4 นักวิจัยไทย คว้าทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด 2014 เพื่อพัฒนางานวิจัยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างเป็นรูปธรรม
โครงการ “ทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด” เป็นโครงการสนับสนุนให้นักวิจัยไทยร่วมส่งผลงานเพื่อขอรับทุนที่เกี่ยวข้องกับด้านโภชนศาสตร์ เภสัชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางวิชาการของไทย และส่งเสริมด้านโภชนาการและสุขภาพให้แก่คนไทย ซึ่งได้จัดต่อเนื่องมาตลอดเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิเซเรบอสเพื่อการวิจัยสุขภาพของคนไทย เปิดงานประชุมวิชาการด้านโภชนาการเซเรบอส อวอร์ด คอนเฟอร์เรนซ์ ประจำปี ค.ศ. 2014 และการมอบทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด 2014 ทุนวิจัยด้านโภชนศาสตร์และสุขภาพ เป็นปีที่ 14 หวังกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้ด้านสาธารณสุข สนับสนุนนักวิจัยไทยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “FutureTrends of Health Promotion: a Holistic Approach” หรือ “แนวโน้มใหม่ของการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม” โดยมีแพทย์ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเสวนาเป็นจำนวนมาก และได้จัดให้มีการมอบทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด 2014 แก่ 4 นักวิจัยที่ผ่านการคัดเลือกในปีนี้ ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเปิดงานประชุมวิชาการ เซเรบอส อวอร์ด คอนเฟอร์เรนซ์ 2014 และประทานรางวัลทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด 2014
ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภาแห่งประเทศไทย เปิดเผยในการเสวนาในหัวข้อ “แนวโน้มใหม่ของการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมของไทยในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ที่จัดขึ้นภายในการประชุมวิชาการด้านโภชนาการเซเรบอส อวอร์ด คอนเฟอร์เรนซ์ ประจำปี ค.ศ. 2014 ว่า ปัจจุบันความรู้ทางการแพทย์ และความสามารถด้านสาธารณสุขของไทยมีศักยภาพทัดเทียมกับนานาประเทศ แต่สิ่งสำคัญที่เรายังขาดคือการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในการให้ความรู้ความเข้าใจทางด้านภาษา เนื่องจากความรู้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกตอนนี้ล้วนแล้วแต่ตีพิมพ์และเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ และเมื่อเข้าใจภาษาอังกฤษแล้ว บุคลากรทางการแพทย์จะสามารถเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจใหม่ ๆ ตลอดจนนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกันทางภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันสนับสนุนด้านทุนวิจัยให้แก่นักวิจัยไทย เพื่อให้เกิดการวิจัยและค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยในระยะยาว นอกจากนี้องค์กรภาครัฐก็ควรเร่งสร้างพันธมิตรเพื่อให้ความรู้และรณรงค์ให้ประชาชนคนไทยและชุมชนดูแลสุขภาพของตนเองควบคู่กันไปด้วย เพราะปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับความสวยงามภายนอก แต่ลืมที่จะดูแลสุขภาพองค์รวมของร่างกาย หากการแพทย์ไทยต้องการแข่งขันในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เราจึงต้องพัฒนาปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นควบคู่กันไป
ศ.นพ.จอมจักร จันทรสกุล ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิเซเรบอสเพื่อการวิจัยสุขภาพของคนไทย และประธานคณะกรรมการพิจารณาทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด เปิดเผยว่า โครงการทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด (Cerebos Awards) ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ เภสัชกร นักโภชนาการ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการทั่วไป ได้ร่วมส่งผลงานวิจัยเพื่อขอรับทุนทางด้านการแพทย์ โภชนศาสตร์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ตลอดจนสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม โดยโครงการทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด จะมอบทุนวิจัยประเภทวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ซึ่งสามารถแบ่งให้โครงการวิจัยได้ไม่เกิน 5 โครงการต่อปี ในปีนี้มีนักวิจัยที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด 2014 จำนวน 4 ท่าน ดังนี้
รศ.ดร.นพ.กวีศักดิ์ จิตตวัฒนรัตน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ได้รับทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด 2014 กับผลงานวิจัยเรื่อง "การหาวิธีการเตรียมและหาสัดส่วนที่เหมาะสมของแก่นตะวันเพื่อนำมาผสมกับอาหารที่ให้ผ่านสายยางและศึกษานำร่องการให้ในผู้ป่วยไอซียูศัลยกรรมที่มีปัญหาถ่ายท้องเสีย” กล่าวว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้รับทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด ในปีนี้ ต้องขอขอบคุณทุนวิจัยดี ๆ ที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วย สำหรับงานวิจัยศึกษาเกี่ยวกับภาวะท้องเสียเป็นสาเหตุที่สำคัญของการให้อาหารทางสายยางโดยเฉพาะผู้ป่วยหนักในไอซียูโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ ผู้วิจัยได้เคยนำสูตรอาหารที่มีส่วนผสมของใยอาหารทดลองใช้กับผู้ป่วยไอซียูที่มีการให้ยาปฏิชีวนะ พบว่าถึงแม้จะไม่มีความแตกต่างในจำนวนคนที่เกิดอาการท้องเสียเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่ใช้ในการศึกษามีจำนวนน้อย แต่พบว่าสามารถลดระดับของภาวะท้องเสียจากอาหารได้ในช่วงสังเกตการณ์เวลา 14 วันอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับผู้ป่วยไอซียู ส่วนผสมใยอาหารที่มีประโยชน์คือ ใยอาหารที่สามารถละลายน้ำได้ ซึ่งวัตถุดิบในประเทศไทยที่เป็นส่วนผสมของอาหารเพื่อเพิ่มระดับของใยอาหารที่ละลายในน้ำได้ในอาหารที่ให้ทางสายยางโดยเฉพาะที่มีส่วนผสมของ Inulin และ FOS ที่มีปริมาณสูง ได้แก่ กระเทียมและแก่นตะวัน
ในประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ทดลองนำมาใช้กับผู้ป่วยโดยใช้แก่นตะวันผสมในอาหารทางสายยางสูตรปกติหรือสูตรที่ย่อยง่าย แล้วให้ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียจากอาหารทางสายยาง พบว่าสามารถลดปริมาณการเกิดท้องเสียได้ทางคลินิก เนื่องจากแก่นตะวันเป็นพืชหัวที่ปลูกได้ง่าย ระยะเวลาการปลูกสั้นเพียง 5 เดือน ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และมีการปลูกในเกษตรกรหลายกลุ่ม มีการแปรรูปเพื่อสามารถนำมาใช้ในรูปแบบที่เป็นผงละลายน้ำสำหรับนำมาเป็นส่วนหนึ่งในอาหารที่ใช้ในโรงพยาบาล และเป็นการเพิ่มมูลค่าของแก่นตะวันเอง จึงมีประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกร ผู้ป่วย และคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาถึงสัดส่วนที่เหมาะสมและคุณสมบัติของแก่นตะวันที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการเตรียมด้วยวิธีที่แตกต่างกัน คาดว่างานวิจัยนี้จะช่วยลดอาการท้องเสียในผู้ป่วยไอซียูที่ได้รับอาหารทางสายยางได้อย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้าง
รศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ได้รับทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด 2014 กับผลงานวิจัยเรื่อง “การเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวขณะนอนของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคพาร์กินสันที่มีอายุใกล้เคียงกัน โดยอุปกรณ์วัดการเคลื่อนไหวที่ติดกับผู้ป่วย” (The measurement of nocturnal hypokinesia in Thai Parkinson's disease patient compared with spouse by quantitative wearable sensor) กล่าวว่า ก่อนอื่นก็ต้องขอขอบคุณทางเซเรบอสที่มีโครงการดี ๆ แบบนี้ขึ้น เพราะว่าเป็นการสนับสนุนให้นักวิจัยไทยได้มีโอกาสศึกษาในแง่ของผมที่เป็นแพทย์มองเห็นปัญหาที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันเป็นประจำ ทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด จึงเป็นการสนับสนุนที่มีประโยชน์ทั้งต่อผู้ป่วยและสังคมโดยส่วนรวม ส่วนในงานวิจัยของผมมุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันซึ่งเป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวต่าง ๆ แต่ปัญหาที่เกิดกับผู้ป่วยในช่วงกลางคืน คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยพูดถึง เพราะคนนึกว่าเรานอนแล้วจะไม่มีปัญหาอะไร แต่จริง ๆ แล้วที่เราศึกษาในเบื้องต้นพบว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์มีปัญหาในเรื่องของตอนกลางคืนซึ่งปัญหาค่อนข้างหลากหลาย ที่พบบ่อยก็คือ เรื่องปัสสาวะถี่ตอนกลางคืน ภาวะนอนแล้วตื่นจากนั้นนอนไม่หลับ และการเคลื่อนไหวที่ช้าลุกออกจากเตียงยาก นอนละเมอ เป็นต้น ซึ่งการศึกษาของผมพยายามตรวจให้ลึกขึ้นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นตอนกลางคืนกับผู้ป่วยพาร์กินสันทั้งหมดมีอะไรบ้าง เราก็มีอุปกรณ์ที่เราพัฒนาในเรื่องของการวัดการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย ทำให้ช่วงแรกเห็นว่าผู้ป่วย 10 ราย มีการเคลื่อนไหวช้า พลิกตัวน้อย ตัวเกร็ง ลุกจากเตียงยาก หลาย ๆ รายนอนละเมอ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจจะเป็นปัญหาที่ส่งผลทั้งต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วยเองในเรื่องนอนไม่หลับ ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือบางคนเคลื่อนไหวไม่สะดวก แต่จะต้องลุกเข้าห้องน้ำบ่อยก็อาจจะหกล้มได้ เป็นต้น
