วิตามินดี 3 ต่อการนอนโรงพยาบาลในผู้ป่วยวิกฤติที่มีภาวะพร่องวิตามิน
JAMA. 2014;312(15):1520-1530.
บทความเรื่อง Effect of High-Dose Vitamin D3 on Hospital Length of Stay in Critically Ill Patients with Vitamin D Deficiency: The VITdAL-ICU Randomized Clinical Trial รายงานว่า ระดับวิตามินดีที่ต่ำสัมพันธ์กับการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นในผู้ป่วยวิกฤติ แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์เชิงสาเหตุหรือไม่
นักวิจัยศึกษาประโยชน์ด้านสุขภาพของผู้ป่วยในหอผู้ป่วยวิกฤติจากการรักษาด้วยวิตามินดี 3 เพื่อฟื้นฟูและรักษาระดับวิตามินดีให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยศึกษาแบบ randomized double-blind, placebo-controlled, single-center trial ระหว่างเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2010 ถึงกันยายน ค.ศ. 2015 ยังหอผู้ป่วยวิกฤติ 5 แห่ง ครอบคลุมผู้ป่วยวิกฤติที่ได้รับการรักษาด้วยยาและผ่าตัด และมีภาวะพร่องวิตามินดี (≤ 20 ng/mL) 492 คน
ผู้ป่วยได้รับวิตามินดี 3 (n = 249) หรือยาหลอก (n = 243) แบบยารับประทานหรือผ่านสายยางทางจมูกขนาด 540,000 IU และให้ maintenance doses ขนาด 90,000 IU เป็นเวลา 5 เดือน ผลลัพธ์ปฐมภูมิ ได้แก่ ระยะการพักรักษาในโรงพยาบาล และผลลัพธ์ทุติยภูมิ ได้แก่ ระยะการพักรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติ ร้อยละของผู้ป่วยที่ 25-hydroxyvitamin D สูงกว่า 30 ng/mL ที่ 7 วัน อัตราตายในโรงพยาบาล และอัตราตายที่ 6 เดือน โดยวิเคราะห์กลุ่มย่อยในผู้ป่วยพร่องวิตามินดีรุนแรง (≤ 12 ng/mL) ก่อนเปิดเผยและวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ครั้งสุดท้ายครอบคลุมผู้ป่วย 475 คน (237 คนในกลุ่มวิตามินดี 3 และ 238 คนในกลุ่มยาหลอก) มัธยฐาน (IQR) การนอนโรงพยาบาลไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (20.1 วัน [IQR 11.1-33.3] สำหรับวิตามินดี 3 เทียบกับ 19.3 วัน [IQR 11.1-34.9] สำหรับยาหลอก; p = 0.98) อัตราตายในโรงพยาบาลและอัตราตายที่ 6 เดือนไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (อัตราตายในโรงพยาบาลเท่ากับ 28.3% [95% CI 22.6%-34.5%] สำหรับวิตามินดี 3 เทียบกับ 35.3% [95% CI 29.2%-41.7%] สำหรับยาหลอก; hazard ratio [HR] 0.81 [95% CI 0.58-1.11]; p = 0.18; อัตราตายที่ 6 เดือนเท่ากับ 35.0% [95% CI 29.0%-41.5%] สำหรับวิตามินดี 3 เทียบกับ 42.9% [95% CI 36.5%-49.4%] สำหรับยาหลอก; HR 0.78 [95% CI 0.58-1.04]; p = 0.09) สำหรับการวิเคราะห์ในผู้ป่วยภาวะพร่องวิตามินดีรุนแรง (n = 200) พบว่า ระยะการนอนโรงพยาบาลไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างทั้งสองกลุ่ม โดยเท่ากับ 20.1 วัน (IQR 12.9-39.1) สำหรับวิตามินดี 3 เทียบกับ 19.0 วัน (IQR 11.6-33.8) สำหรับยาหลอก อัตราตายในโรงพยาบาลต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญด้วยตัวเลข 28 คน จาก 98 คน (28.6% [95% CI 19.9%-38.6%]) ในกลุ่มวิตามินดี 3 เทียบกับ 47 คน จาก 102 คน (46.1% [95% CI 36.2%-56.2%]) ในกลุ่มยาหลอก (HR 0.56 [95% CI 0.35-0.90], p for interaction = 0.04) แต่ไม่รวมถึงอัตราตายที่ 6 เดือน (34.7% [95% CI 25.4%-45.0%] สำหรับวิตามินดี 3 เทียบกับ 50.0% [95% CI 39.9%-60.1%] สำหรับยาหลอก; HR 0.60 [95% CI 0.39-0.93], p for interaction = 0.12)
การให้วิตามินดี 3 ขนาดสูงไม่ได้ลดระยะการนอนโรงพยาบาล อัตราตายในโรงพยาบาลหรืออัตราตายที่ 6 เดือนเทียบกับยาหลอกในผู้ป่วยวิกฤติที่มีภาวะพร่องวิตามินดี กลุ่มย่อยที่มีภาวะพร่องวิตามินดีรุนแรงมีอัตราตายในโรงพยาบาลที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์ดังกล่าวจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป