ผลค่าน้ำตาลอาหารคาร์โบไฮเดรตต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดและความไวอินซูลิน

ผลค่าน้ำตาลอาหารคาร์โบไฮเดรตต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดและความไวอินซูลิน

JAMA. 2014;312(23):2531-2541.

บทความเรื่อง Effects of High vs Low Glycemic Index of Dietary Carbohydrate on Cardiovascular Disease Risk Factors and Insulin Sensitivity: The OmniCarb Randomized Clinical Trial รายงานว่า อาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตใกล้เคียงกันอาจมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลที่ต่างกัน ซึ่งผลของค่าน้ำตาลต่อปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคเบาหวานนี้ยังไม่มีการศึกษาไว้ชัดเจนREE

นักวิจัยศึกษาผลของค่าน้ำตาลและปริมาณคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดต่อปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคเบาหวานจากหน่วยวิจัยของโรงพยาบาลวิทยาลัยแพทย์ กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ใหญ่น้ำหนักเกิน 163 คน (systolic blood pressure 120-159 mmHg) ได้รับอาหารครบถ้วน 4 สูตรซึ่งครอบคลุมอาหาร ของว่าง และเครื่องดื่มจำกัดแคลอรี โดยรับประทานสูตรละ 5 สัปดาห์ และรับประทานอย่างน้อย 2 สูตร กลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรกเข้าร่วมการศึกษาในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2008 และกลุ่มสุดท้ายเสร็จสิ้นในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2010

อาหารที่ศึกษาได้แก่ (1) อาหารสูตรค่าน้ำตาลสูง (65% ของดัชนีค่าน้ำตาล) และคาร์โบไฮเดรตสูง (พลังงาน 58%) (2) อาหารสูตรค่าน้ำตาลต่ำ (40%) และคาร์โบไฮเดรตสูง (3) อาหารสูตรค่าน้ำตาลสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำ (พลังงาน 40%) และ (4) อาหารสูตรค่าน้ำตาลต่ำและคาร์โบไฮเดรตต่ำ โดยกำหนดอาหารแต่ละสูตรตามสูตร DASH

ผลลัพธ์หลักทั้ง 5 ข้อ ได้แก่ ความไวอินซูลินประเมินจากพื้นที่ใต้เส้นโค้งของระดับน้ำตาลและอินซูลินระหว่างทดสอบ oral glucose tolerance test, ระดับคอเลสเตอรอลชนิด low-density lipoprotein (LDL) cholesterol และ high-density lipoprotein (HDL), ไตรกลีเซอไรด์ และความดันโลหิตซิสโตลิก

เมื่อเทียบที่ปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูงพบว่า อาหารที่มีค่าน้ำตาลต่ำเทียบกับค่าน้ำตาลสูงลดความไวอินซูลินจาก 8.9 เป็น7.1 หน่วย (-20%, p = 0.002) เพิ่มระดับคอเลสเตอรอล LDL จาก 139 เป็น 147 mg/dL (6%, p ≤ 0.001) แต่ไม่มีผลต่อระดับคอเลสเตอรอล HDL ไตรกลีเซอไรด์ หรือความดันโลหิต ที่ปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่ำพบว่า อาหารที่มีค่าน้ำตาลต่ำเทียบกับค่าน้ำตาลสูงไม่มีผลต่อผลลัพธ์ ยกเว้นลดไตรกลีเซอไรด์จาก 91 เป็น 86 mg/dL (-5%, p = 0.02) และจากการเปรียบเทียบระหว่างอาหารค่าน้ำตาลต่ำและคาร์โบไฮเดรตต่ำกับอาหารค่าน้ำตาลสูงและคาร์โบไฮเดรตสูงก็ไม่พบว่ามีผลต่อความไวอินซูลิน ความดันโลหิตซิสโตลิก คอเลสเตอรอล LDL หรือคอเลสเตอรอล HDL แต่ลดไตรกลีเซอไรด์จาก 111 เป็น 86 mg/dL (-23%, p ≤ 0.001)

ข้อมูลจากการศึกษาชี้ว่า อาหารคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าน้ำตาลต่ำไม่ได้ส่งผลดีต่อความไวอินซูลิน ระดับไขมัน หรือความดันโลหิตซิสโตลิกเทียบกับอาหารคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าน้ำตาลสูง ซึ่งชี้ว่าการเลือกอาหารโดยเจาะจงตามค่าน้ำตาลอาจไม่ได้ส่งผลดีต่อปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดและความไวอินซูลิน