วิจัยตัวอย่างดินพัฒนายาใหม่
บีบีซี – นักวิจัยสหรัฐฯ ขอความร่วมมือภาคสาธารณะร่วมกันส่งตัวอย่างดินเพื่อตรวจสอบสารประกอบที่อาจนำไปสู่การพัฒนายาใหม่
จากข่าวการค้นพบสารต้านปฏิชีวนะจากตัวอย่างดินทำให้คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรอคกีเฟลเลอร์ของสหรัฐอเมริกาสนใจที่จะตรวจสอบตัวอย่างดินจากทั่วทุกมุมโลก โดยที่ผ่านมาได้วิเคราะห์ตัวอย่างดินจากชายหาด ป่า และทะเลทรายแล้วใน 5 ทวีป แต่ยังคงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนจากทั่วทุกมุมโลกช่วยกันส่งตัวอย่างดินเพื่อที่จะวิเคราะห์ได้อย่างทั่วถึง
ในการสำรวจครั้งนี้ นักวิจัยได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับดินในพื้นที่ภูมิศาสตร์เฉพาะ หรือไม่เคยได้รับการสำรวจมาก่อน เช่น ถ้ำ เกาะ และบ่อน้ำพุร้อน เนื่องจากเชื่อว่าอาจเป็นแหล่งของสารประกอบชนิดใหม่ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไม่เคยพบมาก่อน ซึ่งจากการศึกษาตัวอย่างดินที่มีอยู่ราว 185 ตัวอย่างก็พบสารประกอบที่น่าจะนำไปสู่การพัฒนายาที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ดีขึ้น รวมถึงยาสำหรับโรคมะเร็งและวัณโรคดื้อยา
อีกด้านหนึ่งมีข่าวว่าคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยอาเบอร์ดีนกำลังสำรวจตัวอย่างดินจากก้นทะเลเพื่อนำมาพัฒนายาใหม่เช่นเดียวกัน ซึ่งจากการศึกษาก็พบว่ามีแบคทีเรียราว 15 สายพันธ์ุที่น่าศึกษาเพิ่มเติมจากแบคทีเรียก้นทะเลกว่า 1,500 สายพันธ์ุ โดยคณะนักวิจัยเตรียมยกทัพไปเก็บตัวอย่างที่ร่องลึกก้นมหาสมุทรนอกชายฝั่งชิลีที่ระดับความลึก 8,000 เมตร ในเร็ว ๆ นี้