ประสิทธิภาพของ β-blockers ในหัวใจล้มเหลวร่วมกับ Atrial Fibrillation
Lancet. 2014;384(9961):2235-2243.
บทความเรื่อง Efficacy of β-blockers in Patients with Heart Failure plus Atrial Fibrillation: An Individual-Patient Data Meta-Analysis รายงานว่า atrial fibrillation และหัวใจล้มเหลวมักพบร่วมกันและเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และแม้ยา β-blockers มีข้อบ่งใช้ในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวที่มีอาการและมี ejection fraction ลดลง แต่ประสิทธิภาพของยาดังกล่าวในผู้ป่วยที่มี atrial fibrillation ร่วมด้วยก็ยังคงไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด นักวิจัยจึงได้วิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยระดับบุคคลเพื่อประเมินประสิทธิภาพของ β-blockers ในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวร่วมกับมี sinus rhythm เทียบกับหัวใจล้มเหลวร่วมกับ atrial fibrillation
ข้อมูลในการวิเคราะห์ได้จากการศึกษา randomized controlled trials 10 การศึกษาซึ่งเปรียบเทียบ β-blockers กับยาหลอกในหัวใจล้มเหลว การมี sinus rhythm หรือ atrial fibrillation ประเมินจากผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่พื้นฐาน ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ การเสียชีวิตจากทุกสาเหตุและวิเคราะห์แบบ intention to treat และข้อมูลผลลัพธ์ได้นำมาวิเคราะห์อภิมานด้วยตัวแบบ Cox proportional hazards regression ที่ปรับแล้ว
จากข้อมูลผู้ป่วย 18,254 คน พบว่า 13,946 คน (76%) มี sinus rhythm และ 3,066 คน (17%) มี atrial fibrillation ที่พื้นฐาน อัตราตายอย่างหยาบจากการติดตามเฉลี่ย 1.5 ปี (SD 1.1) เท่ากับ 16% (2,237 คนจาก 13 945 คน) ในผู้ป่วยที่มี sinus rhythm และ 21% (633 คนจาก 3,064 คน) ในผู้ป่วยที่มี atrial fibrillation การรักษาด้วย β-blocker นำไปสู่การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุในผู้ป่วยที่มี sinus rhythm (hazard ratio 0.73, 0.67-0.80; p < 0.001) แต่ไม่รวมถึงผู้ป่วยที่มี atrial fibrillation (0.97, 0.83-1.14; p = 0.73) โดยมีค่า p value ที่มีนัยสำคัญสำหรับ interaction ของจังหวะการเต้นของหัวใจที่พื้นฐาน (p = 0.002) ทั้งนี้ไม่พบประสิทธิภาพด้านผลลัพธ์หลักในทุกกลุ่มย่อยของ atrial fibrillation ตามอายุ, เพศ, left ventricular ejection fraction, New York Heart Association class, อัตราการเต้นของหัวใจ และการรักษาที่พื้นฐาน
จากการศึกษานี้ชี้ว่าไม่ควรพิจารณา β-blockers เป็นพิเศษกว่ายาปรับการเต้นของหัวใจอื่น และไม่ควรพิจารณาเป็นการรักษามาตรฐานเพื่อปรับปรุงพยากรณ์โรคในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวร่วมกับ atrial fibrillation