ปัญหาการแพทย์ สาธารณสุข และการประกันสังคม

ปัญหาการแพทย์ สาธารณสุข และการประกันสุขภาพ

ต่อจากฉบับที่แล้ว

ความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนมีจริงหรือ

ปัจจุบันนี้ผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ ได้สร้างวาทกรรมเรื่องความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุน แต่ถ้าจะมาศึกษาดูให้ถ่องแท้ จะเห็นได้ว่าผู้ที่สร้างความ “เหลื่อมล้ำ” ให้เกิดขึ้นกับประชาชนก็คือผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพนั่นเอง ทั้งนี้เนื่องจากผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพได้ให้การรักษาฟรีแก่ประชาชนเพียง 48 ล้านคนเท่านั้น เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ในขณะที่ประชาชนในกลุ่มประกันสังคมต้องจ่ายเงินจากเงินค่าจ้างของตนเองเข้าสู่กองทุนประกันสังคม จึงจะ “มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุข” ส่วนข้าราชการนั้นได้ยอมรับพันธสัญญาจากรัฐบาลในการที่จะต้องอยู่ภายใต้ระเบียบวินัยและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาในการปฏิบัติงาน ได้รับเงินเดือนน้อยกว่าในระบบเอกชน แล้วจะได้รับสวัสดิการในการรักษาพยาบาลสำหรับตนเองและครอบครัว

จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือต้นเหตุแห่งปัญหาในการสร้างความเหลื่อมล้ำแก่ประชาชน โดยที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ สปสช. ไม่ได้ให้ความคุ้มครองด้านสุขภาพแก่ประชาชนทุกคนตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน

 

ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพแล้ว ยังมีปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินเป็นอันมาก เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงเดียวในประเทศไทย ที่ไม่ได้รับงบประมาณโดยตรงจากรัฐบาลมาใช้ในการดำเนินงานตามภารกิจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งภารกิจหลักที่สำคัญอันหนึ่งคือ การดูแลรักษาโรคภัย การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพของประชาชน โดยผ่านทางการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข

แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเนื่องจากไม่ได้รับการจัดสรรทรัพยากรทุกชนิดที่จำเป็นในการทำงานตามภาระหน้าที่รับผิดชอบ

กล่าวคือ งบประมาณในการรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ต้องไปขอจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตำแหน่งและอัตรากำลังของบุคลากรก็ต้องไปขอจาก ก.. เงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรที่ทำงานให้บริการประชาชนส่วนหนึ่งก็ต้องไปขอจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีแต่หน้าที่ในการทำงานให้บริการประชาชน แต่ขาดแคลนทรัพยากรทุกชนิดในการทำงาน กล่าวคือ

1. กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณโดยตรงตามภารกิจ แต่ต้องขอรับงบประมาณจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จัดแบ่งงบประมาณโดยไม่รับฟังความเห็นจากผู้บริหารโรงพยาบาล ทำให้งบประมาณที่ได้รับนั้นไม่เพียงพอในการดำเนินงานตามภารกิจในการให้บริการแก่ประชาชน เกิดภาวะขาดเงินหมุนเวียนในการจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ อาคารสถานที่ เตียง เทคโนโลยี และเครื่องมือแพทย์ฯลฯ และสิ่งของที่จำเป็นในการบริหารจัดการเพื่อให้มีบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐาน

เมื่อโรงพยาบาลขาดงบประมาณที่จำเป็นในการจัดบริการสาธารณสุขเพื่อประชาชน ซึ่งมีประจักษ์พยานที่เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความขาดแคลนของโรงพยาบาล ตั้งแต่ขาดอาคารสถานที่ ขาดเตียงรองรับผู้ป่วย เราจึงเห็นภาพที่ผู้ป่วยต้องนอนตามระเบียง หน้าบันได หน้าห้องน้ำ นอนเตียงเสริมเตียงแทรก บางแห่งถึงกับต้องปูเสื่อนอน ในแผนกผู้ป่วยนอกก็มีจำนวนผู้ป่วยรอการตรวจรักษาอย่างแน่นขนัดจนล้นโรงพยาบาล นอกจากนั้นยังขาดงบประมาณในการซ่อมแซมอาคารสถานที่ ขาดงบประมาณในการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ที่เหมาะสมในการรักษาผู้ป่วย มีผลทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงต่ออันตรายในการไปรับบริการสาธารณสุข ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่สุขภาพของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความพึงพอใจในระบบการบริการ ไม่พึงพอใจในผลการรักษาจนเกิดกรณีฟ้องร้อง/ร้องเรียนแพทย์และโรงพยาบาลเกิดขึ้นมากมายภายหลังจากการมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2. กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถจัดสรรตำแหน่งและจำนวนบุคลากรได้ตามความจำเป็นในการให้บริการสาธารณสุข เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดสรร/ขยายอัตราและตำแหน่งข้าราชการพลเรือนได้ทำการ “แช่แข็ง” ตำแหน่งข้าราชการและลูกจ้างประจำไว้หลายปีมาแล้ว ไม่ยินยอมให้มีการขยายตำแหน่งเพิ่ม ทั้ง ๆ ที่ภาระงานในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนเพิ่มปริมาณอย่างมากในช่วงหลังจากการมีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีผลทำให้จำนวนบุคลากรทางการแพทย์มีอัตราส่วนน้อยลงเมื่อเทียบกับปริมาณผู้ป่วยที่มากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยต้องเสียเวลานานในการไปรอรับบริการตรวจรักษา ในขณะที่แพทย์มีเวลาในการตรวจรักษาผู้ป่วยแต่ละคนเพียงคนละ 2-4 นาทีเท่านั้น

