Glibenclamide, Metformin และ Insulin สำหรับรักษาเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
BMJ 2015;350:h102.
บทความเรื่อง Glibenclamide, Metformin, and Insulin for the Treatment of Gestational Diabetes: A Systematic Review and Meta-Analysis รายงานผลการศึกษาแบบ systematic review และ meta-analysis เพื่อสรุปผลลัพธ์ระยะสั้นของการศึกษาเปรียบเทียบ ซึ่งศึกษาผลของ glibenclamide หรือ metformin เทียบกับ insulin หรือ glibenclamide เทียบกับ metformin ในผู้หญิงที่มีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์และจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา
การศึกษาที่นำมาวิเคราะห์เป็นการศึกษาเปรียบเทียบซึ่งตีพิมพ์ฉบับเต็ม ศึกษาในผู้หญิงซึ่งมีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์และจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา เปรียบเทียบ glibenclamide vs insulin, metformin vs insulin หรือ metformin vs glibenclamide และมีข้อมูลผลลัพธ์ต่อแม่หรือทารก โดยรวบรวมจากฐานข้อมูล Medline, CENTRAL และ Embase ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 และประเมินผลลัพธ์หลัก 14 ข้อ และผลลัพธ์รอง 16 ข้อ
นักวิจัยได้วิเคราะห์บทความวิจัย 15 ฉบับ รวมกลุ่มตัวอย่าง 2,509 คน ความต่างที่มีนัยสำคัญสำหรับผลลัพธ์หลักใน glibenclamide vs insulin เห็นได้จากน้ำหนักแรกเกิด (mean difference 109 กรัม [95% confidence interval 35.9-181]), ทารกตัวโต (risk ratio 2.62 [1.35-5.08]) และภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำแรกเกิด (risk ratio 2.04 [1.30-3.20]) ใน metformin vs insulin เห็นความต่างที่มีนัยสำคัญด้านน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของแม่ (mean difference -1.14 kg [-2.22 to -0.06]), อายุครรภ์ขณะคลอด (mean difference -0.16 weeks [-0.30 to -0.02]) และการคลอดก่อนกำหนด (risk ratio 1.50 [1.04-2.16]) โดยมีแนวโน้มสำหรับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำแรกเกิด (risk ratio 0.78 [0.60-1.01]) และใน metformin vs glibenclamide เห็นความต่างที่มีนัยสำคัญสำหรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นของแม่ (mean difference -2.06 kg [-3.98 to -0.14]), น้ำหนักแรกเกิด (mean difference -209 g [-314 to -104]), ทารกตัวโต (risk ratio 0.33 [0.13-0.81]) และทารกน้ำหนักมาก (risk ratio 0.44 [0.21-0.92]) ผลลัพธ์รอง 4 ข้อมีผลลัพธ์ที่ดีกว่าสำหรับ metformin ในการเปรียบเทียบระหว่าง metformin และ insulin และมีผลลัพธ์รองหนึ่งข้อที่ metformin ได้ผลลัพธ์ต่ำกว่าในการเปรียบเทียบระหว่าง metformin และ glibenclamide อัตราการล้มเหลวพบสูงกว่าจากการรักษาด้วย metformin เทียบกับ glibenclamide
ที่ระยะสั้นพบว่า ในผู้หญิงที่มีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยานั้น glibenclamide มีผลลัพธ์ที่ด้อยกว่า insulin และ metformin อย่างชัดเจน ขณะที่ metformin (ร่วมกับ insulin เมื่อจำเป็น) ได้ผลดีกว่า insulin เล็กน้อย ซึ่งจากผลลัพธ์นี้เห็นว่าไม่ควรใช้ glibenclamide ในการรักษาผู้หญิงที่มีภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์หากสามารถใช้ insulin หรือ metformin