Aspirin ขนาดต่ำสำหรับป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุ

Aspirin ขนาดต่ำสำหรับป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุ

JAMA. 2014;312(23):2510-2520.

บทความเรื่อง Low-Dose Aspirin for Primary Prevention of Cardiovascular Events in Japanese Patients 60 Years or Older with Atherosclerotic Risk Factors: A Randomized Clinical Trial รายงานว่า การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจจากหลอดเลือดแดงแข็งเป็นเป้าหมายหลักด้านสาธารณสุขในญี่ปุ่นท่ามกลางสภาพสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งนักวิจัยได้ศึกษาผลของการให้ aspirin ขนาดต่ำเป็นประจำทุกวันต่อการลดอุบัติการณ์ด้านเหตุการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยสูงอายุซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแดงแข็งหลายตัว

ข้อมูลนี้รายงานจากการศึกษา Japanese Primary Prevention Project (JPPP) ซึ่งศึกษาแบบ multicenter, open-label, randomized, parallel-group trial นักวิจัยรวบรวมผู้ป่วย (N = 14,464) ซึ่งมีอายุระหว่าง 60-85 ปี และมีโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือเบาหวานจากคลินิก 1,007 แห่งทั่วญี่ปุ่นระหว่างเดือนมีนาคม ค.ศ. 2005 ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2007 การติดตามมีระยะเวลา 6.5 ปี โดยติดตามครั้งสุดท้ายในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2012 และประเมินผลลัพธ์โดยคณะผู้เชี่ยวชาญสหสาขา

นักวิจัยสุ่มให้ผู้ป่วยได้รับ aspirin 100 mg/d หรือไม่ได้รับ aspirin ร่วมกับยาที่ได้รับอยู่ ผลลัพธ์หลักรวม ได้แก่ การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (กล้ามเนื้อหัวใจตาย สโตรค และโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น), สโตรคที่ไม่ถึงแก่ชีวิต (ischemic หรือ hemorrhagic รวมถึงเหตุการณ์ของโรคหลอดเลือดสมองอื่น) และกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต ผลลัพธ์รอง ได้แก่ จุดยุติแต่ละข้อ

การศึกษายุติลงก่อนกำหนดหลังมัธยฐานการติดตาม 5.02 ปี (interquartile range 4.55-5.33) เนื่องจากพิจารณาว่าไม่มีประโยชน์ ในทั้งกลุ่มที่ได้รับ aspirin และไม่ได้รับพบเหตุการณ์ที่ถึงแก่ชีวิต 56 เหตุการณ์ ผู้ป่วยที่เกิดสโตรคไม่ถึงแก่ชีวิตมีจำนวน 114 คนในกลุ่ม aspirin และ 108 ในกลุ่มที่ไม่ได้รับยา สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิตพบ 20 คนในกลุ่ม aspirin และ 38 คนในกลุ่มที่ไม่ได้รับยา สำหรับโรคหลอดเลือดสมองพบ 3 คนในกลุ่ม aspirin และ 5 คนในกลุ่มที่ไม่ได้รับยา อัตรา event rate รวมของผลลัพธ์หลักที่ 5 ปีไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างทั้งสองกลุ่ม (2.77% [95% CI 2.40%-3.20%] สำหรับ aspirin vs 2.96% [95% CI 2.58%-3.40%] สำหรับไม่ได้รับ aspirin; hazard ratio [HR] 0.94 [95% CI 0.77-1.15]; p = 0.54) ยา aspirin ลดอุบัติการณ์ของกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต (0.30 [95% CI 0.19-0.47] สำหรับ aspirin vs 0.58 [95% CI 0.42-0.81] สำหรับไม่ได้รับ aspirin; HR 0.53 [95% CI 0.31-0.91]; p = 0.02) และ transient ischemic attack (0.26 [95% CI 0.16-0.42] สำหรับ aspirin vs 0.49 [95% CI 0.35-0.69] สำหรับไม่ได้รับ aspirin; HR 0.57 [95% CI 0.32-0.99]; p = 0.04) ได้อย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงต่อ extracranial hemorrhage ที่ต้องให้เลือดหรือนอนโรงพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญ (0.86 [95% CI 0.67-1.11] สำหรับ aspirin vs 0.51 [95% CI 0.37-0.72] สำหรับไม่ได้รับ aspirin; HR 1.85 [95% CI 1.22-2.81]; p = 0.004)

การรักษาด้วย aspirin ขนาดต่ำวันละครั้งไม่ได้ลดความเสี่ยงของผลลัพธ์รวมของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด สโตรคที่ไม่ถึงแก่ชีวิต และกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ไม่ถึงแก่ชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยชาวญี่ปุ่นซึ่งมีอายุ 60 ปีหรือมากกว่า และมีปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงแข็ง