ขับรถชนท้ายรถใหญ่ตาย: สาเหตุจากโรคธรรมชาติหรืออุบัติเหตุ (รายงานผู้ตาย 1 ราย)

ขับรถชนท้ายรถใหญ่ตาย: สาเหตุจากโรคธรรมชาติหรืออุบัติเหตุ (รายงานผู้ตาย 1 รายDriving Hit To A Big Vehicle: Natural Death Or Accident (A Case Report)

นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ พ.บ., น.ม., น.บ.ท., ว.ว.นิติเวชศาสตร์* *รองศาสตราจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

การที่ผู้ป่วยที่ถูกส่งมาให้รับการตรวจต่อ โดยพบผู้ตายอยู่ในรถที่เกิดการเฉี่ยวชนกันอย่างรุนแรงจนทำให้เสียชีวิต หรือแม้ไม่เสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุแต่มีการถูกนำส่งมายังสถานพยาบาลแห่งหนึ่งแห่งใดก็ตาม และได้ผ่านกระบวนการกู้ชีพมาครบขั้นตอนแล้ว แต่ไม่สามารถที่จะกู้ชีพผู้นั้นได้ ทำให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายในที่สุดแล้วก็ตาม ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้ตายที่มีประวัติโรคหัวใจมาก่อนแล้วว่า “สาเหตุที่ทำให้ตายคืออะไร” หมายความว่า “ผู้ป่วยเกิดโรคหัวใจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุจราจร” หรือ “เกิดอุบัติเหตุจราจรแล้วทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย” ทั้ง 2 ประการที่กล่าวถึงนี้หากดูไปก็อาจไม่เห็นถึงความแตกต่างหรือ “ผลที่จะมีต่อ” แต่ประการใด แต่หากพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงสภาพแห่งสังคมปัจจุบันแล้วจะเกิดผลกระทบอย่างมาก หากผู้ที่เสียชีวิตนั้นมีการทำประกันไว้กับบริษัทประกันในเรื่อง “อุบัติเหตุ” เพราะจะเกิดกรณีพิพาทระหว่างทายาทของผู้ตายกับบริษัทประกันว่า “สาเหตุที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายคืออะไร” เป็นการตายตามธรรมชาติ (จากโรคหัวใจ) หรือตายจากอุบัติเหตุ (จราจร) เพราะการตายทั้ง 2 ประเภทนี้จะส่งผลถึงการจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจเป็นวงเงินจำนวนมาก เช่น หลายล้านบาทเลยทีเดียว

การที่ผู้ตายรายนี้มีพยาธิสภาพคือ การโป่งพองของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่และแยกตัวออก (aortic dissecting aneurysm) อาจเป็นสาเหตุแห่งการตายได้ และหากเป็นเช่นนั้นจริงเพราะการเกิดขึ้นเองอย่างเฉียบพลันย่อมทำให้พฤติการณ์แห่งการตายในผู้ตายรายนี้เข้าได้กับ “การตายตามธรรมชาติ” ไปด้วย ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ และตามด้วยการที่ผู้ตายได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บอันเนื่องจากหน้าอกกระแทกกับรถใหญ่และมีกระบวนการกู้ชีพตามมาโดยลำดับ

อุทาหรณ์ (รายงานผู้ตาย 1 ราย)

ประวัติ: ผู้ป่วยเป็นชาย 71 ปี มีผู้พบว่าขับรถชนท้ายรถบรรทุกจึงถูกนำตัวส่งมายังโรงพยาบาลในสภาพที่ไม่รู้สึกตัว แพทย์ได้ทำการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยโดยกระบวนการกู้ชีพแต่ไม่สำเร็จ ผู้ป่วยดังกล่าวเสียชีวิตในเวลาต่อมา

เนื่องจากผู้ตายถูกพบในสภาพที่ขับรถชนกับรถบรรทุก จึงได้แจ้งไปยังพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่สถานพยาบาลตั้งอยู่ (ที่ที่ศพอยู่) และพนักงานสอบสวนได้ร่วมกับแพทย์ผู้มีหน้าที่ทำการชันสูตรพลิกศพ และส่งศพมาเพื่อรับการตรวจต่อเนื่องที่โรงพยาบาลศิริราช (ภาพที่ 1)

ต่อมาแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ได้ทำการตรวจศพและทำการผ่าศพตรวจต่อเพื่อหาสาเหตุแห่งการตายอย่างแท้จริงพบว่า ผู้ตายรายนี้มีหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนโค้งบน (aortic arch) แตกทะลุจากพยาธิสภาพที่มีอยู่เดิมเป็นหลอดเลือดแดงใหญ่ผนังแยกจากกัน (dissecting aneurysm) เป็นเหตุให้มีเลือดออกจำนวนมากและรวดเร็วที่ช่องอกด้านซ้าย และเป็นเหตุแห่งการเสียชีวิต

สภาพภายนอกของศพ: (ภาพที่ 2)

- ศพชายอายุประมาณ 70 ปี รูปร่างสันทัด ตัวยาว 169 เซนติเมตร หนัก 68 กิโลกรัม นอนอยู่บนเตียงผ่าศพ

- ศพมีผมสีดำ แต่มีสีขาวพอให้เห็นแทรกเป็นจำนวนมาก เส้นผมยาวประมาณ 10 เซนติเมตร

- ศพแข็งตัวเต็มที่แล้ว พบเลือดตกลงสู่เบื้องต่ำภายหลังเสียชีวิตที่หลังได้ชัดเจน

- คอ รอบคอ ไม่พบบาดแผล หรือรอยกดหรือรัดที่ผิดปกติ

- ไม่พบเลือดออกที่เยื่อบุตาทั้งสองข้าง และไม่พบที่ร่างกายและแขนขาด้วยเช่นกัน

- แขนและขาอยู่ในสภาพเหยียดตรง ไม่มีงอผิดรูป

- ตรวจพบบาดแผลดังต่อไปนี้

- บาดแผลช้ำที่หน้าอกขนาดไม่ใหญ่หลายตำแหน่ง

- บาดแผลช้ำที่ต้นแขนขวาหลายรอย

- หน้าอกด้านซ้ายช้ำ

- บาดแผลรูปคล้ายสี่เหลี่ยมที่หน้าอกด้านขวายาวด้านละประมาณ 7-8 เซนติเมตร เข้าได้กับบาดแผลในกระบวนการกู้ชีพ (ภาพที่ 3)

- ไม่พบคราบ สี กลิ่น ผิดปกติที่บริเวณทวารต่าง ๆ ทั้ง ปาก จมูก หู ท่อปัสสาวะ และทวารหนัก

สภาพภายในของศพ:

- หนังศีรษะและใต้ชั้นหนังศีรษะปกติ ไม่พบบาดแผล

- กะโหลกศีรษะปกติ

- เนื้อสมองซีดอย่างมาก แต่ไม่พบพยาธิสภาพอื่นทั้งสมองใหญ่ สมองน้อย และแกนสมอง - กระดูกสันหลัง กระดูกคอ และเนื้อเยื่อส่วนบริเวณคอปกติ

- ใต้หน้าอกบริเวณรอยคล้ายรูปสี่เหลี่ยมเป็นแนวเข้าได้กับกระบวนการกู้ชีพมีลักษณะช้ำ

- กล้ามเนื้อหน้าอกด้านซ้ายมีรอยช้ำชัดเจนเป็นหย่อม ๆ (ภาพที่ 4)

- กระดูกซี่โครงด้านซ้ายที่ 4, 5 และ 6 หัก และด้านขวาที่ 5 และ 6 หัก (ภาพที่ 4)

- พบเลือดออกในช่องอกซ้าย 1,700 ลบ.ซม. (ภาพที่ 5)

