ระดับน้ำตาลและความเสี่ยงมะเร็งตับอ่อน

ระดับน้ำตาลและความเสี่ยงมะเร็งตับอ่อน

BMJ 2015;349:g7371.

บทความเรื่อง Blood Glucose Concentration and Risk of Pancreatic Cancer: Systematic Review and Dose-Response Meta-Analysis รายงานผลจากการวิเคราะห์ meta-analysis เพื่อประเมินความสัมพันธ์ตามขนาดทั้งแบบเชิงเส้นและไม่เป็นเชิงเส้นระหว่างระดับน้ำตาลในเลือดและความเสี่ยงมะเร็งตับอ่อน

ข้อมูลจากการศึกษาแบบ prospective studies ที่นำมาวิเคราะห์ได้จากฐานข้อมูล PubMed, Scopus และการศึกษาทบทวนที่เกี่ยวข้องก่อนวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013 โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา และได้คัดการศึกษาแบบ retrospective และ cross sectional studies ออกเพื่อหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์แบบกลับ คุณภาพการศึกษาที่นำมาวิเคราะห์ประเมินด้วย Newcastle-Ottawa scale และวิเคราะห์ random effects dose-response meta-analysis เพื่อประเมินความสัมพันธ์ตามขนาดทั้งแบบเชิงเส้นและไม่เป็นเชิงเส้น

การศึกษาที่รวบรวมไว้ในการวิเคราะห์มีจำนวน 9 โครงการ รวมผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน 2,408 คน โดยพบความสัมพันธ์ตามขนาดแบบเชิงเส้นที่ชัดเจนระหว่างระดับน้ำตาลขณะอดอาหารและอัตราของโรคมะเร็งตับอ่อนในผู้ป่วยที่เป็นภาวะก่อนโรคเบาหวานและโรคเบาหวาน แต่ไม่พบความสัมพันธ์แบบไม่เป็นเชิงเส้น อัตรา rate ratio รวมของมะเร็งตับอ่อนต่อการเพิ่มขึ้น 0.56 mmol/L (10 mg/dL) ของระดับน้ำตาลขณะอดอาหารเท่ากับ 1.14 (95% confidence interval 1.06-1.22; p < 0.001) โดยไม่พบ heterogeneity ที่มีนัยสำคัญ ซึ่งผลลัพธ์สอดคล้องกับการวิเคราะห์ความไวโดยตัดระดับน้ำตาลในเลือดในระดับของโรคเบาหวาน (pooled rate ratio ต่อการเพิ่มขึ้น 0.56 mmol/L ของระดับน้ำตาลขณะอดอาหารเท่ากับ 1.15, 95% confidence interval 1.05-1.27; p = 0.003) และสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างภาวะก่อนเบาหวานและโรคมะเร็งตับอ่อน

การเพิ่มขึ้นทุก 0.56 mmol/L ของระดับน้ำตาลขณะอดอาหารสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้น 14% ด้านอัตราของโรคมะเร็งตับอ่อน และจากการที่ภาวะก่อนเบาหวานสามารถฟื้นฟูหรือรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตนั้นก็สะท้อนว่า การตรวจภาวะก่อนเบาหวานโดยเร็วร่วมกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอาจเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรับมือกับอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งตับอ่อนที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น