ผลลดน้ำหนักระยะยาวต่อไตเสื่อมในผู้ป่วยเบาหวานน้ำหนักเกินหรืออ้วน

ผลลดน้ำหนักระยะยาวต่อไตเสื่อมในผู้ป่วยเบาหวานน้ำหนักเกินหรืออ้วน

The Lancet Diabetes & Endocrinology, Early Online Publication, 11 August 2014.

บทความเรื่อง Effect of a Long-Term Behavioural Weight Loss Intervention on Nephropathy in Overweight or Obese Adults with Type 2 Diabetes: A Secondary Analysis of the Look AHEAD Randomised Clinical Trial รายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลผลลัพธ์ระยะยาวของการลดน้ำหนักต่อภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน นักวิจัยจึงได้ประเมินผลของการปรับวิถีชีวิตอย่างเคร่งครัดต่อภาวะไตเสื่อมในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ใน secondary analysis จากงานวิจัย Look AHEAD (Action for Health in Diabetes)

ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีน้ำหนักเกินหรืออ้วนและมีอายุระหว่าง 45-76 ปี ได้รับการสุ่มเป็นกลุ่มปรับวิถีชีวิตอย่างเคร่งครัดหรือกลุ่มให้ข้อมูลสุขศึกษาเกี่ยวกับโรคเบาหวาน โดยกลุ่มปรับวิถีชีวิตมีแผนลดน้ำหนักและรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดด้วยการลดปริมาณแคลอรีและเพิ่มการออกกำลังกาย การปรับพฤติกรรมยุติลงก่อนกำหนดเนื่องจากไม่มีผลต่อเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดอันเป็นผลลัพธ์หลักในงานวิจัย Look AHEAD แต่ได้ตรวจ albuminuria และ estimated glomerular filtration rate ตั้งแต่พื้นฐานจนสิ้นสุดการปรับพฤติกรรมเพื่อติดตามไตวายเรื้อรังที่มีความเสี่ยงสูงมากประเมินตาม Kidney Disease Improving Global Outcomes (KDIGO) ปี ค.ศ. 2013 ระยะเวลาจนถึงเกิดเหตุการณ์ของโรควิเคราะห์แบบ intention to treat ด้วยวิธี Kaplan-Meier method และตัวแบบ proportional hazards models

จากผู้เข้าร่วมวิจัย 5,145 คนในงานวิจัย Look AHEAD (กลุ่มปรับวิถีชีวิตเคร่งครัด 2,570 คน และกลุ่มสุขศึกษาโรคเบาหวาน 2,575 คน) พบว่ามีการวิเคราะห์ไตวายเรื้อรังที่มีความเสี่ยงสูงมากในผู้ป่วย 2,423 คน (94%) จากผู้ป่วยกลุ่มปรับวิถีชีวิตเคร่งครัด และ 2,408 คน (94%) จากผู้ป่วยในกลุ่มศึกษาโรคเบาหวาน หลังจากมัธยฐานการติดตาม 8.0 ปี (IQR 7.9-9.9) พบว่าอุบัติการณ์ของไตวายเรื้อรังที่มีความเสี่ยงสูงมากมีระดับต่ำกว่าในกลุ่มปรับวิถีชีวิตอย่างเคร่งครัดเทียบกับกลุ่มสุขศึกษาโรคเบาหวาน โดยมีอัตราอุบัติการณ์เท่ากับ 0.91 รายต่อ 100 person-years ในกลุ่มสุขศึกษาโรคเบาหวาน และ 0.63 ต่อ 100 person-years ในกลุ่มปรับวิถีชีวิตอย่างเคร่งครัด (difference 0.27 cases per 100 person-years, hazard ratio 0.69, 95% CI 0.55-0.87; p = 0.0016) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดน้ำหนักตัว ระดับ HbA1c และความดันซิสโตลิก และไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับไต

ควรพิจารณาการลดน้ำหนักในฐานะการรักษาเสริมการรักษาด้วยยาเพื่อป้องกันหรือชะลอการกำเริบของไตวายเรื้อรังในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน