ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เดินหน้าพัฒนาคุณภาพ เจาะลึกมาตรฐานการรักษาเฉพาะโรค ด้วยการรับรองมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยเปลี่ยนข้อเข่าเทียม “CCPC TKR” เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยตามมาตรฐานระดับสากล JCI
ก้าวสู่ปีที่ 4 “โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” เดินหน้าพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย ล่าสุดได้รับการรับรองมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยเปลี่ยนข้อเข่าเทียม “CCPC TKR” เพิ่มขีดความมั่นใจให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม เพื่อการดูแลรักษาที่ครอบคลุมครบวงจรตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการติดตามผลการรักษาหลังผ่าตัด ตามมาตรฐานสากล JCI ตอกย้ำเจตนารมณ์ของการเป็นผู้ให้บริการที่มีคุณภาพ เป็นเลิศทั้งในด้านการแพทย์และให้บริการด้วยใจ ซึ่งนับเป็นโรงพยาบาลรัฐแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวนี้
อ.นพ.สมเกียรติ วสุวัฏฏกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารคุณภาพ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ให้สัมภาษณ์ว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ในปี พ.ศ. 2558 นี้คือ เน้นการการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพขององค์กรเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยความร่วมมือจากบุคลากรทุกคนและทุกหน่วยงานในการดำเนินงานและขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาคุณภาพ เพื่อมอบการบริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุดและผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากลของ JCI (Joint Commission International) ซึ่งโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล JCI เมื่อปลายปี พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเครื่องมือทางคุณภาพในการชี้วัดและรับรององค์กรเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย รวมทั้งบุคลากรที่ให้บริการแก่ผู้ป่วย ตามหลักเกณฑ์การวัดผลในหลายหมวด ได้แก่ เป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วยสากล (IPSG), การพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย (QPS), การจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย (FMS), การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (PCI), การเข้าถึงและความต่อเนื่องของการดูแลผู้ป่วย (ACC), สิทธิผู้ป่วยและครอบครัว (PFR), การประเมินผู้ป่วย (AOP), การดูแลผู้ป่วย (COP), การดูแลด้านวิสัญญีและด้านศัลยกรรม (ASC), การให้การศึกษาแก่ผู้ป่วยและครอบครัว (PFE), การจัดการด้านยาและการใช้ยา (MMU), การจัดการสารสนเทศและการสื่อสาร (MCI) รวมทั้งประเด็นด้านคุณวุฒิและการฝึกฝนของบุคลากร (SQE) และการกำกับดูแลกิจการ การนำ และทิศทางองค์กร
“ผู้ป่วยที่เข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ จะได้รับการดูแลตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามารับบริการจนกระทั่งกลับออกจากโรงพยาบาล จนถึงมีการติตามผลการรักษา โดยที่ทุกกระบวนการจะได้รับการตรวจสอบและปรับปรุงคุณภาพตามข้อกำหนดในการรักษามาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น ตัวผู้ป่วยและครอบครัวจึงมั่นใจได้ว่าเป็นโรงพยาบาลที่มีการพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยอย่างเข้มข้น โดยคนไทยสามารถเข้าถึงมาตรฐานการรักษาพยาบาลตามแบบฉบับของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่สั่งสมประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมาอย่างยาวนาน ผนวกกับอีกหนึ่งมาตรฐานการให้บริการระดับสากล JCI ทำให้มีทางเลือกในการรักษาพยาบาลที่ดีอีกทางหนึ่ง”
ทั้งนี้ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้ารักษามาตรฐานการบริการทางการแพทย์ และพัฒนาคุณภาพให้ลงลึกมากยิ่งขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการขอการรับรองคุณภาพมาตรฐาน CCPC เฉพาะโรค โดยเริ่มต้นที่ศูนย์ออร์โธปิดิกส์ ซึ่งได้ผ่านการรับรองไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เนื่องจากโรคข้อเข่าเสื่อมในคนไข้ของโรงพยาบาลเรามีมากจนติดท็อป 5 เป็นโรคที่ต้องการการรักษาระยะยาว บางรายต้องการการผ่าตัดจึงคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องทำให้มีคุณภาพและปลอดภัย ดังนั้น ทางคุณหมอกีรติ เจริญชลวานิช ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ จึงได้ดำเนินการขอการรับรองมาตรฐาน CCPC ซึ่งเชื่อว่าประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ คือ การดูแลรักษาที่มีมาตรฐานอย่างดีที่สุดตามแนวทางเวชปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมถึงผลลัพธ์ของการรักษาที่ดีและมีความเสี่ยงน้อยที่สุดจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนและหลังการผ่าตัด รวมถึงการฟื้นฟู สภาพภายหลังการผ่าตัด ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น และทำให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นในทีมแพทย์ และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ มากยิ่งขึ้น” อ.นพ.สมเกียรติ กล่าว
