การใช้สแตตินก่อนตรวจพบเบาหวาน และความเสี่ยงโรคของหลอดเลือดขนาดเล็ก

การใช้สแตตินก่อนตรวจพบเบาหวาน และความเสี่ยงโรคของหลอดเลือดขนาดเล็ก

The Lancet Diabetes & Endocrinology, Early Online Publication, 10 September 2014.

บทความเรื่อง Statin Use before Diabetes Diagnosis and Risk of Microvascular Disease: A Nationwide Nested Matched Study รายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของสแตตินต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดขนาดเล็กในผู้ป่วยโรคเบาหวาน นักวิจัยจึงทดสอบสมมติฐานว่าการใช้สแตตินเพิ่มความเสี่ยงต่อจอตาเสื่อมจากเบาหวาน โรคเส้นประสาทจากเบาหวาน ไตเสื่อมจากเบาหวาน และเนื้อตายที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน

นักวิจัยศึกษาจากผู้ป่วยทั้งหมดในเดนมาร์กซึ่งมีอายุตั้งแต่ 40 ปี และตรวจพบเบาหวานระหว่างวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1996 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2009 โดยรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยจากฐานข้อมูล Danish Patient Registry และข้อมูลการใช้ยาจาก Danish Registry of Medicinal Product Statistics จากนั้นได้สุ่มคัดเลือกผู้ป่วย 15,679 คนในฐานข้อมูลซึ่งใช้สแตตินเป็นประจำจนกระทั่งตรวจพบเบาหวาน (กลุ่ม statin users) และเทียบกับผู้ป่วย 47,037 คนที่ไม่เคยได้รับสแตตินก่อนตรวจพบเบาหวาน (กลุ่ม non-statin users) ผลลัพธ์ปฐมภูมิ ได้แก่ อุบัติการณ์สะสมของจอตาเสื่อมจากเบาหวาน โรคของเส้นประสาทจากเบาหวาน ไตเสื่อมจากเบาหวาน และเนื้อตายที่เท้าในกลุ่ม statin users เปรียบเทียบกับกลุ่ม non-statin users ข้อมูลในการศึกษาวิเคราะห์ด้วยตัวแบบ Cox regression models ปรับตามตัวแปรร่วม ได้แก่ เพศ อายุขณะตรวจพบเบาหวาน และวิธีการตรวจเบาหวาน และปรับการวิเคราะห์ด้วยคะแนนความโน้มเอียงและปัจจัยอื่นเพื่อป้องกันอคติระหว่างกลุ่ม statin users และ non-statin users และมัธยฐานการติดตามเท่ากับ 2.7 ปี (range 0-13)

ระหว่างการติดตาม 215,725 person-years พบผู้ป่วย 2,866 คนเป็นจอตาเสื่อมจากเบาหวาน, 1,406 คนเป็นโรคเส้นประสาทจากเบาหวาน, 1,248 คนเป็นไตเสื่อมจากเบาหวาน และ 2,392 คนมีเนื้อตายที่เท้า เมื่อเทียบกับกลุ่ม non-statin users พบว่า กลุ่ม statin users มีอุบัติการณ์สะสมที่ต่ำกว่าของจอตาเสื่อมจากเบาหวาน (hazard ratio 0.60, 95% CI 0.54-0.66; p < 0.0001), โรคเส้นประสาทจากเบาหวาน (0.66, 0.57-0.75; p < 0.0001) และเนื้อตายที่เท้า (0.88, 0.80-0.97; p = 0.010) แต่ยกเว้นไตเสื่อมจากเบาหวาน (0.97, 0.85-1.10; p = 0.62) แต่ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกันหลังปรับตามความเสี่ยงการเสียชีวิต หลังจับคู่คะแนนความโน้มเอียง หลังปรับตามการพบแพทย์ ครอบครัว และการแบ่งชั้นของตัวแปรร่วม โดยค่า hazard ratio ปรับพหุตัวแปรสำหรับความเสี่ยงเบาหวานในกลุ่มประชากรโดยรวมเท่ากับ 1.17 (95% CI 1.14-1.21; p < 0.0001)

การใช้สแตตินก่อนตรวจพบเบาหวานไม่สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคของหลอดเลือดขนาดเล็ก อย่างไรก็ดี ผลของสแตตินต่อการป้องกันโรคของหลอดเลือดขนาดเล็กยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะการศึกษาเปรียบเทียบด้วยการสุ่ม