ผ่าตัดลดความอ้วนและการอยู่รอดระยะยาว

ผ่าตัดลดความอ้วนและการอยู่รอดระยะยาว

JAMA. 2015;313(1):62-70.

บทความเรื่อง Association between Bariatric Surgery and Long-term Survival รายงานว่า หลักฐานจากการศึกษาที่ผ่านมาชี้ให้เห็นประโยชน์ของการผ่าตัดลดความอ้วนต่อการเพิ่มการอยู่รอดในผู้ป่วยโรคอ้วนรุนแรง อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาในผู้สูงอายุยังไม่พบหลักฐานที่ชี้ว่ามีประโยชน์ นักวิจัยจึงได้ศึกษาการอยู่รอดระยะยาวในผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่ผ่าตัดลดความอ้วนเทียบกับกลุ่มควบคุม

การศึกษามีรูปแบบเป็น retrospective cohort study ในผู้ป่วย 2,500 คน (ผู้ชาย 74%) ซึ่งผ่าตัดลดความอ้วนระหว่างปี ค.ศ. 2000-2011 และกลุ่มควบคุม 7,462 คน โดยจำแนกตามอายุ เพศ ภาคภูมิศาสตร์ ดัชนีมวลกาย โรคเบาหวาน และ Diagnostic Cost Group การอยู่รอดได้เปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยผ่าตัดลดกระเพาะเทียบกับกลุ่มควบคุมด้วย Kaplan-Meier estimators และ Cox regression analyses แบ่งชั้นภูมิที่ปรับแล้ว การผ่าตัดลดความอ้วนประกอบด้วย gastric bypass (74%), sleeve gastrectomy (15%), adjustable gastric banding (10%) และการผ่าตัดอื่น (1%) มาตรวัดผลลัพธ์หลัก ได้แก่ อัตราตายทุกสาเหตุจนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2013

ผู้ป่วยผ่าตัดลดความอ้วน (n = 2,500) มีอายุเฉลี่ย 52 ปี และดัชนีมวลกายเฉลี่ยเท่ากับ 47 กลุ่มควบคุม (n = 7,462) มีอายุเฉลี่ย 523 ปี และดัชนีมวลกายเฉลี่ยเท่ากับ 46 เมื่อสิ้นสุดระยะการศึกษาที่ 14 ปี พบผู้ป่วยเสียชีวิต 263 รายในกลุ่มผ่าตัดลดความอ้วน (ติดตามเฉลี่ย 6.9 ปี) และ 1,277 รายในกลุ่มควบคุม (ติดตามเฉลี่ย 6.6 ปี) อัตราตาย Kaplan-Meier estimated mortality rates เท่ากับ 2.4% ที่ 1 ปี, 6.4% ที่ 5 ปี และ 13.8% ที่ 10 ปีสำหรับกลุ่มผ่าตัดลดความอ้วน และสำหรับกลุ่มควบคุมเท่ากับ 1.7% ที่ 1 ปี, 10.4% ที่ 5 ปี และ 23.9% ที่ 10 ปี การวิเคราะห์ที่ปรับแล้วไม่พบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญระหว่างการผ่าตัดลดความอ้วนและอัตราตายทุกสาเหตุในปีแรกของการติดตาม (adjusted hazard ratio [HR] 1.28 [95% CI 0.98-1.68]) แต่พบอัตราตายที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญหลัง 1-5 ปี (HR 0.45 [95% CI 0.36-0.56]) และ 5-14 ปี (HR 0.47 [95% CI 0.39-0.58]) ความสัมพันธ์ระยะกลาง (> 1-5 ปี) และระยะยาว (> 5 ปี) ระหว่างการผ่าตัดและการอยู่รอดไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มย่อยซึ่งจำแนกตามโรคเบาหวาน เพศ และระยะเวลาการผ่าตัด

ข้อมูลจากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างนี้ชี้ว่า ผู้ป่วยที่ผ่าตัดลดความอ้วนเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมแล้วมีอัตราตายจากทุกสาเหตุต่ำกว่าที่ 5 ปี และถึง 10 ปีหลังการผ่าตัด ผลลัพธ์นี้เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างการผ่าตัดและการอยู่รอด ซึ่งก่อนหน้านี้พบในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่าและส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง