ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตามชั่วโมง และสถานภาพเศรษฐกิจและสังคม

ความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตามชั่วโมงงาน และสถานภาพเศรษฐกิจและสังคม

The Lancet Diabetes & Endocrinology, Early Online Publication, September 25, 2014.

บทความเรื่อง Long Working Hours, Socioeconomic Status, and the Risk of Incident Type 2 Diabetes: A Meta-Analysis Of Published and Unpublished Data from 222,120 Individuals รายงานว่า ชั่วโมงการทำงานที่นานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่ามีผลกระทบต่อทุกระดับของสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่

นักวิจัยได้ศึกษาบทบาทของชั่วโมงการทำงานที่นานในฐานะปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยศึกษาแบบ meta-analysis แบ่งตามระดับสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ข้อมูลในการศึกษารวบรวมจากฐานข้อมูล PubMed และ Embase จนถึงวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2014 เกณฑ์การรวบรวม ได้แก่ ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ศึกษาแบบ prospective design (cohort study) ศึกษาผลของชั่วโมงทำงานหรือการทำงานล่วงเวลา กำหนดให้การเกิดโรคเบาหวานเป็นผลลัพธ์ และมีข้อมูล relative risks, odds ratios หรือ hazard ratios (HRs) ร่วมกับ 95% CIs หรือมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการคำนวณ นอกจากนี้ยังได้ใช้ข้อมูลระดับบุคคลที่ไม่ได้ตีพิมพ์จากการศึกษาใน Individual-Participant-Data Meta-analysis in Working-Populations Consortium และฐานข้อมูลการศึกษาระหว่างประเทศ และรวมค่าอิทธิพลจากข้อมูลที่ตีพิมพ์และไม่ได้ตีพิมพ์จากกลุ่มตัวอย่างชายและหญิง 222,120 คนจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลียด้วย random-effects meta-analysis

ระหว่าง 1.7 million person-years at risk พบผู้ที่เกิดโรคเบาหวาน 4,963 คน (incidence 29 per 10,000 person-years) ค่า minimally adjusted summary risk ratio สำหรับชั่วโมงการทำงานที่นาน (≥ 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เทียบกับชั่วโมงการทำงานปกติ (35-40 ชั่วโมง) เท่ากับ 1.07 (95% CI 0.89-1.27, difference in incidence three cases per 10,000 person-years) โดยมีความต่างที่มีนัยสำคัญด้านค่าประมาณของแต่ละการศึกษา (I2 = 53%, p = 0.0016) ในการวิเคราะห์ที่แบ่งชั้นตามสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมพบความสัมพันธ์ระหว่างชั่วโมงการทำงานที่นานและโรคเบาหวานในกลุ่มสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมระดับล่าง (risk ratio 1.29, 95% CI 1.06-1.57, difference in incidence 13 per 10,000 person-years, I2 = 0%, p = 0.4662) แต่ไม่พบในกลุ่มสถานภาพระดับสูง (1.00, 95% CI 0.80-1.25, incidence difference zero per 10,000 person-years, I2 = 15%, p = 0.2464) ความสัมพันธ์ในกลุ่มสถานภาพระดับล่างเห็นได้ชัดแม้ปรับตามอายุ เพศ และการเคลื่อนไหวออกแรง ตลอดจนภายหลังตัดผู้ที่ทำงานเป็นกะออก

ข้อมูลจาก meta-analysis นี้ชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชั่วโมงการทำงานที่นานและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เห็นชัดเฉพาะในผู้ที่อยู่ในกลุ่มสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมระดับล่าง