ภาวะที่มีลมในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pneumothorax)
ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน
Pneumothorax หมายถึง ภาวะที่มีลมในช่องเยื่อหุ้มปอด สามารถแบ่งออกได้เป็น
1. Spontaneous pneumothorax หมายถึง ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดซึ่งเกิดขึ้นเองในผู้ป่วยที่ไม่มีพยาธิสภาพที่ปอดมาก่อน (primary spontaneous pneumothorax) หรือเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพในปอดอยู่เดิม (secondary spontaneous pneumothorax)
2. Iatrogenic pneumothorax หมายถึง ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดซึ่งเกิดภายหลังการทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การเจาะดูดน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด การตัดชิ้นเนื้อปอด เป็นต้น
3. Traumatic pneumothorax หมายถึง ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดซึ่งเกิดในผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุ
Spontaneous pneumothorax แบ่งเป็น
1. primary spontaneous pneumothorax ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดซึ่งเกิดขึ้นเองในผู้ป่วยที่ไม่มีพยาธิสภาพที่ปอดมาก่อน มักพบในผู้ชายอายุน้อยและรูปร่างสูง อาจมีปัจจัยเสี่ยงคือ สูบบุหรี่, marfan’s syndrome หรือmitral valve prolapse ร่วมด้วย
Primary spontaneous pneumothorax อาจมีสาเหตุมาจาก subpleural bulla ที่ปอดส่วนบน (lung apex) เกิดแตกจนมีลมรั่วเข้าสู่ช่องเยื่อหุ้มปอด ถ้าตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกสามารถตรวจพบ bulla ได้ 90% ทั้งนี้การเกิด bulla ในปอดนั้นไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่คาดว่าอาจเกิดจากความไม่สมดุลของ protease-antiprotease และ oxidant-antioxidant ของปอดจนทำให้สูญเสียความยืดหยุ่นของปอดเกิดขึ้นได้
2. secondary spontaneous pneumothorax เกิดในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพในปอดอยู่เดิม เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease: COPD) อาจเกิดในมะเร็งที่มีการกระจายมาสู่ปอด วัณโรคปอด หรือฝีในปอด เป็นต้น ในผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เป็นปอดอักเสบติดเชื้อชนิด Pneumocystis carinii อาจพบ pneumothorax ได้ โดยที่อาจพบลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดทั้ง 2 ข้างได้ 2%
อาการ
เจ็บหน้าอกแปลบโดยเฉพาะขณะหายใจเข้า ขณะพัก เหนื่อยง่าย หรืออาจมีอาการเล็กน้อยจนไม่สังเกตก็ได้ อาการที่พบบ่อยคือ หัวใจเต้นเร็ว การตรวจร่างกายพบว่าเสียงหายใจเบาลงในปอดข้างนั้น ควรทำการถ่ายภาพรังสีทรวงอกเพื่อช่วยวินิจฉัยโรค
การตรวจสืบค้น
ถ้าสงสัย pneumothorax แต่ถ่ายภาพรังสีทรวงอกในที่ AP แล้วไม่พบความผิดปกติก็ควรให้ถ่ายเพิ่มในท่าหายใจออกจนสุด (expiratory CXR) หรือถ่ายในท่านอนตะแคงโดยเอาปอดข้างที่ลมรั่วขึ้นข้างบน (lateral decubitus) สำหรับการถ่ายภาพในท่านอนหงายก็ควรมองหา deep sulcus sign (deep lateral costophrenic angle) ในบางกรณีอาจต้องใช้การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของทรวงอก (CT chest) ช่วยเพื่อแยกระหว่าง giant bullaในปอด และ pneumothorax ถ้าเกิด pneumothorax ชนิดที่มีการกดเบียดดันหัวใจหรือทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนก็จะมีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เช่น decrease QRS voltage, axis deviation, T wave inversion เป็นต้น