ความสัมพันธ์ของความดันโลหิตกับโซเดียมและโพแทสเซียมในปัสสาวะ

ความสัมพันธ์ของความดันโลหิตกับโซเดียมและโพแทสเซียมในปัสสาวะ

N Engl J Med 2014;371:601-611.

บทความเรื่อง Association of Urinary Sodium and Potassium Excretion with Blood Pressure รายงานว่า การรับประทานโซเดียมในปริมาณมากสัมพันธ์กับความดันโลหิตที่สูงขึ้น แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวแปรผันตามระดับของโซเดียมหรือโพแทสเซียมที่ได้รับ หรือเปลี่ยนไปตามกลุ่มประชากรหรือไม่

นักวิจัยศึกษาจากผู้ใหญ่ 102,216 คนจาก 18 ประเทศ ค่าประมาณการขับโซเดียมและโพแทสเซียมวัดจากตัวอย่างปัสสาวะในตอนเช้า และใช้แทนค่าโซเดียมและโพแทสเซียมที่ได้รับ โดยประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการขับเกลือแร่และความดันโลหิตด้วยเครื่องวัดความดันโลหิต

ผลลัพธ์จาก regression analyses พบการเพิ่มขึ้น 2.11 mmHg ของความดันเลือดซิสโตลิก และ 0.78 mmHg ของความดันเลือดไดแอสโตลิกสำหรับการเพิ่มขึ้นทุก 1 กรัมของโซเดียมที่ขับออก โดยเส้นความสัมพันธ์มีลักษณะชันขึ้นตามปริมาณโซเดียมที่ได้รับมากขึ้น (เพิ่มขึ้น 2.58 mmHg ในความดันซิสโตลิกต่อกรัมสำหรับการขับโซเดียม > 5 กรัมต่อวัน และ 1.74 mmHg ต่อกรัมสำหรับ 3-5 กรัมต่อวัน และ 0.74 mmHg ต่อกรัมสำหรับ < 3 กรัมต่อวัน; p < 0.001 for interaction) และเส้นโค้งความสัมพันธ์มีลักษณะชันขึ้นสำหรับผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง (2.49 mmHg ต่อกรัม) เทียบกับผู้ที่ไม่เป็นความดันโลหิตสูง (1.30 mmHg ต่อกรัม, p < 0.001 for interaction) และชันขึ้นตามอายุที่มากขึ้น (2.97 mmHg ต่อกรัมที่ > 55 ปี, 2.43 mmHg ต่อกรัมที่ 45-55 ปี และ 1.96 mmHg ต่อกรัมที่ < 45 ปี; p < 0.001 for interaction) การขับโพแทสเซียมมีความสัมพันธ์แบบกลับกับความดันซิสโตลิก โดยเส้นโค้งความสัมพันธ์ชันขึ้นสำหรับผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงเทียบกับผู้ที่ไม่เป็น (p < 0.001) และชันขึ้นตามอายุที่มากขึ้น (p < 0.001)

ข้อมูลจากการศึกษานี้ชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างค่าประมาณของโซเดียมและโพแทสเซียมที่ได้รับประเมินจากการขับเกลือแร่กับความดันโลหิตมีลักษณะไม่เป็นเชิงเส้น และเห็นได้ชัดในผู้ที่รับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง และคนสูงอายุ