Ivabradine ในโรคหลอดเลือดหัวใจอาการทรงตัว
N Engl J Med 2014;371:1091-1099.
บทความเรื่อง Ivabradine in Stable Coronary Artery Disease without Clinical Heart Failure รายงานว่า อัตราการเต้นของหัวใจที่สูงขึ้นเป็นตัวบ่งชี้ของความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีการศึกษาก่อนหน้านี้เสนอแนะว่า ivabradine ซึ่งมีคุณสมบัติลดอัตราการเต้นของหัวใจอาจช่วยฟื้นฟูผลลัพธ์ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีอาการทรงตัว มีความผิดปกติของหัวใจห้องล่างซ้าย และมีอัตราการเต้นของหัวใจตั้งแต่ 70 ครั้งต่อนาที
นักวิจัยศึกษาผลของการให้ ivabradine ร่วมกับการรักษามาตรฐานในผู้ป่วย 19,102 คน ซึ่งมีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจทรงตัวโดยไม่มีหัวใจล้มเหลว และมีอัตราการเต้นของหัวใจ 70 ครั้งต่อนาทีหรือมากกว่า (รวมถึงผู้ป่วย 12,049 คนซึ่งเป็น angina [class ≥ II ตาม Canadian Cardiovascular Society scale ซึ่งมีระดับตั้งแต่ I ถึง IV โดยระดับที่สูงขึ้นชี้ว่ามีข้อจำกัดมากขึ้นต่อการทำกิจกรรมทางกายอันเนื่องมาจาก angina]) นักวิจัยสุ่มให้ผู้ป่วยได้รับยาหลอกหรือ ivabradine ที่ขนาดสูงสุด 10 มก. วันละ 2 ครั้ง โดยปรับขนาดยาเพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจให้อยู่ระหว่าง 55-60 ครั้งต่อนาที จุดยุติปฐมภูมิ ได้แก่ ผลรวมของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต
ที่ 3 เดือนพบว่า ค่าเฉลี่ย (± SD) ของอัตราการเต้นของหัวใจเท่ากับ 60.7 ± 9.0 ครั้งต่อนาทีในกลุ่มที่ได้รับ ivabradine เทียบกับ 70.6 ± 10.1 ครั้งต่อนาทีในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก หลังจากมัธยฐานการติดตาม 27.8 เดือนไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มที่ได้รับ ivabradine และกลุ่มยาหลอกด้านอุบัติการณ์ของจุดยุติปฐมภูมิ (6.8% and 6.4% respectively; hazard ratio 1.08; 95% confidence interval 0.96-1.20; p = 0.20) และไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญด้านอุบัติการณ์ของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต นอกจากนี้พบว่า ivabradine สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอุบัติการณ์ของจุดยุติปฐมภูมิในผู้ป่วยที่ angina เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมทางกายแต่ไม่รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่เป็น angina (p = 0.02 for interaction) อนึ่ง อุบัติการณ์ของภาวะหัวใจเต้นช้าพบสูงกว่าในกลุ่ม ivabradine เทียบกับกลุ่มยาหลอก (18.0% vs. 2.3%, p < 0.001)
การให้ ivabradine ร่วมกับการรักษามาตรฐานเพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจไม่ได้ช่วยให้ผลลัพธ์ดีขึ้นในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอาการทรงตัวที่ไม่มีหัวใจล้มเหลว