ด้าน รศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH) กล่าวถึงการให้บริการการผ่าตัดข้อสะโพกและข้อเข่าเทียมว่า ทางโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้ให้บริการการผ่าตัดข้อสะโพกและข้อเข่าเทียมมาแล้วกว่า 1,000 ราย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าอย่างปลอดภัย มีคุณภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน อ้างอิงแนวทางเวชปฏิบัติที่เป็นสากล ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน บรรเทาอาการเจ็บปวด แก้ไขการทำงานของข้อเข่า ปรับข้อที่ผิดรูปให้คืนสภาพ ผู้ป่วยได้รับความรู้ความเข้าใจครบถ้วนตลอดการรักษา เสริมสร้างให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดียิ่งขึ้น โดยแนวทางการดูแลรักษาในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ การรักษาโดยไม่ใช้ยา เป็นการรักษาตามอาการ เช่น ทำกายภาพบำบัด การควบคุมน้ำหนัก เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยานาน ๆ การรักษาโดยใช้ยา และสุดท้ายคือ การผ่าตัด การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (TKR) (Total Knee Replacement) ใช้เทคนิค Minimally Invasive Surgery (แผลเล็กเจ็บน้อย) ทำให้คนไข้เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็ว โดยทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อภายในน้อยลง อาการปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่า ผู้ป่วยสามารถเดินได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
“โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ จะดูแลรักษาคนไข้ตั้งแต่มารับบริการจนถึงกลับบ้าน และให้การติดตามอย่างต่อเนื่องไปหลังจากกลับบ้านไปแล้ว โดยการนัดหมายตรวจและโทรศัพท์ติดตามอาการ การปฏิบัติตัว การใช้งานข้อเทียม ซึ่งคนไข้จะปลอดภัยสูงสุด และได้รับการดูแลตามมาตรฐานสูงสุด ไม่ว่าจะเข้ารับการรักษากับแพทย์คนใดก็ตาม ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดอย่างไร คนไข้จะต้องได้รับประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด รวมทั้งต้องปลอดภัย”
สำหรับโปรแกรมการรักษาที่จะขอการรับรองมาตรฐานโปรแกรมการดูแลทางคลินิกได้นั้น จะต้องถูกตรวจสอบมาตรฐานรวมทั้งสิ้น 6 มาตรฐานด้วยกัน โดยรวมคือ มุ่งเน้นเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วยสากล มุ่งเน้นให้เกิดโปรแกรมการรักษาที่เป็นมาตรฐานอ้างอิงตามแนวทางเวชปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีการวัดผลการดำเนินงานของโปรแกรมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ดูแลตามความต้องการของผู้ป่วยเป็นรายบุคคล มีสื่อการให้ความรู้ที่เหมาะสม เน้นการดูแลตนเองเมื่อมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหลังการรักษา มีการวัดผลความพึงพอใจของผู้ป่วยและมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นด้วยบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ที่ผ่านการประเมินแล้วว่าสามารถดูแลผู้ป่วยได้ และมีการจัดการด้านเครื่องมือและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย
“นอกจากนี้ภายในปี พ.ศ. 2559 โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ยังเตรียมการ Re-Accredit ตาม JCIA ฉบับ 5th Edition ด้วยแนวทางการพัฒนาคุณภาพให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยการติดตาม KPI และสนับสนุนให้เกิด CQI และเชื่อว่าในอีก 3 ปี จะขอการรับรองมาตรฐานเฉพาะโรคเพิ่มอีก 4 โรคคือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดในสมอง ดังนั้น ตัวผู้ป่วยและครอบครัวจึงมั่นใจ ได้ว่า โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ มีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์และความปลอดภัยอย่างเข้มข้น และวันนี้คนไทยสามารถเข้าถึงมาตรฐานการรักษาพยาบาลตามแบบฉบับของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่สั่งสมประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมาอย่างยาวนาน ผนวกกับอีกหนึ่งมาตรฐานการให้บริการระดับสากล JCI ทำให้มีทางเลือกในการรักษาพยาบาลที่ดีมากอีกทางหนึ่ง” อ.นพ.สมเกียรติ กล่าว