5 เยาวชนคนเก่งผู้ได้รับพระราชทานทุน โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2557

5 เยาวชนคนเก่งผู้ได้รับพระราชทานทุน โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2557

ศ.คลินิก นพ.สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์, นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล, รศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และ ศ.นพ.สมภพ ลิ้มพงศานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ร่วมกันประกาศผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2557 ซึ่งในปีนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2557 ทั้งสิ้น 12 ราย จาก 7 สถาบัน โดยผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติของโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 5 ราย ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้พิจารณากลั่นกรอง คัดเลือก และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ได้รับพระราชทานทุน “โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ประจำปี พ.. 2557 ได้แก่ นายโฆษิต วรธีระ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, นางสาวชนัสนันท์ ณรงค์ชัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นางสาวนันทนัช วุฒิไกรวิทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายวีระวิชย์ วาทีทิพย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสิชน ลือฤทธิพงษ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
 

นายโฆษิต วรธีระ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

นายโฆษิต วรธีระ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจในการทำโครงการพัฒนาประสิทธิภาพเซลล์ต้นกำเนิดหลอดเลือดเพื่อใช้ในการรักษาแผล โดยเฉพาะแผลเรื้อรังที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อป้องกันการตัดอวัยวะส่วนปลาย ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยเบาหวาน โดยความสนใจนี้เกิดเนื่องมาจากปัจจุบันเบาหวานถือเป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อที่เป็นปัญหาสำคัญระดับโลก มีประชากรจำนวนมากที่มีภาวะแทรกซ้อนด้วยแผลเรื้อรังที่เท้าที่มีสาเหตุมาจากภาวะหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน การรักษาในปัจจุบันคือรักษาโดยการผ่าตัด แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ลงท้ายด้วยการตัดอวัยวะ นอกจากค่าใช้จ่ายสูงจากการรักษาในระยะยาวแล้ว ยังรวมถึงคุณภาพชีวิตที่ลดลง การใช้เซลล์ต้นกำเนิดหลอดเลือดจึงเป็นแนวทางใหม่ที่ควรได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการเป็นทางเลือกของการรักษาแผลเรื้อรังที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน

นางสาวชนัสนันท์ ณรงค์ชัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นางสาวชนัสนันท์ ณรงค์ชัย นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความสนใจการพัฒนาระบบการตรวจคัดกรอง การดูแลรักษาและป้องกันภาวะพิการทางสายตาในเด็ก Retinopathy of Prematurity (ROP) เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหา ROP ซึ่งเป็นภาวะที่สามารถป้องกันได้ เริ่มด้วยการตรวจคัดกรองประเมินความเสี่ยงและให้การวินิจฉัยโรคในระยะแรก นำไปสู่การตรวจเพิ่มเติมและรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดอัตราการเกิดตาบอดในเด็ก แต่ปัจจุบันระบบการตรวจคัดกรองของไทยไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ทำให้ภาวะตาบอดของเด็กไทยสูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ดังนั้น การศึกษาวิชาการและฝึกปฏิบัติเสริมประสบการณ์จากองค์กรที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ พร้อมนำกลับมาประยุกต์ใช้จึงเป็นประโยชน์อย่างทั่วถึงในสถานพยาบาลทุกศักยภาพของประเทศไทย ถ้ามีกระบวนการเฝ้าระวังตรวจคัดกรองที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสำหรับประชากรไทย โครงการนี้จะเป็นคำตอบของเด็กไทยทั่วประเทศในอนาคต ส่งผลให้เด็กมีสุขภาพดีและมีคุณภาพชีวิตดี ด้วยเหตุที่เด็กเป็นอนาคตสำคัญของชาติ ความสำเร็จของโครงการนี้จึงก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับคนไทยทั้งประเทศและพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป

นางสาวนันทนัช วุฒิไกรวิทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางสาวนันทนัช วุฒิไกรวิทย์ นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจด้านการพัฒนาการปลูกถ่ายเซลล์ภูมิคุ้มกันเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งโรคมะเร็งจัดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญทั่วโลกและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน หรือมีการกลับเป็นซ้ำหลังการรักษาแล้ว การรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งจึงเป็นแนวทางการรักษาที่มีความหวังว่าจะสามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดโดยมีผลข้างเคียงน้อยมาก ในการศึกษาวิจัยนี้จะใช้โรคมะเร็งหลังโพรงจมูกเป็นต้นแบบ มะเร็งหลังโพรงจมูกเป็นโรคมะเร็งที่พบมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย โรคมะเร็งชนิดนี้มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตน์บาร์ และเหมาะสมสำหรับเป็นต้นแบบในการพัฒนาวิธีการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ภูมิคุ้มกัน เทคโนโลยีที่จะศึกษาวิจัยนี้นอกจากจะประยุกต์ใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกแล้ว ยังสามารถนำมาประยุกต์ต่อยอดรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นต่อไป

นายวีระวิชย์ วาทีทิพย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายวีระวิชย์ วาทีทิพย์ นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจในเรื่องแพทยศาสตรศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน professionalism ซึ่งในปัจจุบันนายวีระวิชย์ กำลังศึกษาและริเริ่มโครงการวิจัยเกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือที่ใช้สำหรับวัดและประเมินผลด้าน professionalism สำหรับนักศึกษาแพทย์ไทย เนื่องด้วยปัจจุบันระบบสาธารณสุขทั้งในและต่างประเทศกำลังประสบปัญหาในหลายด้านทั้งความไม่เสมอภาคและช่องว่างในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การศึกษาทางวิชาชีพแพทยศาสตร์ที่มีอยู่ถูกมองว่ายังไม่สามารถที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบสาธารณสุขนี้ได้เท่าที่ควร นอกจากนี้ตัวหลักสูตรยังมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คุณลักษณะของบุคลากรทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาในระบบสาธารณสุขทั่วโลก การปลูกฝัง professionalism ให้แก่นักศึกษาแพทย์ตั้งแต่ต้นจึงเป็นความหวังที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว โดยที่ผ่านมามีความพยายามที่จะพัฒนาการเรียนการสอนและเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผลทางการศึกษาในเรื่อง professionalism มาโดยตลอด แต่ยังไม่พบว่ามีเครื่องมือใดที่สามารถพิสูจน์ถึงผลสำเร็จของการวัดประเมินผลได้อย่างแท้จริง ดังนั้น การทำงานและศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือที่ใช้วัดและประเมินภาวะ professionalism ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลกในสาขาดังกล่าว จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาวงการแพทยศาสตรศึกษาและนักศึกษาแพทย์ไทยในศตวรรษที่ 21

นายสิชน ลือฤทธิพงษ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

นายสิชน ลือฤทธิพงษ์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจด้านระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เนื่องจากภาวะประชากรสูงวัยกําลังเกิดขึ้นในทั่วทุกภูมิภาคของโลก จากการศึกษาพบว่ากลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุรวดเร็วกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยจะมีระยะเวลาในการเตรียมรับสถานการณ์นี้น้อยกว่านั่นเอง โดยคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2050 จะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 30% หรือมากกว่า 20 ล้านคน การที่ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนมากขึ้นและมีอายุยืนยาวขึ้นทำให้การดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม มีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การพัฒนามาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่เหมาะสมกับประเทศไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง