เทียบวิธีให้อาหารอย่างรวดเร็วในผู้ป่วยวิกฤติ
N Engl J Med 2014;371:1673-1684.
บทความเรื่อง Trial of the Route of Early Nutritional Support in Critically Ill Adults รายงานว่า ปัจจุบันยังคงไม่มีข้อสรุปว่าการให้อาหารอย่างรวดเร็ววิธีใดได้ผลดีที่สุดในผู้ป่วยวิกฤติ โดยในการศึกษานี้ผู้วิจัยตั้งสมมติฐานว่าการให้อาหารผ่าน parenteral route ได้ผลดีกว่า enteral route
การศึกษามีขึ้นในผู้ใหญ่ที่รับเข้ารักษาในหน่วยวิกฤติ 33 แห่งในประเทศอังกฤษ โดยสุ่มให้ผู้ป่วยซึ่งสามารถรับอาหารได้ทั้ง parenteral route หรือ enteral route ได้รับอาหารทางใดทางหนึ่งภายใน 36 ชั่วโมงหลังรับเข้ารักษา และให้ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การเสียชีวิตจากทุกสาเหตุที่ 30 วัน
นักวิจัยรวบรวมผู้ป่วย 2,400 คน และวิเคราะห์จากผู้ป่วย 2,388 คน (99.5%) (1,191 คนใน parenteral group และ 1,197 คนใน enteral group) ที่ 30 วันพบว่า ผู้ป่วย 393 คนจาก 1,188 คน (33.1%) ในกลุ่ม parenteral group และ 409 คนจาก 1,195 คน (34.2%) ในกลุ่ม enteral group เสียชีวิต (relative risk ในกลุ่ม parenteral group 0.97; 95% confidence interval 0.86-1.08; p = 0.57) โดยพบการลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่ม parenteral group เทียบกับกลุ่ม enteral group ด้านอัตราของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (44 คน [3.7%] vs. 74 คน [6.2%]; p = 0.006) และการอาเจียน (100 คน [8.4%] vs. 194 คน [16.2%]; p < 0.001) แต่ไม่พบความต่างที่มีนัยสำคัญระหว่างกลุ่ม parenteral group และกลุ่ม enteral group ด้านค่าเฉลี่ยการรักษาภาวะติดเชื้อ (0.22 vs. 0.21; p = 0.72), การเสียชีวิตที่ 90 วัน (442 คนจาก 1,184 คน [37.3%] vs. 464 คนจาก 1,188 คน [39.1%]; p = 0.40), อัตราของผลลัพธ์รอง 14 ประการ หรืออัตราของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ การได้รับพลังงานมีผลใกล้เคียงกันในทั้ง 2 กลุ่ม โดยที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับพลังงานไม่ถึงระดับเป้าหมาย
จากการศึกษาไม่พบความแตกต่างที่มีนัยสำคัญด้านอัตราการเสียชีวิตที่ 30 วันจากการเริ่มให้อาหารอย่างรวดเร็วทาง parenteral route และ enteral route ในผู้ป่วยวิกฤติ