Latanoprost สำหรับ Open-Angle Glaucoma
The Lancet. Early Online Publication, December 19, 2014
บทความเรื่อง Latanoprost for Open-Angle Glaucoma (UKGTS): A Randomized, Multicentre, Placebo-Controlled Trial รายงานว่า การรักษาต้อหินแบบมุมเปิดมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นโดยการลดความดันลูกตา แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบกับยาหลอกถึงผลลัพธ์ด้านการรักษาการมองเห็น และระยะการสังเกตจากการศึกษาก่อนหน้านี้มักมีระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี
นักวิจัยประเมินผลด้านการรักษาการมองเห็นในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วย latanoprost เทียบกับยาหลอกโดยศึกษาแบบ randomized placebo-controlled trial สุ่มให้ผู้ป่วยที่เพิ่งตรวจพบต้อหินมุมเปิดจากโรงพยาบาล 10 แห่งในสหราชอาณาจักรได้รับการรักษาด้วยยาหยอดตา latanoprost 0.005% (กลุ่มรักษา) หรือยาหลอก (กลุ่มควบคุม) ทั้ง 2 ข้างวันละครั้ง ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ระยะเวลาจนถึงเกิดการเสื่อมของลานสายตาภายใน 24 เดือน โดยวิเคราะห์ในผู้ป่วยทั้งหมดที่มีข้อมูลการติดตาม อนึ่ง คณะกรรมาธิการติดตามข้อมูลและความปลอดภัยแนะนำให้ยุติการศึกษาในวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2011 หลัง interim analysis และเสนอให้เปลี่ยนผลลัพธ์หลักจากความต่างด้านสัดส่วนของผู้ป่วยที่เกิดการลุกลามระหว่างทั้งสองกลุ่มเป็นระยะเวลาจนถึงเกิดการเสื่อมของลานสายตาภายใน 24 เดือน
นักวิจัยรวบรวมผู้ป่วย 516 คน ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ถึงวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 2010 ค่าเฉลี่ยความดันลูกตาที่พื้นฐานเท่ากับ 19.6 mmHg (SD 4.6) ในผู้ป่วย 258 คนในกลุ่ม latanoprost และ 20.1 mmHg (4.8) ในผู้ป่วย 258 ในกลุ่มควบคุม ที่ 24 เดือนพบว่า ค่า mean reduction ของความดันลูกตาเท่ากับ 3.8 mmHg (4.0) ในผู้ป่วย 231 คนในกลุ่ม latanoprost และ 0.9 mmHg (3.8) ใน 230 คนในกลุ่มยาหลอก การรักษาลานสายตามีระยะยาวนานกว่าอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่ม latanoprost เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยมี hazard ratio (HR) ที่ปรับแล้วเท่ากับ 0.44 (95% CI 0.28-0.69; p = 0.0003) ทั้งนี้พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง 18 เหตุการณ์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับยาที่ศึกษา
การศึกษานี้เป็นการศึกษา randomized placebo-controlled trial การศึกษาแรกที่ชี้ให้เห็นการรักษาลานสายตาจากยาลดความดันลูกตาในผู้ป่วยต้อหินแบบมุมเปิด ซึ่งรูปแบบการศึกษาทำให้สามารถประเมินความต่างด้านการมองเห็นด้วยระยะการสังเกตที่ค่อนข้างสั้น