การรักษาโรคข้อไหล่ติดด้วยเครื่องมือไฟฟ้าทางกายภาพ

การรักษาโรคข้อไหล่ติดด้วยเครื่องมือไฟฟ้าทางกายภาพ

นพ.ธนาวุฑฒ์ โสภักดี โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล

อาการปวดข้อไหล่ (Shoulder pain) เป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ออร์โธปิดิกส์ได้บ่อยรองจากอาการปวดหลังและปวดคอ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะถูกส่งปรึกษานักกายภาพบำบัด โรคข้อไหล่ติด (Shoulder capsulitis, Frozen shoulder) โรคนี้พบได้บ่อยในคนอายุ 40-60 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ลำบาก โดยเฉพาะการหมุนแขนออกทางด้านนอกและด้านใน มักเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อทำให้มีการหนาตัวและหดรั้ง สาเหตุของการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ส่วนมากมักเกิดกับผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บหรือการจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อไหล่มาก่อน เช่น มีกระดูกปลายแขนหักใส่เฝือกนาน 4-6 สัปดาห์ หรือผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บของเอ็นกล้ามเนื้อข้อไหล่โดยมีอาการปวดจนทำให้ผู้ป่วยหยุดใช้แขนข้างที่บาดเจ็บ ทำให้เกิดภาวะ Frozen shoulder ได้ การรักษาโรคข้อไหล่ติดทำได้หลายวิธี ได้แก่ ยาแก้อักเสบ การฝังเข็ม และการรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น การออกกำลังกาย การนวดกดจุด การขยับข้อต่อ การใช้เครื่องมือไฟฟ้าทางกายภาพบำบัด

พบว่าการใช้เครื่องมือไฟฟ้าในการบำบัดต่าง ๆ (Electrotherapy) ให้ผลการรักษาที่ดีในผู้ป่วยโรคข้อไหล่ติด ผลการรักษาด้วยเครื่องมือไฟฟ้าจะดีมากขึ้นถ้ารักษาร่วมกับการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง การใช้เครื่องมือไฟฟ้าหวังผลในการลดปวด การกระตุ้นการซ่อมแซม การลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ เพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่อ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ จากการรวบรวมข้อมูลเชิงประจักษ์ในฐานข้อมูล Cochrane เกี่ยวกับการรักษาโรคข้อไหล่ติดและการใช้เครื่องมือไฟฟ้าทางกายภาพพบว่า ผลของการใช้เครื่องมือไฟฟ้าให้ผลช่วยรักษาโรคข้อไหล่ติดดังนี้ 1. Laser therapy แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในผู้ป่วยข้อไหล่ติด RR: 8.9 2. การใช้ Pulsed electromagnetic field therapy แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในผู้ป่วยข้อไหล่ติด ผลการรักษาในการลดปวดระยะสั้นในผู้ที่มีอาการปวดจากหินปูนเกาะในเอ็นข้อไหล่ (Calcific tendinitis of shoulder) RR: 19 3. การใช้ Ultrasound therapy แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในผู้ป่วยข้อไหล่ติด ผลการรักษาในการลดปวดระยะสั้นในผู้ที่มีหินปูนเกาะในเอ็นข้อไหล่ RR: 1.81 ผลการรักษาด้วยเครื่องมือไฟฟ้าจะดีขึ้นมากกว่าถ้ารักษาร่วมกับการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง

กล่าวโดยสรุป การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดไหล่ที่เกิดจากโรคข้อไหล่ติด พบว่าการรักษาด้วยเครื่องมือไฟฟ้าทางกายภาพช่วยลดอาการปวดในระยะสั้นได้ดี และหากบำบัดร่วมกับการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องจะให้ผลดีในการรักษาโรคข้อไหล่ติดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว