อัลตราซาวนด์และ CT ในผู้ป่วยสงสัยนิ่วในไต
N Engl J Med 2014;371:1100-1110.
บทความเรื่อง Ultrasonography versus Computed Tomography for Suspected Nephrolithiasis รายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าควรตรวจผู้ป่วยสงสัยว่าเป็นนิ่วในไตเบื้องต้นด้วยอัลตราซาวนด์หรือ CT นักวิจัยจึงสุ่มตรวจผู้ป่วยอายุ 18-76 ปีซึ่งมารับการรักษายังแผนกฉุกเฉินและสงสัยว่าเป็นนิ่วในไตด้วยอัลตราซาวนด์โดยแพทย์แผนกฉุกเฉิน (point-of-care ultrasonography) อัลตราซาวนด์โดยรังสีแพทย์ (radiology ultrasonography) หรือตรวจ CT ช่องท้อง โดยการดูแลรวมถึงเอกซเรย์เพิ่มเติมอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ นักวิจัยเปรียบเทียบผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่มตามอุบัติการณ์ 30 วันของภาวะแทรกซ้อนความเสี่ยงสูงซึ่งอาจเป็นผลจากการตรวจไม่พบหรือตรวจพบช้า และปริมาณสะสมของรังสีที่ได้รับที่ 6 เดือน ผลลัพธ์ทุติยภูมิ ได้แก่ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรง, เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรงที่เกี่ยวข้อง, อาการปวด (ประเมินจาก 11-point visual-analogue scale โดยคะแนนที่สูงชี้ว่ามีอาการปวดมาก), การกลับมารักษายังแผนกฉุกเฉิน, นอนโรงพยาบาล และความถูกต้องของการวินิจฉัย
มีผู้ป่วยได้รับการสุ่ม 2,759 คน แบ่งเป็น point-of-care ultrasonography 908 คน, radiology ultrasonography 893 คน และ CT 958 คน อุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนความเสี่ยงสูงใน 30 วันแรกอยู่ในระดับต่ำ (0.4%) และไม่แตกต่างกันตามวิธีการถ่ายภาพ ค่าเฉลี่ยของรังสีที่ได้รับที่ 6 เดือนต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มอัลตราซาวนด์เทียบกับกลุ่ม CT (p < 0.001) โดยพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรงใน 12.4% ของผู้ป่วยกลุ่ม point-of-care ultrasonography, 10.8% ของผู้ป่วยกลุ่ม radiology ultrasonography และ 11.2% ของผู้ป่วยกลุ่ม CT (p = 0.50) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องพบได้น้อย (incidence 0.4%) และใกล้เคียงกันในทุกกลุ่ม ที่ 7 วันพบว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนอาการปวดเท่ากับ 2.0 ในแต่ละกลุ่ม (p = 0.84) และการกลับมารักษายังแผนกฉุกเฉิน นอนโรงพยาบาล และความถูกต้องของการวินิจฉัยไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างแต่ละกลุ่ม
การตรวจเบื้องต้นด้วยอัลตราซาวนด์สัมพันธ์กับการได้รับรังสีที่ต่ำกว่าเทียบกับ CT โดยไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญด้านความเสี่ยงสูงที่มีภาวะแทรกซ้อน เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรง คะแนนอาการปวด กลับมารักษายังแผนกฉุกเฉิน หรือการนอนโรงพยาบาล