นอกจากนี้เรายังต้องการศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ป่วยพาร์กินสันเกิดปัญหาในตอนกลางคืนว่าคืออะไร และยังดูว่าอุปกรณ์ที่เราพัฒนาขึ้นจะเป็นตัวที่ช่วยจับและวัดปัญหาฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในตอนกลางคืนได้หรือไม่ อย่างเช่น ผู้ป่วยบางรายหยุดหายใจตอนกลางคืน เพราะฉะนั้นโครงการวิจัยนี้นอกจากจะช่วยในการวิเคราะห์หาปัญหาดังกล่าวได้เร็วขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วยพาร์กินสันอีกด้วย
อ.ดร.สรัญญา แก้วประเสริฐ ภาควิชาโภชนศาสตร์เขตร้อนและวิทยาศาสตร์อาหาร คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด 2014 กับผลงานวิจัยเรื่อง “ภาวะโภชนาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดโฟเลตและวิตามินบีสิบสอง และปัจจัยทางพันธุกรรมที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวานในผู้สูงอายุไทย” (Nutritional status particularly folate and vitamin B12 deficiencies and genetic factors in relation to cardiovascular disease and diabetes in Thai elderly) กล่าวว่า ดิฉันรู้สึกภูมิใจมากที่โครงงานวิจัยของดิฉันที่ตั้งใจและมุ่งมั่นทำขึ้น ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด ทั้งนี้เพื่อลดภาวะความเจ็บป่วยและขาดสารอาหารที่จำเป็นของผู้สูงอายุในประเทศไทย สำหรับโครงการวิจัยเราจะศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภค ปัจจัยทางชีวเคมี และปัจจัยทางพันธุกรรมที่ส่งผลกระทบเกี่ยวกับการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่องค์กรด้านสาธารณสุขและการแพทย์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการป้องกันและบรรเทาปัญหาสุขภาพที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือเอ็นซีดี ที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามที่จะลดปัญหาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งความยากในการทำวิจัยคือ จำนวนอาสาสมัครผู้สูงอายุค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยค่อนข้างที่จะบอบบางจะทำอะไรก็จะยากลำบากในการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดำเนินการมา พบว่าร้อยละ 95 ขึ้นไป ผู้สูงอายุเหล่านั้นก็ยินยอมเข้าร่วมโครงการด้วยความเต็มใจ ซึ่งจากข้อมูลที่ผู้วิจัยบันทึกจะสามารถนำไปกำหนดปริมาณอาหารว่าผู้สูงอายุแต่ละท่านมีภาวะพร่องการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 และโฟเลต และ/หรือมีภาวะขาดแคลนวิตามินมากน้อยเพียงใด เพื่อที่นักโภชนาการหรือแพทย์สามารถไปกำหนดได้ว่าผู้สูงอายุรับประทานอะไรดีใน 1 วัน การได้รับรางวัลครั้งนี้ก็เป็นการต่อยอดสิ่งที่กำลังทำอยู่ให้สามารถมีโอกาสเผยแพร่ไปยังสังคมและใช้ประโยชน์ได้จริงมากขึ้น
น.ส.สุชาดา จาปะเกษตร์ โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ได้รับทุนวิจัยเซเรบอส อวอร์ด 2014 กับผลงานวิจัยเรื่อง “การดูแลด้านโภชนาการในทารกเกิดก่อนกำหนดที่ได้รับนมแม่หลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล: โปรแกรม PIN” (Post-discharge Nutrition Intervention for Breast-fed Preterm Infants: The PIN Program) กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามีทารกเกิดก่อนกำหนดประมาณ 80,000 รายต่อปี ซึ่งภาวะทารกเกิดก่อนกำหนดอาจจะเกิดจากแม่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย หรือคุณแม่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก รวมทั้งอาจจะเกิดจากความผิดปกติของตัวแม่เอง ซึ่งทำให้ทารกเกิดก่อนกำหนดขาดสารอาหารที่ควรจะได้รับในช่วงก่อนครบกำหนดคลอด และเกิดความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ ตลอดจนความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ ดังนั้น การดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดให้ได้รับสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นหลังจากจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ด้วยสาเหตุดังกล่าว งานวิจัยนี้จึงเกิดขึ้นเนื่องจากพบว่าน้ำนมแม่หรือนมผสมสูตรสำหรับทารกแรกเกิดอาจมีพลังงานและสารอาหารดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับทารกเกิดก่อนกำหนดบางราย โดยจากการศึกษานำร่องในโรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา พบว่าทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่า 1,800 กรัม หลังออกจากโรงพยาบาลมีอัตราการได้รับนมแม่อย่างเดียวต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน เพียงร้อยละ 3 และมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์สูงถึงร้อยละ 33
จากงานวิจัยนี้ผู้วิจัยคาดหวังให้ทารกเกิดก่อนกำหนดมีอัตราการได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์ และมีพัฒนาการสมวัย โดยมารดาและผู้ดูแลทารกมีความรู้ ทัศนคติ และทักษะที่ดีในการดูแลทารก ในส่วนของโรงพยาบาลเกิดการพัฒนาระบบบริการดูแลด้านโภชนาการในทารกเกิดก่อนกำหนด รวมทั้งเป็นแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้สำหรับทารกเกิดก่อนกำหนดในโรงพยาบาลและชุมชนอื่นในประเทศไทยต่อไป