ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษวิกฤติ (Thyroid Crisis)

ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษวิกฤติ (Thyroid Crisis)

ผศ.พญ.รพีพร โรจน์แสงเรือง แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน

ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษวิกฤติเป็นภาวะอันตรายถึงแก่ชีวิตที่เกิดจากร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไปจนทำให้อวัยวะทำงานล้มเหลว หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (thyrotoxicosis) ที่มีอาการรุนแรงมากจนอวัยวะทำงานล้มเหลว

ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยแต่ถ้าไม่รักษาก็ทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

สาเหตุกระตุ้น

Thyroid crisis ถูกกระตุ้นให้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

1. การติดเชื้อที่รุนแรง

2. diabetic ketoacidosis

3. ต่อมไทรอยด์ได้รับการผ่าตัดหรือถูกกระทบกระเทือน

4. ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ

5. pulmonary thromboembolism

6. หยุดรับประทานยาต้านไทรอยด์ฮอร์โมน (antithyroid drug)

7. การรับสารไอโอดีนโดยการรับประทาน ฉีดเข้าเส้นเลือด หรือ radiotherapy

8. รับประทานยา salicylates จะทำให้เกิด free thyroid hormones มากจนเกิดภาวะ thyroid crisis ขึ้นได้

 

อาการ

มีระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกายเสียไป (ไข้สูง ผิวหนังอุ่นชื้น เหงื่อออก), ระบบประสาทเปลี่ยนแปลง (อารมณ์ปรวนแปร ชัก หมดสติ โรคจิต รีเฟลกซ์ไว lid lag), ระบบหัวใจผิดปกติ (atrial fibrillation หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง congestive heart failure), ระบบหายใจ (หายใจเร็ว หอบเหนื่อย), ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ (ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน)

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

Thyroid stimulating hormone (TSH) < 0.01 micro international units [mcIU]/L ร่วมกับมีระดับ free T4 และ T3 สูงขึ้น รวมทั้งมีอาการแสดงของอวัยวะทำงานล้มเหลว

นอกจากนี้ยังมีผลตรวจผิดปกติอื่น ๆ เช่น

1. hypercalcemia เกิดจากการที่ osteoclast สลายกระดูก

2. ระดับ alkaline phosphatase สูงขึ้นเนื่องจากมีการซ่อมแซมกระดูก

3. hyperglycemia เกิดจากการสลายไกลโคเจนและเพิ่ม catecholamines ในเลือด

นอกจากนี้ยังอาจพบ adrenal insufficiency (โดยเฉพาะใน Graves disease) ร่วมด้วย

การวินิจฉัยทำได้โดยใช้อาการแสดงและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เข้าได้กับ hyperthyroidismร่วมกัน

การรักษา

1. รักษาประคับประคอง

2. รักษาเหตุกระตุ้นให้เกิด

3. รักษาอาการของ hyperthyroidism

- Propylthiouracil (PTU) ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงจาก T4 ไปเป็น T3 ของเนื้อเยื่อปลายทาง (peripheral conversion of T4 to T3) โดยให้ยาขนาด 600-1,000 มิลลิกรัม รับประทานทันทีจากนั้นค่อยให้ 1,200 มิลลิกรัม/วัน (แบ่งให้ทุก 4-6 ชั่วโมง) อย่างไรก็ดี อาจเลือกใช้ methimazole แทนได้ (แต่ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยนแปลงจาก T4 ไปเป็น T3 ของเนื้อเยื่อปลายทาง) ในกรณีจำเป็นแล้วยาทั้ง 2 ตัวนี้สามารถให้แก่ผู้ป่วยทางก้นได้

- การรักษาภาวะหัวใจเต้นเร็วหรือความดันโลหิตสูงทำได้โดยให้ β-blockers ได้แก่ propranolol 1 มิลลิกรัม ฉีดเข้าทางเส้นเลือดจากนั้นให้ซ้ำได้ทุก 10-15 นาทีจนคุมอาการได้

- ควรให้ไอโอดีนเพื่อช่วยลดการหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งควรให้ภายหลังเริ่มยา PTU ไปแล้ว 1 ชั่วโมง

- hydrocortisone 100 มิลลิกรัม ฉีดเข้าเลือดทุก 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะ adrenal insufficiency

ในกรณีรักษาไม่ได้ผลก็อาจใช้ plasmapheresis, plasma exchange หรือ hemodialysis ก็ได้เพื่อช่วยขับฮอร์โมนไทรอยด์ออกจากร่างกาย

การรักษาที่เหมาะสมจะพบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง และสามารถหายเป็นปกติได้ภายใน 1 สัปดาห์

 

เอกสารอ้างอิง

1. Endocrine Emergencies. Medscape Emergency Medicine. 2007 July 12. Available from: http://www.medscape.org/viewarticle/567307.

2. ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล พ.บ. ภาวะฉุกเฉินระบบต่อมไร้ท่อ. ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. พิมพ์ครั้งที่ 1. หจก.โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา; 2548 ธันวาคม: 1-190.

3. นายแพทย์ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์. ENDOCRINE EMERGENCY. งานโรคต่อมไร้ท่อและเบาหวาน กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลราชวิถี 2555. 1-7.