ส่องกล้องชนิดอ่อนลำไส้ใหญ่ส่วนปลายต่ออุบัติการณ์และการตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่
JAMA. 2014;312(6):606-615.
บทความเรื่อง Effect of Flexible Sigmoidoscopy Screening on Colorectal Cancer Incidence and Mortality: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นปัญหาสุขภาพร้ายแรง และหลายประเทศได้แนะนำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ นักวิจัยจึงประเมินประสิทธิภาพของการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องชนิดอ่อนต่ออุบัติการณ์และการตายเนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่จากการศึกษาในระดับประชากรในประเทศนอร์เวย์
นักวิจัยศึกษาจากประชากร 100,210 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 50-64 ปี การตรวจคัดกรองมีขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1999-2000 (กลุ่มอายุ 55-64 ปี) และ ค.ศ. 2001 (กลุ่มอายุ 50-54 ปี) โดยติดตามจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2011 ในจำนวนนี้ได้คัดผู้เข้าร่วมวิจัยออก 1,415 คนที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน อพยพออกจากประเทศ หรือเสียชีวิต ขณะที่อีก 3 คนไม่สามารถติดตามได้
ผู้เข้าร่วมวิจัยที่สุ่มเป็นกลุ่มตรวจคัดกรองได้รับการตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลายหรือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลายร่วมกับการตรวจเลือดในอุจจาระ โดยผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีผลตรวจเป็นบวก (cancer, adenoma, polyp ≥ 10 mm หรือ positive FOBT) ได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด และกลุ่มควบคุมไม่ได้ตรวจคัดกรอง ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ อุบัติการณ์และการตายเนื่องจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
มีผู้เข้าร่วมวิจัย 98,792 คนที่รวบรวมไว้ใน intention-to-screen analyses โดยในจำนวนนี้ 78,220 คนอยู่ในกลุ่มควบคุม และ 20,572 คนอยู่ในกลุ่มตรวจคัดกรอง (10,283 คนได้ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และ 10,289 คนได้ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลายร่วมกับตรวจเลือดในอุจจาระ) อัตราการเกาะติดการตรวจคัดกรองเท่ากับ 63% หลังจากมัธยฐาน 10.9 ปี พบผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ 71 คนในกลุ่มตรวจคัดกรองเทียบกับ 330 คนในกลุ่มควบคุม (31.4 vs 43.1 deaths per 100,000 person-years; absolute rate difference 11.7 [95% CI 3.0-20.4]; hazard ratio [HR] 0.73 [95% CI 0.56-0.94]) โดยตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้เข้าร่วมวิจัย 253 คนในกลุ่มตรวจคัดกรองเทียบกับ 1,086 คนในกลุ่มควบคุม (112.6 vs 141.0 cases per 100,000 person-years; absolute rate difference 28.4 [95% CI 12.1-44.7]; HR 0.80 [95% CI 0.70-0.92]) อุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลงในทั้งกลุ่มอายุ 50-54 ปี (HR 0.68; 95% CI 0.49-0.94) และกลุ่ม 55-64 ปี (HR 0.83; 95% CI 0.71-0.96) แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลายอย่างเดียวเทียบกับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและตรวจเลือดในอุจจาระ
การศึกษาจากประชากรในนอร์เวย์ชี้ว่า การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลายหรือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลายร่วมกับตรวจเลือดในอุจจาระลดอุบัติการณ์และการตายเนื่องจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระดับประชากรเทียบกับการไม่ตรวจคัดกรอง ซึ่งการตรวจคัดกรองให้ผลดีทั้งในกลุ่มอายุ 50-54 ปี และ 55-64 ปี