การที่แพทย์มีเวลาในการตรวจรักษาผู้ป่วยน้อยเกินไปทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความผิดพลาด และผู้ป่วยอาจไม่เข้าใจในสภาพการเจ็บป่วยของตน และไม่เข้าใจวิธีปฏิบัติตัวในการดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งอาจส่งผลเสียหายต่อการรักษาโรคและความเจ็บป่วยนั้น ๆ ต่อไป

3. กระทรวงสาธารณสุขไม่มีงบประมาณในการจ่ายค่าจ้าง เงินเดือน และค่าตอบแทนบุคลากรให้เหมาะสม/เป็นธรรมตามกฎหมาย กล่าวคือข้าราชการได้รับเงินเดือนตามอัตราของข้าราชการพลเรือนทั่วไป แต่มีภาระต้องมาทำงานดูแลรักษา/รับผิดชอบผู้ป่วยตลอดเวลา 24 ชั่วโมงทุก ๆ วัน โดยกระทรวงสาธารณสุขไม่มีงบประมาณค่าตอบแทนเหล่านี้ ต้องไปของบประมาณมาจาก สปสช. และเป็นงบประมาณที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดความแตกสามัคคีของบุคลากรจากวิธีการจ่ายค่าตอบแทนนอกเหนือเวลาราชการและค่าตอบแทนตามภาระงานที่บุคลากรแต่ละสาขาวิชาชีพอาจมีมุมมองว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบการจ่ายค่าตอบแทนนี้ และยังมีความเหลื่อมล้ำในการจ่ายค่าตอบแทนตามลักษณะวิชาชีพ หรือตามสถานที่ทำงาน เช่น ความแตกต่างในโรงพยาบาลชุมชนกับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป

ตามที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า โรงพยาบาลไม่มีตำแหน่งที่จะบรรจุข้าราชการให้เพียงพอต่อภาระงาน เนื่องจาก ก.พ. ไม่ได้ขยายตำแหน่งข้าราชการเพิ่ม แต่จำนวนบุคลากรมีไม่เพียงพอในการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วย โรงพยาบาลจึงต้อง “จ้าง” บุคลากรเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก โดยเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่มีสวัสดิการใด ๆ รองรับ ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ไม่มีบำเหน็จ บำนาญ ไม่มีหลักประกันความมั่นคงในตำแหน่ง รวมทั้งไม่มีการขึ้นเงินเดือนประจำปีเหมือนลูกจ้างประจำหรือข้าราชการ เป็นผลให้ลูกจ้างชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรอื่น ๆ ลาออกกันตลอดเวลา เนื่องจากขาดความมั่นคงของงาน พอทำงานดีขึ้นแล้วก็พากันลาออกไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน ทำให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขขาดแคลนบุคลากรที่ชำนาญงานในการดูแลรักษาผู้ป่วย ต้องมาฝึกหัดบุคลากรใหม่ทุกปี พอเริ่มรู้งานก็ลาออกไปอีก

การที่โรงพยาบาลต้อง “จ่ายค่าจ้าง” ให้แก่ลูกจ้างมากขึ้น เพื่อให้มีบุคลากรเพียงพอที่จะให้บริการแก่ผู้ป่วยได้ครบถ้วน ทำให้โรงพยาบาลต้องการงบประมาณมาจ่ายเป็นค่าจ้างบุคลากรเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งทำให้โรงพยาบาลขาดเงินทุนในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น ทำให้โรงพยาบาลยิ่งขาดงบประมาณในการดำเนินการดูแลรักษาผู้ป่วยยิ่งขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาลตกต่ำ และเกิดความเสียหายต่อคุณภาพมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

การที่จะแก้ปัญหาใด ๆ ในระบบการประกันสุขภาพ ระบบการบริการสาธารณะทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน จึงต้องวิเคราะห์ถึง “ต้นเหตุแห่งปัญหา” เพื่อที่จะได้แก้ต้นตอแห่งปัญหาไม่ให้เกิดปัญหาได้อีก จึงจะสามารถ “ปฏิรูปการแพทย์ การสาธารณสุข และการประกันสุขภาพ” ได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถยกระดับคุณภาพมาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างยั่งยืน

 

เอกสารอ้างอิง

1. http://www.posttoday.com/คสช.ปฏิรูปสุขภาพ ดันตระกูล ส. ล้างอำนาจเก่า

2. http://news.thaipbs.or.th/content/สธ.-คสช.ตั้งคณะทำงานลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ

3. www.hfocus.org/content/2014/08/7833/นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล : ถึงเวลาต้องปฏิรูประบบสุขภาพ

4. http://thaipublica.org/2011/09/10-years-healthcare/10 ปีประกันสุขภาพถ้วนหน้า โรงพยาบาลรัฐขาดทุนถ้วนหน้า

5. http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=955000008395/ไข่แลกยาฉลุย ได้ยาคืนมากกว่า 36 ล้านเม็ด มูลค่ามากกว่า 40 ล้านบาท

6. http://tdri.or.th/tdri-insight/posttoday-2014-08-11/