- ช่องเยื่อหุ้มหัวใจ (pericardial sac) มีรอยฉีกขาดขนาดประมาณ 5 เซนติเมตร มีเลือดค้างอยู่ 100 ลบ.ซม. มีลักณะเป็นก้อนลิ่มเลือด (ภาพที่ 6)

- หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ออกจากหัวใจ (aorta) แตกทะลุออกไปสู่ด้านหลัง ติดต่อกับช่องอกซ้าย (ภาพที่ 7) ตรวจพบว่าตำแหน่งที่หลอดเลือดแตกนั้นตรงกับตำแหน่งการเกิดพยาธิสภาพการแยกของผนังของหลอดเลือดแดงใหญ่ (dissecting aneurysm) (ภาพที่ 8)

- หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเส้นหน้า (anterior descending branch of left coronary artery) ตีบประมาณร้อยละ 50 ส่วนเส้นขวา (right coronary artery) และเส้นวกหลังซ้าย (left circumflex artery) มีการตีบราวร้อยละ 20

- เมื่อนำอวัยวะในช่องอก (pleural content) ออกหมดจะเห็นรอยหักของกระดูกซี่โครงได้อย่างชัดเจน (ภาพที่ 9)

- กระเพาะอาหารมีของเหลวสีน้ำตาล ไม่มีก้อนอาหารหรือพืชผัก

- ตับ ม้าม ไต และอวัยวะต่าง ๆ ในช่องท้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ

- ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ อยู่ในเกณฑ์ปกติ

- กระเพาะปัสสาวะและอุ้งเชิงกรานอยู่ในเกณฑ์ปกติ

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ:

- การตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในเลือด: ตรวจไม่พบ

- การตรวจสารเสพติด (เบนโซไดอะซีปีน, บาร์บิตูเรท, โคเคน, กัญชา, สารจำพวกฝิ่นและอนุพันธ์, เมทแอมเฟตามีน): ตรวจไม่พบ

สาเหตุการตาย:

เลือดออกในช่องอกจำนวนมากเนื่องจากหลอดเลือดแดงใหญ่ (เอออร์ต้า) ฉีกขาดจากพยาธิสภาพผนังแยกโป่งพองออก

พฤติการณ์แห่งการตาย:

เข้าได้กับการที่หน้าอกได้รับการกระทบกระแทกอย่างรุนแรงอันพฤติการณ์แห่งการตายจากอุบัติเหตุจราจรมากที่สุด

วิเคราะห์และวิจารณ์

ผลการตรวจศพในผู้ตายรายนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและเป็นกรณีแห่งการศึกษาและเรียนรู้เพื่อการทำงานในเวชปฏิบัติ (ชันสูตรพลิกศพและการตรวจศพ) อย่างมากหลายประการ ดังนี้

ประการที่ 1: การชันสูตรพลิกศพ

กรณีผู้ตายรายนี้ถูกพบว่าอยู่ในรถที่ขับไปชนท้ายรถใหญ่ (รถบรรทุก) และต่อมาถูกนำตัวส่งที่โรงพยาบาลเพื่อการรักษาตัวและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ย่อมเข้าข่ายกรณีการตายผิดธรรมชาติ

การตายผิดธรรมชาตินั้น กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีกระบวนการ “ชันสูตรพลิกศพ” ดังนี้1

มาตรา 1481 เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย

การตายโดยผิดธรรมชาตินั้น คือ

(1) ฆ่าตัวตาย

(2) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย

(3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย

(4) ตายโดยอุบัติเหตุ

(5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ

ประการที่ 2: การตรวจศพ1

แพทย์ที่เข้าร่วมในการชันสูตรพลิกศพในผู้ตายรายนี้ (ศพอยู่ที่โรงพยาบาลมิได้อยู่ที่เกิดเหตุบนทางจราจร) ย่อมเป็นพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่สถานพยาบาลแห่งนั้นตั้งอยู่ ซึ่งต้องชันสูตรพลิกศพร่วมกับแพทย์ซึ่งมีหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและตามที่ได้ระบุไว้ในกรอบแห่งอำนาจหน้าที่ (ในที่นี้แพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชได้ทำการชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวน) โดยการชันสูตรพลิกศพนี้กระทำเพียง 2 ฝ่ายคือ แพทย์กับพนักงานสอบสวนเท่านั้น เพราะไม่เข้าเหตุแห่งการชันสูตรพลิกศพ 4 ฝ่าย

ประการที่ 3: การผ่าศพตรวจเพื่อหาสาเหตุที่ตายอย่างชัดเจน

กระบวนการชันสูตรพลิกศพแม้ว่าอาจสันนิษฐานว่า ผู้ตายได้รับอันตรายหรือได้รับบาดเจ็บที่หน้าอก (fracture of rib and/or sternum) และมีเลือดออกในช่องอก (hemothorax) ซึ่งอาจมีการสนับสนุนโดยผลการตรวจจากเอกซเรย์ (Chest X Ray) ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในกรอบมาตรฐานทางวิชาการแห่งการประกอบวิชาชีพเวชกรรม2,3,4 แพทย์ที่เข้าร่วมในการชันสูตรพลิกศพสมควรอย่างยิ่ง (ต้อง) ส่งศพดังกล่าวมาเพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมตามกฎหมายตามมาตรา 151 และ 152 นั่นเอง1

ประการที่ 4: การประมวลพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นเพื่อนำสู่ “พฤติการณ์แห่งการตาย”

พฤติการณ์แห่งการตาย:

พฤติการณ์แห่งการตายนั้นประกอบด้วย 3 สาเหตุสำคัญคือ

1. การกระทำตนเอง (ฆ่าตัวตาย)

2. การถูกผู้อื่นกระทำ (ถูกฆาตกรรม)

3. จากอุบัติเหตุ

หากไม่เข้ากับ 3 กรณีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ย่อมเป็นเหตุ “ตามธรรมชาติ” นั่นเอง

จากพยาธิสภาพของผู้ตายที่ตรวจพบจะเห็นได้ว่า คำถามที่จะเกิดขึ้นก็คือ “พฤติการณ์แห่งการตายในผู้ตายรายนี้น่าจะเกิดจากอะไร”

ก. เกิดขึ้นจากเหตุธรรมชาติจาก

(1) พยาธิสภาพหลอดเลือดแดงใหญ่ (เอออร์ต้า) แตกเอง

(2) หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ

ข. เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุจาก

(1) อุบัติเหตุจราจรอันเนื่องจากรถชนกันแล้วทำให้หน้าอกไปกระแทกพวงมาลัยหรือวัตถุอื่น

(2) อุบัติเหตุจากกระบวนการกู้ชีพที่ได้รับแรงกดในขณะกู้ชีพอย่างรุนแรง

ปัญหาที่อาจเกิดจากพฤติการณ์แห่งการตาย:

ปัญหาที่อาจเกิดในด้านของพฤติการณ์แห่งการตายได้อย่างง่ายที่สุดก็คือ “ความเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสิทธิในทางประกัน” ทั้งนี้เพราะแม้ว่าจะพบสาเหตุหรือสถานที่เกิดเหตุจะเป็นบนถนนก็ตาม แต่อาจมีการโต้แย้งว่า “ผู้ตายมีประวัติหรือการตรวจพบว่ามีเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบอยู่เดิมแล้ว ย่อมเกิดสภาพการที่หัวใจขาดเลือดและทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้นมาได้ โดยเหตุจากสภาพที่เห็นในการชนของรถเป็นเพียงผลที่ตามมาอันเกิดจากหัวใจขาดเลือด ย่อมเป็นการเสียชีวิตเนื่องจากเหตุธรรมชาติมิใช่อุบัติเหตุจราจร” ซึ่งประเด็นที่กล่าวถึงนี้เคยปรากฏมาแล้วจากการตรวจศพไม่พบสภาพแห่งการบาดเจ็บภายในช่องอก ช่องท้อง และสมองแต่อย่างใด มีเพียงการที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ/ตัน และมีพยาธิสภาพในกล้ามเนื้อหัวใจอันเกิดขึ้นจากการขาดเลือดมาเลี้ยงหลายระยะมาแล้ว

ในกรณีตามอุทาหรณ์ ผู้ตายรายนี้ได้รับการส่งตัวมาเพื่อเข้ารับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลย่อมต้องมีการตรวจ รักษา บำบัด ไปส่วนหนึ่ง รวมถึงการที่ได้รับการตรวจสืบค้นมาด้วยโดยเฉพาะการเอกซเรย์ซึ่งอาจพบว่ามีเลือดออกในช่องอกซ้ายเท่านั้น (ไม่พบว่ามีกระดูกหักเพราะกระดูกหักเกิดขึ้นในเวลาต่อมาจากกระบวนการกู้ชีพ) เป็นต้น อาจยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยอันเป็นเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยได้

นอกจากนี้พฤติการณ์แห่งการตายยังอาจเป็นประเด็นในความผิดทางอาญา5 ของคู่กรณีกับผู้ตายได้ เช่น กรณีดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับผู้ขับรถบรรทุก เป็นต้น

ประมวลสภาพแห่งการตรวจพบจากการตรวจศพและผ่าศพตรวจ:

ข้อที่ 1: จากการตรวจสภาพศพภายนอกพบว่า บริเวณหน้าอกด้านขวามีรอยแห่งการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าเป็นรูปคล้ายสี่เหลี่ยมค่อนข้างชัดและหลายครั้ง (เป็นรอยซ้อนกัน) แสดงว่ามีกระบวนการกู้ชีพแน่นอน

ข้อที่ 2: การพบว่ามีการหักหรือแตกของกระดูกซี่โครง “ด้านซ้ายที่ 4, 5 และ 6 หัก และด้านขวาที่ 5 และ 6” อาจเกิดจากการที่หน้าอกได้รับการกระทบกระแทกอย่างรุนแรงจากแรงภายนอก (อุบัติเหตุจราจร) หรือเกิดจากกระบวนการกู้ชีพได้ ทั้งนี้เพราะในกระบวนการกู้ชีพจะพบการหักของกระดูกดังกล่าวเป็นประจำ

ข้อที่ 3: มีการตรวจพบว่ามีการฉีกขาดของเยื่อหุ้มหัวใจ (pericardium) เป็นรอยขนาดยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร แสดงว่าจะต้องมีการถูกกระแทกที่หน้าอกอย่างรุนแรง และความรุนแรงนี้ย่อมมากกว่าการที่จะเกิดจากเพียงการได้รับการกดหน้าอกในกระบวนการกู้ชีพ แม้ว่าในกระบวนการกดหน้าอกเพื่อการกู้ชีพจะทำให้เกิดการแตกหรือหักของกระดูกซี่โครง (fracture of ribs) และกระดูกอก (fracture of sternum) ด้วยก็ตาม แต่จะไม่ทำให้เกิดการฉีกขาดในลักษณะนี้ได้ (ภาพที่ 6)

ข้อ 4: การพบเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจมีสภาพที่ตีบมากที่สุดเพียงราวร้อยละ 50 ย่อมไม่สามารถที่จะเชื่อได้ว่า หรือเป็นเหตุได้ว่าเกิดขึ้นเพราะขาดเลือดเลี้ยงหัวใจเป็นเหตุให้หัวใจหยุดทำงาน และเกิดเหตุต่อเนื่องตามมา (อุบัติเหตุจราจร) ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น พฤติการณ์แห่งการตายจะย่อมเข้าได้กับ “โรคตามธรรมชาติ” ได้

