ศ.ดร.อากิระ เอ็นโด และ ศ.นพ.โดนัลด์ เอ. เฮนเดอร์สัน เจ้าของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2557
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปีแห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 รวมถึงเพื่อเผยแพร่พระราชเกียรติคุณแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขไทย” ซึ่งเมื่อแรกเริ่มก่อตั้งใช้ชื่อว่า “มูลนิธิรางวัลมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์” และได้เปลี่ยนแปลงเป็น “มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์” เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ
โดยตลอดระยะเวลา 23 ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น 68 ราย ในจำนวนนี้มี 2 รายที่ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมาคือ ศ.นพ.แบรี่ เจมส์ มาร์แชล รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปี พ.ศ. 2544 ต่อมารับรางวัลโนเบลในปี พ.ศ. 2548 และ ศ.เกียรติคุณ นพ.ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซน รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปี พ.ศ. 2548 และรับรางวัลโนเบลในปี พ.ศ. 2551 และ 1 ราย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในเวลาต่อมาคือ พญ.มากาเร็ต เอฟซี ชาน รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปี พ.ศ. 2549 และมีคนไทยเคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 4 ราย คือ ศ.นพ.ประสงค์ ตู้จินดา และ ศ.พญ.สุจิตรา นิมมานนิตย์ รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปี พ.ศ. 2539 ขณะที่ นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร และนายมีชัย วีระไวทยะ รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปี พ.ศ. 2552
สำหรับในปี พ.ศ. 2557 มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2557 ทั้งสิ้น 59 ราย จาก 25 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี พ.ศ. 2557, 2556 และ พ.ศ. 2555 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ให้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้าย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2557
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2557 ในวันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558 เวลา 17.30 น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดยในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศ ในผลงานที่ได้รับด้วย
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์, นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 23 ประจำปี พ.ศ. 2557 ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช โดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.ดร.อากิระ เอ็นโด (Professor Akira Endo) จากประเทศญี่ปุ่น สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศ.นพ.โดนัลด์ เอ. เฮนเดอร์สัน (Professor Donald A. Henderson) จากประเทศสหรัฐอเมริกา
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2557 สาขาการแพทย์
ศ.ดร.อากิระ เอ็นโด ประธานกรรมการ บริษัทห้องปฏิบัติการวิจัยไบโอฟาร์ม กรุงโตเกียว ศาสตราจารย์พิศิษฐ์เกียรติคุณ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยีโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ศ.ดร.อากิระ เอ็นโด เป็นบุคคลแรกที่ค้นพบยาลดไขมันที่ชื่อว่ าคอมแพคติน (compactin) (แรกชื่อ ML-236 B) ซึ่งเป็นต้นแบบของยากลุ่มสแตติน โดยแยกได้จากเชื้อราเพนนิซิเลียม ซิตรินุม (penicillium citrinum) ในปี พ.ศ. 2519
ศ.ดร.อากิระ เอ็นโด ได้ทำการศึกษาวิจัยเชื้อราราว 6,000 ชนิด จนสามารถค้นพบสารที่สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ให้ชื่อครั้งแรกว่า ML-236 B มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์เอชเอ็มจี-โคเอรีดัคเตส (HMG-CoA reductase) ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในกระบวนการสังเคราะห์คอเลสเตอรอล
การค้นพบดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจรวมถึงโรคหลอดเลือดที่สำคัญชนิดอื่นด้วย เนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาทางการแพทย์และการสาธารณสุขในประเทศส่วนใหญ่มานานหลายศตวรรษ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรทั่วโลก พบว่าการเสียชีวิตของโรคหลอดเลือดหัวใจมีความสัมพันธ์กับภาวะไขมันในเลือดสูง ก่อให้เกิดคราบไขมันภายในผนังหลอดเลือดแดง เมื่อคราบไขมันแตกตัวจะเกิดเป็นลิ่มภายในหลอดเลือดแดง ปิดกั้นการไหลของเลือด นำไปสู่ภาวะหัวใจวายจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
การค้นพบยาลดไขมันของ ศ.ดร.อากิระ เอ็นโด ทำให้เปลี่ยนกระบวนทัศน์จากเดิมที่เคยเชื่อว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่ป้องกันไม่ได้ เปลี่ยนมาสู่โรคที่ป้องกันได้ และนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของยาลดไขมันจนใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันถึง 7 ชนิดในตัวยากลุ่มสแตติน ส่งผลให้อุบัติการณ์การเกิดโรคและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงอย่างมากในปัจจุบัน เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ช่วยชีวิตผู้ป่วยนับร้อยล้านคนทั่วโลก
ศ.ดร.อากิระ เอ็นโด สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี และปริญญาเอกทางชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยโตโฮกุ ประเทศญี่ปุ่น
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2557 สาขาการสาธารณสุข
ศ.นพ.โดนัลด์ เอ. เฮนเดอร์สัน ศาสตราภิชาน ศูนย์ความมั่นคงด้านสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก คณบดีเกียรติคุณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ศ.นพ.โดนัลด์ เอ. เฮนเดอร์สัน เป็นผู้นำของโครงการที่ทำการกวาดล้างโรคไข้ทรพิษ หรือฝีดาษได้สำเร็จ นับเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงชนิดแรกและชนิดเดียวที่สามารถกวาดล้างให้หมดไปจากโลกได้
ถึงแม้ว่าโรคไข้ทรพิษเป็นโรคร้ายแรงที่พบมาตั้งแต่ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล และมีการแพร่ระบาดเป็นระยะ มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกมาตลอด จนกระทั่งมีการค้นคว้าวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ได้ในปี พ.ศ. 2339 แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการป้องกันการระบาดของโรคได้ การระบาดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตจากทุกพื้นที่ทั่วโลกราว 300-500 ล้านคน
ศ.นพ.โดนัลด์ เอ. เฮนเดอร์สัน ระหว่างปี พ.ศ. 2509-2520 ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะแพทย์ในโครงการกวาดล้างโรคไข้ทรพิษขององค์การอนามัยโลก ได้มีบทบาทสำคัญในการประสานงานกับหน่วยงานทั่วโลกในการรณรงค์กวาดล้างโรคไข้ทรพิษ โดยการให้วัคซีนแก่ประชากรทุกกลุ่มในลักษณะที่เรียกว่า mass vaccination และติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจนประสบความสำเร็จ โดยมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้ทรพิษรายสุดท้ายจากประเทศโซมาเลีย ในปี พ.ศ. 2520 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้โรคไข้ทรพิษถูกกวาดล้างหมดสิ้นไปจากโลกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 นับเป็นการช่วยชีวิตประชากรโลกจำนวนหลายร้อยล้านคน และยังเป็นแบบอย่างของการพัฒนาแนวทางกวาดล้างโรคติดต่อร้ายแรงอื่น ๆ ในปัจจุบันด้วย
ศ.นพ.โดนัลด์ เอ. เฮนเดอร์สัน สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ หลังจากกลับจากทำงานที่องค์การอนามัยโลกได้เป็นคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์
นอกจากนี้ยังเคยเป็นคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วย