อัตราลดน้ำหนักต่อการควบคุมน้ำหนักระยะยาว
The Lancet Diabetes & Endocrinology, Early Online Publication, October 16, 2014.
บทความเรื่อง The Effect of Rate of Weight Loss on Long-Term Weight Management: A Randomised Controlled Trial รายงานว่า แนวปฏิบัติได้แนะนำการรักษาโรคอ้วนด้วยการลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่เชื่อว่าน้ำหนักที่ลดลงพรวดพราดจะทำให้น้ำหนักกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นักวิจัยศึกษาผลของอัตราการลดน้ำหนักต่ออัตราน้ำหนักขึ้นในคนอ้วนจากกลุ่มตัวอย่าง 204 คน (ชาย 51 คน และหญิง 153 คน) อายุระหว่าง 18-70 ปี ซึ่งมี BMI ระหว่าง 30-45 กิโลกรัม/ตารางเมตร ระหว่างช่วง phase 1 ได้สุ่มกลุ่มตัวอย่างตามเพศ อายุ และ BMI เป็นกลุ่มลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วใน 12 สัปดาห์ หรือกลุ่มลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไปใน 36 สัปดาห์ โดยทั้ง 2 กลุ่มมีเป้าหมายลดน้ำหนักให้ได้ 15% จากนั้นได้ให้กลุ่มตัวอย่างที่ลดน้ำหนักได้ 12.5% หรือมากกว่าระหว่าง phase 1 ได้รับอาหารควบคุมน้ำหนักอีก 144 สัปดาห์ (phase 2) ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ค่าเฉลี่ยน้ำหนักที่ลดได้ที่ 144 สัปดาห์ของ phase 2 โดยศึกษาผลลัพธ์หลักทั้งจาก completers และ intention-to-treat analyses
กลุ่มตัวอย่าง 200 คนได้รับการสุ่มให้ลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไป (n = 103) หรือลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว (n = 97) ระหว่างวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 2008 ถึงวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 2010 หลังจาก phase 1 พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 51 คน (50%) ในกลุ่มลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ 76 คน (81%) ในกลุ่มลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วสามารถลดน้ำหนักได้ 12.5% หรือมากกว่าตามกรอบเวลาและเข้าสู่การศึกษาช่วง phase 2 เมื่อสิ้นสุดการศึกษา phase 2 พบว่า กลุ่มตัวอย่างจากทั้ง 2 กลุ่ม (n = 43 ในกลุ่มลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ n = 61 ในกลุ่มลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว) กลับมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และเป็นส่วนใหญ่ของน้ำหนักที่เคยลดได้ (กลุ่มลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพิ่มขึ้น 71.2%, 95% CI 58.1-84.3 vs. กลุ่มลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้น 70.5%, 57.8-83.2) สอดคล้องกับผลจาก intention-to-treat analysis (กลุ่มลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพิ่มขึ้น 76.3%, 95% CI 65.2-87.4 vs. กลุ่มลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้น 76.3%, 65.8-86.8) ในช่วง phase 1 พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 1 คนในกลุ่มที่ลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเกิด cholecystitis และต้องทำ cholecystectomy และพบกลุ่มตัวอย่าง 2 คนในกลุ่มลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเป็นมะเร็งใน phase 2
อัตราของน้ำหนักที่ลดได้ไม่มีผลต่อสัดส่วนของน้ำหนักที่กลับมาเพิ่มขึ้นอีกภายใน 144 สัปดาห์ ผลลัพธ์นี้ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านอาหารในปัจจุบันซึ่งแนะนำให้ลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไปแทนการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วตามความเชื่อว่าการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วทำให้น้ำหนักกลับมาเพิ่มขึ้นเร็วกว่า