึงทารกและเด็กเล็กอย่างถูกต้อง ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนถักทอเครือข่ายผ่านการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ การมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงของประชาชนชาวไทย ปราศจากโรคเรื้อรังและร้ายแรงที่จะมาคุกคามชีวิต