ผล Bisphosphonate ต่อความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในวัยทอง
JAMA Intern Med. Published online August 11, 2014.
บทความเรื่อง Effect of Bisphosphonate Use on Risk of Postmenopausal Breast Cancer: Results from the Randomized Clinical Trials of Alendronate and Zoledronic Acid อ้างถึงข้อมูลงานวิจัยหลายฉบับชี้ว่า bisphosphonate อาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็งและยับยั้งการลุกลามของมะเร็ง โดยมีงานวิจัยเชิงสังเกตหลายฉบับเสนอว่า bisphosphonate อาจมีผลป้องกันมะเร็งเต้านม แต่ก็ยังไม่เคยมีการทดสอบผลของการใช้ bisphosphonate ต่อความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในการศึกษาเปรียบเทียบมาก่อน
นักวิจัยประเมินความสัมพันธ์ของอุบัติการณ์มะเร็งเต้านมในวัยทองและการใช้ bisphosphonate จากข้อมูลการศึกษาเปรียบเทียบ 2 ฉบับ ได้แก่ การศึกษา Fracture Intervention Trial (FIT) ซึ่งสุ่มให้ผู้หญิงอายุ 55-81 ปี จำนวน 6,459 คนได้รับ alendronate หรือยาหลอก โดยมีมัธยฐานการติดตาม 3.8 ปี และการศึกษา Health Outcomes and Reduced Incidence with Zoledronic Acid Once Yearly–Pivotal Fracture Trial (HORIZON-PFT) ซึ่งสุ่มให้ผู้หญิงอายุ 65-89 ปี จำนวน 7,765 คนได้รับ zoledronic acid ทางหลอดเลือดดำหรือยาหลอกปีละครั้ง โดยมีมัธยฐานการติดตาม 2.8 ปี ข้อมูลการศึกษารวบรวมจากศูนย์การแพทย์ในสหรัฐอเมริกา (FIT และ HORIZON-PFT) และในเอเชียแปซิฟิก ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ (HORIZON-PFT) โดยคัดผู้หญิงที่เกิดมะเร็งเต้านมเป็นซ้ำหรือมีประวัติมะเร็งเต้านมออกจากการวิเคราะห์ ในทั้งสองการศึกษาได้ทบทวนรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากมะเร็งเพื่อยืนยันผู้ป่วยมะเร็งเต้านมลุกลาม โดย primary analysis ได้เปรียบเทียบเหตุการณ์ในกลุ่มที่ได้รับยาเทียบกับยาหลอกด้วย log-rank test และ ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ hazard ratio สำหรับการเกิดมะเร็งเต้านมในกลุ่มที่รักษาด้วย bisphosphonate เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก
จากการศึกษาไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญด้านอัตราของมะเร็งเต้านมในการศึกษา FIT โดยมีอัตราเท่ากับ 1.5% (n = 46) ในกลุ่มยาหลอก และ 1.8% (n = 57) ในกลุ่ม alendronate (hazard ratio [HR] 1.24 [95% CI 0.84-1.83]) เช่นเดียวกับการศึกษา HORIZON-PFT ซึ่งพบ 0.8% (n = 29) ในกลุ่มยาหลอก และ 0.9% (n = 33) ในกลุ่ม zoledronic acid (HR 1.15 [95% CI 0.70-1.89]) และไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญเมื่อรวมข้อมูลการศึกษาทั้งสองฉบับเข้าด้วยกัน (HR 1.20 [95% CI 0.89-1.63])
การศึกษาเปรียบเทียบทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่สนับสนุนผลลัพธ์จากการศึกษาเชิงสังเกต โดยพบว่าการรักษาด้วย bisphosphonate treatment เป็นระยะเวลา 3-4 ปี ไม่ลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมในวัยทอง