“ฆ่าตัวตาย” ปัญหาที่มีทางออก

ฆ่าตัวตาย” ปัญหาที่มีทางออก

องค์การอนามัยโลกรายงานว่าประชากรทั่วโลกมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยในช่วง 45 ปีที่ผ่านมาอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 และพยากรณ์ว่าภายในปี พ.. 2563 ผู้ที่คิดฆ่าตัวตายจะมีจำนวนปีละ 1.5 ล้านราย โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุของการตายอยู่ใน 10 อันดับแรก และประมาณการว่าในทุก ๆ ปีจะมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 1 ล้านราย หมายความว่าในประชากร 1 แสนคนจะมีผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 16 ราย หรือในทุก 40 วินาทีจะมีผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 ราย

ประเทศไทยในระยะหลังมานี้มีปัญหาการฆ่าตัวตายบ่อยขึ้น ที่สร้างความสะเทือนใจอย่างมากคือ เหตุการณ์การเสียชีวิต 5 ศพที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าเป็นเหตุฆาตกรรม แต่ท้ายที่สุดเริ่มชัดเจนว่าอาจเป็นการก่อเหตุของบุคคลในครอบครัว ด้วยสาเหตุเพราะความเครียดจากเรื่องหนี้สิน ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามามีบทบาทและร่วมมือกันหาทางออกในการจัดการกับปัญหาการฆ่าตัวตาย

กรมสุขภาพจิตเผยถึงสถานการณ์การฆ่าตัวตายของคนไทยว่ามีความน่าเป็นห่วง หลังจากพบค่าเฉลี่ยแต่ละเดือนมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสูงถึง 328 คน หรือทุก ๆ 2 ชั่วโมงจะมีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน (ตัวเลขรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2557 ซึ่งตรงกับวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก) ทำให้ปัญหาการฆ่าตัวตายยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ โดยปัจจัยที่ทำให้หลายคนคิดฆ่าตัวตายเป็นเพราะรู้สึกเหงา ว้าเหว่ น้อยใจ สับสน โดดเดี่ยว หรือกำลังเผชิญกับปัญหาที่เลวร้าย กดดัน และบีบคั้นจนต้องใช้ความตายเป็นทางออกสุดท้ายให้หลุดพ้น

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แม้ปัจจุบันปัญหาการฆ่าตัวตายจะเริ่มได้รับการยอมรับในสังคมไทย มีการพูดถึงและหาแนวทางในการแก้ปัญหา แต่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยรวมถึงหลายประเทศทั่วโลกยังไม่สามารถเข้าถึงการแก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้ที่คิดฆ่าตัวตายได้อย่างแท้จริง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ และทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดปัญหาดังกล่าวได้ หากทุกคนให้ความสนใจ ใส่ใจ และเข้าใจ ซึ่งจะส่งผลอย่างยิ่งต่อผู้ที่กำลังมีความทุกข์ทางใจและพยายามหาทางเลือกหรือทางออกบางอย่าง ไม่ใช่เพราะอ่อนแอเกินไปที่จะต่อสู้กับปัญหา เพียงแต่ผู้ที่กำลังมีความทุกข์เหล่านี้ต้องการเครื่องมือหรือองค์ความรู้ที่จะถูกส่งต่อเข้าไปและสามารถช่วยให้เดินออกมาจากความรู้สึกที่โดดเดี่ยวที่ต้องอยู่กับปัญหาโดยลำพัง

จากการติดตามสถานการณ์ตัวเลขปัญหาการฆ่าตัวตายในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายค่อนข้างคงที่ โดยในปี พ.ศ. 2556 มีคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่า 3,900 รายต่อปี คิดเป็นอัตรา 6.08 ต่อประชากรแสนคน หรือเฉลี่ยเดือนละ 328 คน ประมาณวันละ 10-12 คน หรือทุก ๆ 2 ชั่วโมงมีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง คิดเป็นอัตรา 9.70 และ 2.58 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ ภาคเหนือมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าภาคอื่น ๆ (9.99 ต่อประชากรแสนคน) โดยจังหวัดลำพูนมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดของประเทศ (14.81 ต่อประชากรแสนคน) รองลงมาคือพะเยา (13.15 ต่อประชากรแสนคน) จันทบุรี (12.97 ต่อประชากรแสนคน) เชียงใหม่ (12.24 ต่อประชากรแสนคน) แม่ฮ่องสอน (12.17 ต่อประชากรแสนคน) ลำปาง (11.79 ต่อประชากรแสนคน) แพร่ (11.62 ต่อประชากรแสนคน) ตาก (10.90 ต่อประชากรแสนคน) เชียงราย (10.79 ต่อประชากรแสนคน) และน่าน (10.67 ต่อประชากรแสนคน) ขณะที่ปัตตานีมีการฆ่าตัวตายต่ำสุด (1.18 ต่อประชากรแสนคน) ส่วนในกลุ่มจังหวัดเครือข่ายร้อยแก่นสารสินธุ์ ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ พบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอัตราการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2554 อยู่ที่ 3.9 ต่อประชากรแสนคน เพิ่มสูงขึ้นเป็น 4.71 ต่อประชากรแสนคนในปี พ.ศ. 2556

สาเหตุของการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาการสื่อสาร ความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ และการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โดยช่วงอายุที่พบการฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ กลุ่มอายุระหว่าง 40-44 ปี ร้อยละ 12.56 รองลงมาคือ อายุ 30-34 ปี ร้อยละ 12.36 และอายุต่ำสุดที่พบมีการฆ่าตัวตายคือ เด็กอายุ 10 ขวบ ขณะที่อายุสูงสุดคือ 105 ปี โดยวิธีการแขวนคอเป็นวิธีการฆ่าตัวตายที่ถูกเลือกใช้มากที่สุดถึงร้อยละ 66.92 รองลงมาคือ สารปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง และการใช้อาวุธปืน

พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า หากพิจารณาภาพรวมของอัตราการฆ่าตัวตายในกรุงเทพฯ ตัวเลขถือว่ายังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ อยู่ที่ประมาณ 6 เศษ ๆ ต่อประชากรแสนคน แต่หากพิจารณาในระดับภูมิภาค มีจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง และอัตราการฆ่าตัวตายต่ำ ในจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง เช่น ลำพูนที่มีตัวเลขค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 14.81 ต่อประชากรแสนคน ก็ยังมีหลายประเด็นที่ยังต้องติดตาม รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ที่เริ่มมีตัวเลขของอัตราการฆ่าตัวตายไต่ระดับขึ้นมา เช่น จังหวัดในแถบภาคอีสาน จังหวัดที่เป็นเขตอุตสาหกรรมใหม่ เป็นต้น ซึ่งในการแก้ปัญหาจะเป็นการแก้ปัญหาในเชิงรุก โดยส่งอาสาสมัครลงพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้คนไทยพบจิตแพทย์ และจัดนักจิตวิทยาคอยให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการคำปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิตหมายเลข 1323 ที่ในแต่ละปีมีผู้คนใช้บริการเกือบ 600,000 ราย

ทั้งนี้ปัจจัยหรือตัวกระตุ้นที่นำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสะสมเรื้อรังต่อเนื่อง รวมถึงมีปัจจัยความเจ็บป่วยด้านร่างกาย โดยอยู่ที่ร้อยละ 47 กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่มีเหตุปัจจัยบางอย่างเข้ามาเป็นตัวกระตุ้น เช่น ความขัดแย้ง ความทุกข์ ความไม่สบายใจ เข้ามาในระยะสั้น ๆ และตัดสินใจในลักษณะการฆ่าตัวตายแบบทันทีทันใด โดยอยู่ที่ร้อยละ 50

“กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงชัดเจน ถ้ามีกระบวนการเข้าไปช่วยดูแลจะสามารถลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายลงได้ ส่วนกลุ่มที่ 2 ก็ยังสามารถป้องกันได้หากมีช่องทางหรือทางออกให้เลือกแทนการตัดสินใจแบบทันทีทันใดสักเสี้ยววินาทีหนึ่งให้เขาหยุดไม่ว่าจะด้วยกลไกอะไรก็ตาม แต่ใน 2 กลุ่มนี้ไม่นับรวมกับกลุ่มโรคทางสุขภาพจิตที่มีอัตราเสี่ยงสูงขึ้น โดยพบว่ากลุ่มที่มีปัญหาการใช้แอลกอฮอล์ร่วมด้วยจะมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นมาก ถือเป็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ของประเทศไทยซึ่งจะนำไปสู่อีกหลายปัญหาตามมา ทั้งความรุนแรงต่อสังคม และความรุนแรงต่อตนเอง ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในวงวิชาการจะต้องแลกเปลี่ยนกัน เพื่อทำงานเชิงลึกในการดูแลเคสที่มีปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน” พญ.พรรณพิมล กล่าว

ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร ปฏิคมสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมจิตแพทย์ฯ เป็นองค์กรวิชาชีพที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มจิตแพทย์ เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือจัดการกับปัญหาการฆ่าตัวตายของประเทศไทย โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีจิตแพทย์ทั้งจิตแพทย์ผู้ใหญ่และจิตแพทย์เด็กอยู่ประมาณ 1,000 คน ซึ่งถือว่ายังมีจำนวนน้อยในการรับมือกับปัญหาทางด้านสุขภาพจิต และเรื่องใหญ่อย่างปัญหาการฆ่าตัวตาย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ในอนาคตจะต้องมีการผลิตจิตแพทย์เพิ่มขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้

สำหรับการดำเนินงานของสมาคมจิตแพทย์ฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องทางวิชาการ โดยส่งเสริมให้จิตแพทย์มีความรู้เพื่อจะได้นำความรู้นั้นไปดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหรือมีปัญหาจิตเวชด้านอื่น ๆ จึงได้จัดประชุมวิชาการเป็นประจำทุกปี เพื่ออัพเดทความรู้แก่สมาชิก แพทย์สาขาต่าง ๆ ที่สนใจ พยาบาล และนักวิชาชีพผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้แล้วยังมีสมาคมย่อยซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมจิตแพทย์ฯ และมีบทบาทต่อการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นอย่างมาก คือชมรมความผิดปกติทางอารมณ์แห่งประเทศไทย (Thai Society for Affective Disorders) หรือ TSAD โดยจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ที่มีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตายสูงมาก รวมทั้งชมรมจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและประสาทจิตเวชศาสตร์ไทย โดยผู้สูงอายุเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการการดูแลที่ดี เพราะมักจะมีปัญหาสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากความเหงา จึงเป็นอีกกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม การให้ความรู้นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเชื่อมโยงไปสู่ประชาชนด้วย ที่ผ่านมาจึงมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนให้มากขึ้นในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ และล่าสุดทางสมาคมจิตแพทย์ฯ ได้เปิดเฟสบุ๊คเพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถติดต่อกับจิตแพทย์ และสามารถส่งคำถามเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือปัญหาที่กำลังเผชิญเข้าไปเพื่อขอคำปรึกษาแนะนำถึงวิธีในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ อย่างถูกต้อง

“ในฐานะจิตแพทย์ มองว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการฆ่าตัวตายได้อย่างแท้จริงคือ ความหวัง เพราะผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายคือผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะสิ้นหวัง เมื่ออับจนหนทางจึงเลือกที่จะจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย แต่ถ้าหากได้รับคำแนะนำที่ดี ได้รับรู้ว่าปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่มีทางออก รู้สึกว่าชีวิตยังมีความหวัง ยังสามารถทำอะไรต่าง ๆ ได้อีกมากมาย และมีคนที่คอยช่วยเหลือและให้กำลังใจ ก็อาจจะทำให้อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 1 วัน, 2 วัน, 3 วัน, 1 อาทิตย์, 1 เดือน หรือ 1 ปี และผ่านพ้นปัญหาที่ทำให้คิดฆ่าตัวตายไปได้ในที่สุด” ผศ.นพ.ณัทธร กล่าว

ด้าน คุณตระการ เชนศรี ผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมสะมาริตันส์ฯ ก่อตั้งมาร่วม 36 ปี มีพันธกิจหลักคือ ป้องกันการฆ่าตัวตาย ด้วยเชื่อว่าการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้ ผู้ที่คิดฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มักทำไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบหรือทำไปด้วยเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งถ้าหาก ณ เวลานั้นมีผู้ที่สามารถให้คำแนะนำที่ดีจะสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายได้

“มนุษย์ทุกคนมีปัญหาแต่ทำไมเมื่อมีปัญหาแล้วบางคนถึงไม่ฆ่าตัวตาย ขณะที่บางคนมีปัญหาแล้วฆ่าตัวตาย จากประสบการณ์การทำงานร่วม 36 ปีในประเทศไทย ผู้ที่มีความคิดอยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ เป็นเพราะรู้สึกโดดเดี่ยว ถูกทิ้งให้เผชิญกับปัญหาเพียงลำพัง เพราะฉะนั้นหน้าที่หลักของสมาคมสะมาริตันส์ฯ ในฐานะที่เป็นองค์กรป้องกันการฆ่าตัวตาย คือมาเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ คอยอยู่เคียงข้าง คอยเป็นเพื่อน และรับฟัง การรับฟังในที่นี้คือ รับฟังโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร จะทำอะไรผิดมามากน้อยแค่ไหนก็ตาม เราจะไม่ตัดสินเขา ไม่สั่งสอนเขา หรือไม่ประเมินเขา แต่เขาจะเป็นเพื่อนเรา เราจะเป็นเพื่อนกัน เพื่อช่วยกันคิดและคอยให้กำลังใจ” คุณตระการ กล่าว

คุณตระการ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสมาคมสะมาริตันส์ฯ มีอาสาสมัครทำหน้าที่เป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้มีความทุกข์ ความไม่สบายใจต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละปีที่ผ่านมามีผู้คนใช้บริการประมาณ 7,000 ราย และนอกจากจะทำงานในเชิงรับแล้ว ในปีนี้สมาคมสะมาริตันส์ฯ ยังมุ่งทำงานเชิงรุกด้วยการลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ต้องหาในทัณฑสถาน ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ผู้พิการ ผู้สูงวัย เป็นต้น

แม้การทำงานของสมาคมสะมาริตันส์ฯ จะสามารถช่วยชีวิตผู้ที่มีปัญหาคิดฆ่าตัวตายได้จำนวนหนึ่ง แต่ปัญหาที่พบคือ ผู้ที่มาทำหน้าที่นี้ทั้งหมดเป็นอาสาสมัครและไม่ได้รับผลตอบแทน ทำให้อาสาสมัครมีจำนวนไม่เพียงพอและไม่คงที่ แต่ก็ยังมีอาสาสมัครส่วนหนึ่งที่ทำงานกับสมาคมสะมาริตันส์ฯ มายาวนานถึง 20-30 ปี ด้วยใจรัก ซึ่งการที่อาสาสมัครมีจำนวนน้อย ทำให้บางครั้งผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาไม่สามารถติดต่อได้เพราะอาสาสมัครให้บริการสายอื่นอยู่ บางสายใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ดังนั้น ในปีนี้จึงได้ขยายการบริการโดยจัดโครงการ Call back service เพื่อให้บริการในกรณีที่โทรศัพท์เข้ามาแล้วไม่มีผู้รับสาย สายนั้นจะถูกโอนไปยังเครื่องฝากข้อความและเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับ เพื่อให้อาสาสมัครติดต่อกลับในภายหลัง ส่วนผู้ที่มีความทุกข์บางกลุ่มที่ไม่สะดวกใจกับการสนทนากันด้วยเสียงก็สามารถแชทผ่านเฟสบุ๊ค โดยขณะนี้ได้เตรียมอาสาสมัครสำหรับให้บริการทางด้านนี้ เพราะช่องทางนี้จะเป็นช่องทางสำคัญในอนาคต พร้อมกันนี้ได้เปิดรับอาสาสมัครอีกจำนวนมาก ซึ่งอาสาสมัครจะต้องผ่านการฝึกอบรมจากครูฝึกและพี่เลี้ยงก่อนปฏิบัติงานจริง

นอกจากนี้แล้ว ในประเทศไทยยังมีแรงงานต่างด้าวอีกนับล้านคน นักท่องเที่ยวอีก 20 ล้านคน และชาวต่างประเทศที่มาพำนักและตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทยอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะถูกมองข้ามไป ทางสมาคมสะมาริตันส์ฯ จึงเปิดบริการพูดคุยสายภาษาอังกฤษขึ้น แม้จะมีผู้ใช้บริการจำนวนไม่มากเนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่จากที่มีผู้โทรศัพท์เข้ามา แต่ละสายค่อนข้างวิกฤติ เช่น ชาวต่างชาติที่มาพำนักอยู่ในประเทศไทย แต่งงานกับคนไทย ถูกคนไทยหลอกจนหมดเนื้อหมดตัว ไม่สามารถกลับประเทศได้ เพราะญาติพี่น้องไม่ยอมรับเขาแล้ว ทำให้มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูง จึงได้มีการประสานงานไปยังสถานทูตอังกฤษเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลในการให้บริการในส่วนนี้ และอนาคตจะประสานกับสถานทูตประเทศอื่น ๆ ต่อไป

แม้ว่าปัญหาการฆ่าตัวตายจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน และเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากทั้งต่อผู้ที่เสียชีวิตและผู้ใกล้ชิดที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้ หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันจัดการกับปัญหา ร่วมหาทางออกเพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายของประเทศไทยให้มีจำนวนลดลงได้ในที่สุด


 

burdur escort bostancı escort sultanbeyli escort niğde escort üsküdar escort