บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานในผู้ป่วยอุ้งเชิงกรานหย่อนไม่รุนแรง
BMJ 2014;349:g7378.
บทความเรื่อง Effect of Pelvic Floor Muscle Training Compared with Watchful Waiting in Older Women with Symptomatic Mild Pelvic Organ Prolapse: Randomised Controlled Trial in Primary Care รายงานข้อมูลจากการศึกษาเปรียบเทียบการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและการติดตามอาการอย่างระมัดระวังต่ออาการของอุ้งเชิงกรานในผู้หญิงอายุ 55 ปีหรือมากกว่าซึ่งมีภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนที่ไม่รุนแรง
นักวิจัยรวบรวมกลุ่มตัวอย่างในเนเธอร์แลนด์ด้วยการตรวจคัดกรองและคัดออกกรณีที่อยู่ระหว่างรักษาภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนหรือได้รับการรักษาเมื่อปีก่อน พบมะเร็งของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานอยู่ระหว่างการรักษาความผิดปกติด้านนรีเวช มีโรคร้ายแรง มีภาวะบกพร่องด้านการเคลื่อนไหว และมีอุปสรรคในการสื่อสารด้วยภาษาดัตช์
ผลลัพธ์หลักประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงของกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ อาการของอุ้งเชิงกรานประเมินจาก Pelvic Floor Distress Inventory-20 (PFDI-20) ที่ 3 เดือนหลังเริ่มต้นการรักษา และผลลัพธ์รอง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของคุณภาพชีวิตโดยรวมและจำเพาะโรค การทำหน้าที่ทางเพศ ระดับของกล้ามเนื้อหย่อน การทำงานของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และความเปลี่ยนแปลงของอาการที่ผู้ป่วยรับรู้
มีผู้หญิง 250 คน (87%) ที่สามารถติดตามจนเสร็จสิ้นจากผู้หญิง 287 คนซึ่งสุ่มเป็นกลุ่มบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (n = 145) หรือติดตามอาการอย่างระมัดระวัง (n = 142) ผู้ป่วยในกลุ่มรักษามีคะแนน PFDI-20 มากกว่า (เฉลี่ย) 9.1 คะแนน (95% confidence interval 2.8-15.4) เทียบกับผู้ป่วยในกลุ่มติดตามอาการ (p = 0.005) จากกลุ่มบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานพบว่า 57% (82/145) รายงานว่ามีอาการโดยรวมดีขึ้นกว่าตอนเริ่มการศึกษาเมื่อเทียบกับ 13% (18/142) ในกลุ่มติดตามอาการ (p < 0.001) ขณะที่ผลลัพธ์รองด้านอื่นไม่มีความต่างที่มีนัยสำคัญ
แม้ว่าการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานจะช่วยให้คะแนน PFDI-20 ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ความต่างระหว่างกลุ่มก็ยังคงต่ำกว่าระดับที่มีนัยสำคัญทางคลินิก (15 คะแนน) อย่างไรก็ดี ผู้ป่วย 57% ในกลุ่มรักษารายงานว่ามีอาการโดยรวมดีขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อระบุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและติดตามผลลัพธ์ในระยะยาว