ลดความดันโลหิตตามความเสี่ยงหัวใจและหลอดเลือด

ลดความดันโลหิตตามความเสี่ยงหัวใจและหลอดเลือด

Lancet. 2014;384(9943):591-598.

บทความเรื่อง Blood Pressure-Lowering Treatment Based on Cardiovascular Risk: A Meta-Analysis of Individual Patient Data รายงานข้อมูลจากการศึกษาผลของความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดที่พื้นฐานต่อประโยชน์ของยาลดความดันโลหิตเพื่อประเมินว่าจะสามารถใช้ค่า absolute risk ประกอบการพิจารณาให้ยาลดความดันโลหิตได้หรือไม่

นักวิจัยศึกษาแบบ meta-analysis โดยรวบรวมงานวิจัยที่สุ่มให้ผู้ป่วยได้รับยาลดความดันโลหิตหรือยาหลอก หรือได้รับสูตรยาที่ลดความดันโลหิตได้มากกว่าหรือลดได้น้อยกว่า ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ เหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่รุนแรง ประกอบด้วยสโตรค หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว หรือการเสียชีวิตเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยได้จำแนกผู้ป่วยเป็น 4 กลุ่มตามระดับค่าทำนายความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดรุนแรงที่ 5 ปี ประเมินจากสมการทำนายความเสี่ยงที่พัฒนาจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอกในงานวิจัยที่รวบรวม (< 11%, 11-15%, 15-21%, > 21%)

มีงานวิจัย 11 ฉบับและกลุ่มผู้ป่วย 26 กลุ่มที่สอดคล้องกับเกณฑ์การศึกษา รวมผู้ป่วย 67,475 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีข้อมูลสำหรับคำนวณสมการความเสี่ยง 51,917 คน ผู้ป่วย 4,167 คน (8%) เกิดเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดระหว่างมัธยฐานการติดตาม 4.0 ปี (IQR 3.4-4.4) ค่าเฉลี่ยของค่าประมาณความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ 5 ปีวัดที่พื้นฐานสำหรับความเสี่ยงแต่ละกลุ่มเท่ากับ 6.0% (SD 2.0), 12.1% (1.5), 17.7% (1.7) และ 26.8% (5.4) โดยในผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าพบว่า ยาลดความดันโลหิตสามารถลดความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ 18% (95% CI 7-27), 15% (4-25), 13% (2-22) และ 15% (5-24) ตามลำดับ (p = 0.30 for trend) แต่เมื่อเทียบเป็น absolute terms พบว่า การรักษาผู้ป่วย 1,000 คนในแต่ละกลุ่มด้วยยาลดความดันโลหิตเป็นเวลา 5 ปีจะป้องกันเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ 14 (95% CI 8-21), 20 (8-31), 24 (8-40) และ 38 (16-61) เหตุการณ์ตามลำดับ (p = 0.04 for trend)

การลดความดันโลหิตให้ผลลัพธ์การป้องกันใกล้เคียงกันในทุกระดับความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดที่พื้นฐาน แต่มี absolute risk reductions มากขึ้นตามความเสี่ยงพื้นฐานที่สูงขึ้น ข้อมูลนี้สนับสนุนการใช้สมการทำนายความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดที่พื้นฐานประกอบการพิจารณายาลดความดันโลหิต