ข้อ 5: การตรวจไม่พบแอลกอฮอล์ในเลือดและไม่พบสารเสพติดหรือสารกล่อมประสาทในปัสสาวะของผู้ตายย่อมแสดงว่า “ผู้ตายมิได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของยาหรือสารดังกล่าวข้างต้น” อันเป็นเหตุให้ครองสติไม่ได้ และเกิดเหตุ (อุบัติเหตุ) ขึ้น

ข้อ 6: การที่ผู้ตายรายนี้มีพยาธิสภาพคือ การโป่งพองของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่และแยกตัวออก (aortic dissecting aneurysm) อาจเป็นสาเหตุแห่งการตายได้ และหากเป็นเช่นนั้นจริงเพราะการเกิดขึ้นเองอย่างเฉียบพลันย่อมทำให้พฤติการณ์แห่งการตายในผู้ตายรายนี้เข้าได้กับ “การตายตามธรรมชาติ” ไปด้วย ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ และตามด้วยการที่ผู้ตายได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บอันเนื่องจากหน้าอกกระแทกกับรถใหญ่และมีกระบวนการกู้ชีพตามมาโดยลำดับ

สรุปการประมวลผลในผู้ตายรายนี้:

พยาธิสภาพที่ตรวจพบหลายประการในผู้ตายรายนี้เมื่อนำมาประมวลด้วยเหตุและผลที่น่าจะเป็นพร้อมทั้งความเป็นไปได้ในโอกาสที่จะเกิดขึ้นแล้วน่าจะประมวลได้ว่า ผู้ตายรายนี้มีพยาธิสภาพของหลอดเลือดแดงใหญ่ (aorta) อยู่แล้ว แต่มิใช่เป็นสาเหตุที่ทำให้ตาย และน่าจะมีการกระแทกที่หน้าอกอย่างรุนแรงจนทำให้หลอดเลือดแตกและเยื่อหุ้มหัวใจฉีกขาดมีเลือดออกในช่องอก (massive hemothorax) จำนวนมาก และน่าเชื่อว่าจะมีความรุนแรงจนทำให้กระดูกซี่โครงทั้งสองข้างหัก และเป็นสาเหตุแห่งการตาย ส่วนกระบวนการกู้ชีพแม้ว่าอาจมีข้อสันนิษฐานได้ว่าสามารถทำให้กระดูกซี่โครงหักได้ดังที่ตรวจพบ แต่ก็มีน้ำหนักน้อยลงเมื่อพบว่ามีการฉีกขาดของเยื่อหุ้มหัวใจประกอบด้วย

สรุป

การเสียชีวิตอย่างกะทันหันอันเนื่องจากประวัติที่เข้าได้กับอุบัติเหตุจราจร แพทย์ที่ร่วมทำการชันสูตรพลิกศพสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องนำศพที่ชันสูตรพลิกศพแล้วมารับการตรวจต่อทางกฎหมาย เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อตัวแพทย์ในกรณีลดความเสี่ยงแห่งการดำเนินการทางการแพทย์ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน (ทางนิติเวชศาสตร์) อันเป็นผลเนื่องจากการเรียกร้องสิทธิทางประกันและไม่รับสิทธิดังที่เรียกร้องนั้น

เอกสารอ้างอิง

1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1307.pdf

2. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525. ราชกิจจานุเบกษา 2525;99:1-24.

3. ประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. 2555. โดยในการประชุมครั้งที่ 4/2555 วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555 ได้มีมติให้แก้ไขข้อความในประกาศแพทยสภาที่ 11/2555 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็น “ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ (24 มกราคม พ.ศ. 2555)”.

4. ประกาศแพทยสภาที่ 12/2555 เรื่อง เกณฑ์ความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. (Medical Competency Assessment Criteria for National License 2012) ประกาศ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555.

5. ประมวลกฎหมายอาญา. http://legal-informatics.org/file/3.pdf